ลูกร้อง อาละวาด ในที่สาธารณะ … คุณเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างหรือไม่? ซึ่งคุณหมอสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม Kids Center โรงพยาบาลเวชธานี ได้กล่าวเกี่ยวกับการ “ร้องอาละวาด” ของเด็ก ไว้ว่า นี่คือส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ ซึ่งจะเป็นอย่างไรไปติดตามกันเลยค่ะ
ลูกร้อง อาละวาด เพราะอะไร
การร้องอาละวาด คือ การตอบโต้ของเด็กโดยทั่วไป เมื่อถูกขัดขวางอิสรภาพในการกระทำสิ่งที่ต้องการ หรือการเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ลักษณะการแสดงอารมณ์โกรธจะเกิดขึ้นในทันทีทันใด โดยไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า
การร้องอาละวาดไม่ได้เป็นเพียงการกระทำเพื่อเรียกร้องความสนใจแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเกิดจากการขาดทักษะในการสื่อสารของเด็ก รวมถึงตัวเด็กเองยังไม่เคยเรียนรู้การแสดงออกซึ่งอารมณ์โกรธในลักษณะอื่น
ซึ่งการร้องโวยวาย อาละวาดนี้ จะเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงอายุ 1 – 3 ปี หรืออาจเรียกเด็กวัยนี้ว่า “วัยต่อต้าน” เพราะเมื่อเด็กวัยนี้รู้สึกคับข้องใจ โกรธ หรือผิดหวัง พวกเขามักแสดงออกโดยการร้องไห้ แผดเสียง หรือกระทืบเท้าไปมา ซึ่งบางครั้งทำให้พ่อแม่รู้สึกโกรธ หรืออับอายได้ อย่างไรก็ตาม การร้องอาละวาดเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็กเพื่อที่จะเรียนรู้การควบคุมตนเอง และในความเป็นจริงเด็กเกือบทุกคนต้องมีภาวะนี้บ้างไม่มากก็น้อย และสามารถพบได้ทั่วไปในเด็ก เพราะถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาทางด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมของเด็ก
ทำไมเด็กต้องร้องอาละวาด?
เด็กวัยนี้เริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเอง อยากรู้อยากเห็นในสิ่งแวดล้อมซึ่งแปลกใหม่บนโลกใบนี้ เด็กมีความต้องการที่จะควบคุมทุกอย่าง ต้องการเป็นอิสระและพยายามที่จะทำอะไรที่เกินความสามารถของตนเอง ต้องการจะตัดสินใจเองและไม่อาจจะควบคุมตัวเองได้ดีพอ ยิ่งถ้าเขาเหนื่อย หิว หงุดหงิดหรือกลัวด้วยแล้ว เขาก็ยังไม่สามารถที่จะจัดการตัวเองได้ ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเองเป็นเรื่องยากสำหรับเขา การร้องอาละวาด จึงเป็นหนทางในการปลดปล่อยอารมณ์ของเด็ก
ปัญหาเด็กร้องอาละวาดมีลักษณะอย่างไร?
อาการอาละวาดของเด็กมักจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 30 วินาทีถึง 2 นาที โดยจะมีความรุนแรงมากที่สุดในช่วง 30 วินาทีแรก ทั้งนี้พฤติกรรมผิดปกติที่มักปรากฏในเด็กที่มีปัญหาร้องอาละวาด ได้แก่
- ร้องไห้ พร้อมกับกรีดร้อง หรือตะโกน
- งอหลัง หรือเกร็งร่างกายในขณะที่อาละวาด
- นอนลงดิ้นกับพื้น
- เคลื่อนไหวแขนอย่างขาดการควบคุม
- ปัสสาวะรดที่นอน
- มีปัญหาการนอนหลับในเวลากลางคืน
- ดูดนิ้ว
- กลั้นหายใจจนหมดสติ (breath-holding spells)
อย่างไรก็ตาม หากการร้องอาละวาดดำเนินไปมากกว่า 15 นาที เกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นอาการบ่งบอกถึงความผิดปกติทางด้านร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์ของเด็ก และย่อมถือว่าไม่ใช่ลักษณะการร้องอาละวาดแบบปกติ ดังนั้นเด็กจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ควบคู่ไปกับความร่วมมือระหว่างผู้ ปกครองและโรงเรียน ซึ่งอาการที่มักพบในการอาละวาดลักษณะนี้ ได้แก่
- เตะ ตี กัด ข่วน ดึงผม หรือหยิกผู้อื่น
- ขว้างหรือทำลายข้าวของ
- โขกศีรษะหรือทำร้ายร่างกายตนเอง
สาเหตุที่อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมเช่นนั้น ได้แก่
- ข้อจำกัดเรื่องภาษา คือ ไม่เข้าใจสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือถามได้ทั้งหมด เด็กจึงสับสน เครียดเมื่อใคร ๆ ก็ไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ตนเองต้องการ ไม่รู้จะบอกความรู้สึกของตนเองอย่างไร (หลังอายุ 3 ปีเด็กส่วนใหญ่สามารถบอกความรู้สึกได้ การร้องอาละวาดจึงค่อยๆลดลง ส่วนเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาช้า การร้องอาละวาดจึงอาจจะยังคงอยู่นานกว่า)
- ข้อจำกัดเรื่องพัฒนาการด้านอื่นๆ คือ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองทำให้หมดกำลังใจได้ง่าย ไม่สามารถทำในสิ่งที่ตนเองจินตนาการได้ เช่น เดิน วิ่ง ปีนป่าย วาดรูปหรือเล่นของเล่นที่ยากกว่าวัย
- ข้อจำกัดเรื่องสังคม เป็นการแสดงปฎิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้าน อิจฉาเพื่อนหรือพี่น้อง หรือต้องการได้ในสิ่งที่เด็กคนอื่นมี หรือเรียกร้องความสนใจ
- ข้อจำกัดเรื่องทางกายภาพ เด็กที่มีอาการเจ็บป่วยอยู่ หิว / เหนื่อยหรือนอนไม่พอ / กังวลหรือไม่สบายตัว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่