10 เคล็ดลับ เตรียมรับมือเมื่อลูกเข้าสู่วัยทอง 2 ขวบ
1.เริ่มจากพ่อแม่ ต้อง ใจเย็น !!
พ่อแม่ต้องเข้าใจในพัฒนาการของลูกในวัย 2-3 ขวบนี้เสียก่อนว่า เด็กวัยนี้ยังสื่อสารบอกความต้องการได้ไม่ดี มีพัฒนาการทางร่างกายที่เร็วขึ้น สามารถทำอะไรเองได้มากขึ้น และมีความต้องการที่จะลองทำด้วยตนเองมากกว่าเดิม แต่ด้วยร่ายกายที่ยังไม่พร้อมเต็มที่ ทำให้พยายามจะทำอะไรเองก็ยังไม่สำเร็จดังใจ จึงหงุดหงิดตัวเอง และหงุดหงิดสิ่งรอบตัวได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่จึงควรรับรู้ว่าเป็นเรื่องปกติตามวัยของเขา เมื่อลูกมีหงุดหงิด แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาจึงต้องใจเย็น และสอนด้วยความเข้าใจ
2.หากิจกรรมที่สมกับวัยให้ลูกทำ
เมื่อลูกเข้าสู่วัยที่ชอบลอง ชอบหยิบนู่นทำนี่ หากเขาไปหยิบจับทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างรื้อข้าวของ จนทำให้สิ่งของแตกหักเสียหาย คงไม่ถูกใจพ่อแม่เป็นแน่ ดังนั้น พ่อแม่จึงควรหากิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยของลูก เป็นกิจกรรมที่เขาสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่กิจกรรมที่ง่ายจนเกินไป จนเขาไม่รู้สึกท้าทายในการเล่น เช่น ระบายสี วาดรูป เต้นรำ ทำขนมร่วมกับแม่ เป็นต้น หาลูกมีกิจกรรมมากมายเต็มวัน เรียกได้ว่า ยุ่งเสียจนไม่มีเวลาอาละวาด ก็จะช่วยให้โอกาสที่เขาจะหงุดหงิดก็น้อยลงด้วย
3.แนะนำ ไม่ใช่คำสั่ง
ลูกวัยนี้อาจจะยังสื่อสารบอกความต้องการได้ไม่ดี และพยายามจะทำอะไรเองก็ยังไม่สำเร็จ พ่อแม่ลองหมั่นพูดคุย สอบถามความต้องการของลูกเสมอว่าลูกอยากจะทำอะไร ให้แม่ช่วยไหม เลือกใช้คำพูดในแนวแนะนำ เป็นที่ปรึกษา เป็นตัวขช่วยเขา ไม่ใช่พูดแบบเป็นคำสั่ง การพูดแนะนำเพื่อให้ลูกได้เลือกเอง จะช่วยกระตุ้นให้ลูกรู้สึกว่าเขาทำได้ ให้เขามีสิทธิเลือก ที่สำคัญต้องพูดคุยอย่างใจเย็น ใจดี และเชื่อว่าลูกทำได้เสมอ ลูกจะได้อารมณ์ดีให้ความร่วมมือง่ายขึ้น เช่น แทนที่จะพูดว่า “อย่าวิ่ง” ก็เปลี่ยนเป็น “เดินช้า ๆ นะลูก เดี๋ยวหกล้ม” หรือแทนที่จะสั่งว่า “เก็บของเล่นเดี๋ยวนี้” ให้เปลี่ยนเป็น “ถึงเวลาที่เจ้ากระต่าย ต้องกลับไปพักผ่อนแล้วครับ มาช่วยแม่เก็บกันเถอะ” การพูดขอความร่วมมือจะทำให้ลูกรู้สึกเป็นคนสำคัญในสายตาพ่อแม่ ต่อต้านน้อยลงได้
4.ไม่ตอบรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
การตามใจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เมื่อลูกเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น กรีดร้อง ลงไปนอนดิ้น ปาข้าวของ ตะโกนรุนแรง เมื่อพ่อแม่ไม่ให้ในสิ่งที่เขาต้องการ หรือขัดใจในเรื่องใด ๆ การที่พ่อแม่ตามใจเพื่อหยุดพฤติกรรมนั้น แม้จะหยุดได้จริง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ลูกจะไม่เรียนรู้ว่าพฤติกรรมนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ และเข้าใจว่าเมื่อทำแล้วจะได้ในสิ่งที่ต้องการ เราไม่จำเป็นต้องตอบรับกับพฤติกรรมเหล่านั้นทุกครั้ง หากเห็นว่าลูกไม่ได้ทำร้ายตนเอง หรือไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง ให้พ่อแม่ หยุด แล้วรอ ลูกก็จะเรียนรู้ได้เองว่าทำแบบนี้ไม่ได้ผลเสมอไป
5.ชมเชยในสิ่งที่ลูกทำดี
การปรับพฤติกรรมไม่ได้มีเพียงแค่การสั่งสอน ตักเตือน ว่ากล่าวเท่านั้น การชมเชยเมื่อเห็นเขาทำพฤติกรรมที่เหมาะสม เมื่อลูกทำดี จะทำให้ลูกเรียนรู้เช่นกันว่า ทำแบบนี้แล้วได้รับคำชม เป็นพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับ และยังให้ลูกมีความภาคภูมิใจ และอารมณ์ดีได้ง่ายขึ้น โดยพ่อแม่ต้องให้คำชื่นชมลูกน้อยทุกครั้งที่ลูกเล่นกับเด็กคนอื่นได้ดี แบ่งของเล่นให้น้องได้ หรือเมื่อลูกช่วยเหลือตัวเองได้ดี เช่น รับประทานอาหารเอง เก็บของเล่นเอง แต่งตัวเอง เป็นต้น
6.ลองปล่อยให้เขาอยู่ตามลำพัง
เป็นการให้เวลาอิสระของลูก ให้ลูกได้เล่นด้วยตัวเอง อยู่กับตัวเอง เหมือนที่ผู้ใหญ่ยังต้องการความเป็นส่วนตัว มอบพื้นที่ส่วนตัวที่เขาจะเล่นบ้า ๆ บอ ๆ กับตัวเองได้ โดยที่พื้นที่นั้นไม่มีของที่เป็นอันตราย และพ่อแม่ยังสามารถเฝ้าดูได้อยู่ห่างๆ เพราะบางครั้งพ่อแม่เองที่เผลอชอบจำกัดขอบเขตการกระทำของลูก อาจทำให้เขารู้สึกอึดอัด หงุดหงิด หากเขาได้ลองทำเอง แม้ว่ามันจะไม่สำเร็จเขาจะได้เรียนรู้อารมณ์ตนเอง ได้ลองผิดลองถูกและรู้ว่าต้องขอความช่วยเหลืออย่างไร ไม่ใช่พ่อแม่รีบตรงเข้าไปช่วยทันทีแบบอดไม่ได้
7.สร้างเหตุการณ์สมมติจาก นิทาน
ลูกวัยนี้ให้ทำอะไรมักจะปฏิเสธว่าไม่ ไม่ชอบ กลัว หรืออื่น ๆ พ่อแม่ต้องไม่บังคับลูก แต่อาจจะต้องหานิทานหรือการ์ตูนช่วยสอนลูกให้เข้าใจสถานการณ์ แก้ไขปัญหาอารมณ์ ว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ พฤติกรรมแบบไหนที่ไม่เหมาะสม เช่น เมื่อลูกไม่ยอมแปรงฟัน อาจอ่านนิทานหนูนิดชวนแปรงฟัน หรือ สอนลูกให้กินข้าวและเข้านอนเป็นเวลา ด้วยนิทานที่บอกเวลา หรือจะเป็นการ์ตูนรถไฟที่ออกเดินทางตามเวลาเสมอ
8.หนูก็มีอารมณ์นะ!! เข้าใจ และรับฟังลูก
หากลูกน้อยอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่พร้อมจะทำตามหรือให้ความร่วมมือ เช่น ลูกกำลังเหนื่อยหรือหิว ก็ควรตอบสนองลูกทันที เช่น หาอะไรรองท้องให้ลูก ให้ลูกได้งีบหลับก่อนอาบน้ำ เพราะความเหนื่อยและความหิวเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ที่สำคัญ การอาละวาดของลูก อาจมาจากอารมณ์ที่ไม่ดี ไม่พร้อมอยู่ก็เป็นได้ ไม่ใช่จากนิสัยเสมอไป เพราะความอดทนของเด็กย่อมต่ำกว่าผู้ใหญ่
9.งานบ้าน ตัวช่วยแสนวิเศษ!!
กิจกรรมที่ลูกในวัยนี้ชอบเป็นพิเศษ คือ การทำงานบ้าน เพราะเขาต้องการแสดงว่าเขาโตแล้ว เป็นผู้ใหญ่เหมือนพ่อแม่ การที่เขาได้ช่วยแบ่งเบางานของแม่ เป็นเรื่องที่เด็ก ๆ ชื่นชอบมาก ลองชวนลูกมาช่วยงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆที่เขาสามารถทำได้ เช่น ช่วยพับเสื้อผ้าเข้าตู้ ให้อาหารน้องหมาน้องแมว เป็นต้น นอกจากจะช่วยเรื่องอารมณ์ของลูกแล้ว ยังเป็นการฝึกระเบียบวินัย และความรับผิดชอบอีกด้วย
10.รับฟังลูกทุกครั้ง
แม้ว่าเด็กในวัยนี้จะพูด หรืออธิบายความต้องการของตัวเองออกมาได้ไม่ดีนัก การที่เรามีทีท่ารับฟังเขาอย่างจริงใจ แม้ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ทำให้ลูกรับรู้ว่า พ่อแม่พร้อมรับฟังเขาเสมอ จะเป็นการปูพื้นฐานต่อไปในอนาคตให้ลูกเชื่อใจ และรับรู้ว่าพ่อแม่เป็นพื้นที่ Safe Zone ของเขาเสมอ พร้อมรับฟังเขาทุกเรื่อง นอกจากนี้พ่อแม่ยังจะได้เป็นผู้ชี้แนะแนวทาง เมื่อลูกต้องการความช่วยเหลือเป็นคนแรก ๆ ดีกว่าให้เขาต้องไปหาทางเอง หรือปรึกษาคนอื่นที่ไม่ใช่เรา
เห็นกันไหมว่า วัยทอง 2 ขวบ ของลูกไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เมื่อพ่อแม่เรียนรู้ที่จะรับรู้พฤติกรรมของลูกอย่างเหมาะสม นอกจากจะช่วยให้พ่อแม่ไม่เหนื่อยแล้ว ยังเป็นการช่วยลูกด้วยเช่นกัน เพราะเขาก็ไม่เข้าใจในอารมณ์ตนเอง ที่มีรุนแรง ถาโถมเข้ามาช่วงวัยนี้เช่นกัน อย่าปล่อยให้ลูกต้องเผชิญตามลำพัง หรือผลักเขาให้โดดเดี่ยวด้วยความไม่เข้าใจของพ่อแม่เลย
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.samitivejhospitals.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่