ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์จาก Pennsylvania State University ศาสตราจารย์ด้านออทิสซึมและความผิดปกติที่เกี่ยวข้องจาก Kennedy Kriger Institute และศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวชจาก University of California-Los Angeles ได้แนะนำว่า เพื่อเป็นการปรับพฤติกรรมเด็กแล้ว การใช้ Time out จะไม่ค่อยได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก และเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมประเภทภาวะสมาธิสั้น
หลักการของ Time in
เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะให้เด็กนั่งหรือยืนที่มุมหนึ่งของห้อง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะต้องนั่งอยู่ในห้องนั้นด้วย เด็กจะต้องอยู่อย่างสงบนิ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่นานจนเกินไป เพราะนั่นคือการส่งสัญญาณบอกเด็กว่า ถึงแม้พฤติกรรมเขาจะไม่น่ารัก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งเขา
สำหรับเด็กที่อายุ 3 ขวบขึ้นไปนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีนับเพื่อให้เขานั่งลง ถ้าเด็กไม่ยอมนั่ง ให้พูดด้วยน้ำเสียงธรรมดาว่า “ถ้าหนูไม่นั่ง จาก 1 นาที จะกลายเป็น 3 นาทีนะคะ” ถ้าเด็กยังไม่ยอมนั่ง ให้เพิ่มระยะเวลาขึ้นเรื่อย ๆ จนเด็กพร้อมจะนั่ง และใช้รูปแบบเดียวกันนี้กับเด็กที่ส่งเสียงดัง ตะคอก หรือร้องโวยวาย คุณพ่อคุณแม่จะต้องกำหนดเวลาล่วงหน้าว่าจะให้นั่งกี่นาที แต่ไม่ควรเกิน 15 นาทีในเด็กเล็ก โดยปกติจะไม่เกิน 5 นาที หรือจะให้เฉลี่ยคือประมาณ 1 นาทีต่ออายุ 1 ขวบ
ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ยังแนะนำด้วยว่า เมื่อลูกนั่งแล้ว คุณพ่อหรือคุณแม่ควรจะยืนอยู่กับเขา แต่ไม่ใช่ยืนจ้องหน้าเขา หรือจะให้ดีก็คือคุณแม่อาจจะยืนอยู่ด้านหลังพร้อมกับวางมือลงบนไหล่ โดยวางอย่างเบามือและไม่กดน้ำหนักลงบนไหล่ ซึ่งวิธีการนี้ใช้ได้ดีกับเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมอื่น ๆ ด้วย เพราะเด็กเหล่านี้จะมีความกระตือรือร้นมักจะอยากผุดลุกผุดนั่งตลอดเวลา การนั่งไม่นานสามารถทำให้เด็กผ่อนคลายการถูกจำกัดได้ ในขณะเดียวกัน การเอามือของคุณแม่วางไว้บนไหล่หรือในบางครั้งอาจะเอามือจับกันไว้ทำให้เขารู้สึกได้ว่า ยังมีคนอยู่ด้วยนั่นเอง และเป็นการแสดงความใกล้ชิดไม่ใช่เพราะโกรธและอยากควบคุม นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กทำอะไรรุนแรงอีกด้วย
รูปแบบของวิธีการ Time in ที่ได้ผลดียิ่งโดยเฉพาะในเด็กวัยอนุบาลคือ เทคนิค teddy bear วิธีการก็คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กทำผิดหรือแสดงพฤติกรรมไม่ดี ก่อนคุณแม่จะให้ Time in ก็บอกให้ไปหยิบตุ๊กตาที่ชอบมานั่งเป็นเพื่อนด้วย หลังจากนั้นก็ให้ลูกและคุณแม่พูดกับตุ๊กตาในเรื่องที่เกิดขึ้น โดยที่คุณแม่เริ่มก่อนก็ได้ว่า “แม่เสียใจจังเลย วันนี้น้องตูนไปตีคุณยาย พี่หมีช่วยบอกคุณแม่ได้ไหมคะว่าคุณแม่จะทำอย่างไรดี” แล้วให้ลูกพูดกับตุ๊กตาในเชิงตอบโต้เช่นเดียวกัน เทคนิค teddy bear นี้จะช่วยให้เด็กคิดและพิจารณาพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังช่วยคุณแม่ให้ใจเย็นลงอีกด้วย
ในการจับเวลานั้น คุณแม่อาจเลือกเอานาฬิกาที่มีเสียงจับเวลาและนาฬิกาที่สามารถมองเห็นและจับต้องได้ เช่น นาฬิกาจับเวลาน้ำเดือด ควรหลีกเลี่ยงนาฬิกาข้อมือเพราะทำให้เด็กไม่แน่ใจว่า ครบกำหนดระยะเวลาจริง ๆ หรือไม่ และเมื่อเด็กคุ้นเคยกับวิธีการ Time-in แล้ว เด็กอาจจะเป็นตั้งระยะเวลาเองเสียด้วยซ้ำ
วิธีการ Time in นี้ นอกจากจะเป็นการทำให้เด็กสงบสติอารมณ์ลงแล้ว โดยส่วนใหญ่ก็ช่วยทำให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็นลงและพร้อมที่จะคุยกันถึงสาเหตุของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้มีเวลาทบทวนเหตุการณ์ไปพร้อมกับลูกและรับฟังเหตุผลอีกด้านด้วยแล้ว ทำให้การมองในมุมเพียงมุมเดียวของตนเองอาจไม่ใช่คำตอบในพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูกอีกด้วย
เพราะการมีพื้นฐานจิตใจที่สมบูรณ์มั่นคงติดตัวไปจนโตเพราะรู้ว่าพ่อแม่อยู่เคียงข้างเขาไปตลอดชีวิต…ขอเพียงมีเวลานอกให้ตัวเองด้วย ลูกจะได้มีตัวอย่างให้เรียนรู้ยังไงล่ะคะ!
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก
- ลดอาการโวยวาย โมโหร้ายของวัยเตาะแตะ
- พฤติกรรมไม่น่ารัก เมื่อตัวน้อยโมโห
- ใช้อารมณ์ตีลูก ปวดใจยิ่งกว่า ใช้ไม้ตี!!
บทความโดย: กองบรรณาธิการ Amarin Baby & Kids
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.dailynews.co.th