1 ตอนที่เผด็จการตัวน้อยๆ ในบ้านเกิดจะเอาผนังห้องสีขาวที่แม่เฝ้าเช็ดถูจนสะอาดเรี่ยมมาใช้เป็นกระดานวาดเขียน ลองหาตัวเลือกอื่นให้แก อย่างเช่น หนูเขียนบนผนังไม่ได้นะ เดี๋ยวแม่จะหากระดาษแผ่นโตๆ มาให้วาดแทนก็แล้วกัน ถ้าข้อเสนอยังไม่โดนใจ ก็เบี่ยงประเด็นชวนลูกไปเล่นอย่างอื่นแทนเสียเลย
2 ถึงคราวลูกวีนแตกเข้าแล้ว แถมคุณยังโดนหมายว่าเป็นตัวการเสียอีก (คุณแม่มักจะเป็นจำเลยเบอร์ 1 เสมอ) ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สำหรับวัยเตาะแตะนั้น ทำโทษด้วยการสั่งให้เข้าห้องไปสงบสติอารมณ์คงยังใช้ไม่ได้ผล แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเลือกใช้วิธีคล้ายๆ กันได้ เช่น กอดลูกเอาไว้สักแป๊บ เท่านี้สถานการณ์ก็ลดดีกรีความรุนแรงลงแล้วละ
3 พอเข้าวัย 2 ขวบ เด็กๆ เริ่มมีความทรงจำและเข้าใจคำเตือนของผู้ใหญ่แล้ว หากคุณเตือนลูกว่า ถ้าหนูโยนของลงพื้นอีก แม่จะเก็บไม่ให้เล่นแล้วนะ คุณก็ควรจะทำตามที่พูดด้วย ไม่อย่างนั้นลูกจะเข้าใจว่าคำเตือนของคุณเป็นแค่คำขู่ที่ไม่มีผลอะไร และแน่นอนว่าแกย่อมไม่เห็นประโยชน์ที่จะทำตามคำเตือนนั้น
4 พูดคำว่า ไม่ ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น (อย่างเช่นตอนที่เห็นกับตาว่าลูกกำลังเงื้อง่าจะเอาหุ่นยนต์ตีเพื่อนเล่น) เพราะยิ่งคุณพูดคำนี้บ่อยแค่ไหน คุณก็ยิ่งลดความหนักแน่นของมันลงไปทุกที
5 วัยเตาะแตะปรารถนาที่จะเป็นฝ่ายควบคุมบ้าง ถ้าคุณปล่อยให้ลูกเป็นฝ่ายตัดสินใจ แกจะดีใจมากเลยละ ทั้งที่มันเป็นเรื่องเล็กๆ แค่ว่า จะใส่เสื้อตัวไหน หรือว่าจะรับประทานอะไรเป็นอาหารเช้าแต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ คุณแม่ก็ยังต้องตัดสินใจให้หนูอยู่ดีนะ
6 สิ่งสำคัญพอๆ กับการทำโทษก็คือการปลอบใจ เพราะฉะนั้น หลังจากทำโทษแล้ว ให้กอดลูกไว้และบอกว่าคุณยังรักเขาอยู่นะ ถึงคุณจะไม่ชอบสิ่งที่เขาทำก็เถอะ หลังจากนั้นค่อยมานั่งคุยกันดีๆ การเอาใจใส่ของคุณจะช่วยลบพฤติกรรมแง่ลบของเขา แค่จัดสมดุลระหว่างการทำโทษกับการปลอบใจให้ดีๆ ก็พอแล้วละ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง