เมื่อลูก สำลักอาหาร หรือมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในลำคอ พ่อแม่ระวังอย่าทำเช่นนี้ อันตรายถึงชีวิตมาแล้วหลายราย หากมองไม่เห็นของอุดตันนั้น อย่าล้วงคอลูกเด็ดขาด
อย่าล้วงคอลูก!หาก สำลักอาหาร อาจอันตรายถึงชีวิตได้
ลูกน้อยวัยเตาะแตะ วัยซน เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างดูใหม่แปลกตาสำหรับพวกเขาเสมอ การเล่นซนหยิบโน่นจับนี่ และสำรวจสิ่งเหล่านั้นโดยใช้ตัวเองเป็นที่ทดสอบ จึงมีให้เห็นเสมอมา เช่น กลืนกระดุม ลูกปัด หรือมีของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ติดรูจมูก เป็นต้น นอกจากนั้นยังโปรดปรานการหยิบจับอาหารเข้าปากด้วย หรือค่านิยมคนไทยที่มักตามใจลูกน้อย ด้วยการป้อนอาหารไปด้วยขณะที่ลูกกำลังเล่นสนุก ทำให้เจ้าตัวน้อยสำลักอาหาร ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอแนะนำผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น กลม ลื่น และแข็ง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ควรป้อนเป็นชิ้นเล็ก ๆ ส่วนผลไม้เช่น แตงโม น้อยหน่า ละมุด มะขามให้แกะเมล็ดออกก่อน ไม่ป้อนอาหารขณะเด็กกำลังวิ่งเล่น สอนเด็กเคี้ยวอาหารช้า ๆ ให้ละเอียดก่อนกลืน เลือกของเล่นให้เหมาะกับวัยของเด็ก ไม่ควรให้เล่นของเล่นที่มีชิ้นส่วนขนาดเล็กหรือแตกหักง่าย เก็บสิ่งของที่มีขนาดเล็ก เช่น กระดุม เข็มกลัด ยา ให้พ้นมือเด็ก และสอนเด็กไม่ให้นำของเล่นไปอมหรือเคี้ยว เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจเด็ก อันตรายที่พบบ่อยในเด็กเล็กอายุ 1 – 3 ปี คือ สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ เนื่องจากเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็น ต้องการทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ชอบหยิบจับสิ่งของเข้าปาก ใส่จมูก และยังมีฟันกรามขึ้นไม่ครบ ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียดพอ รวมทั้งมักจะวิ่งหรือเล่นขณะกินอาหาร หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
พ่อแม่มีลูกเล็กควรระวัง!! สำลักอาหารอันตรายกว่าที่คิด
รศ.พญ.กิติรัตน์ อังกานนท์ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา อธิบายว่า ปัญหาสำลักสิ่งแปลกปลอมมักเกิดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เด็กมักเอาสิ่งแปลกปลอมใส่เข้าไปในรูจมูกและปาก ประกอบกับฟันที่ยังขึ้นไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารชิ้นโต ๆ ได้ จึงอาจเกิดการสำลักอาหารระหว่างรับประทานหรือขณะวิ่งเล่น อันตรายจากสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ทางเดินหายใจ คือ อาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งในเด็กเล็กมีทางเดินหายใจขนาดเล็ก แม้ถูกอุดกั้นเพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นอันตรายจากการขาดอากาศหายใจถึงชีวิตได้
ระวัง! ห้ามล้วงคอเมื่อลูกสำลักอาหาร พร้อมรู้ถึงวิธีปฐมพยาบาล
เมื่อลูกสำลักอาหารให้รีบช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยใช้วิธีจับเด็กนอนคว่ำ และตบแรง ๆ บริเวณทรวงอกด้านหลังระหว่างกระดูกสะบัก จนอาหารกระเด็นหลุดออกมา ห้ามใช้นิ้วมือล้วงช่องปาก หรือจับเด็กห้อยศีรษะและตบหลังเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เศษอาหารตกมาอุดที่กล่องเสียงจนขาดอากาศหายใจได้
ในกรณีที่สำลักแล้วหายใจไม่ออก ริมฝีปากเขียว ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน อาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ควรรีบใช้วิธีช่วยเหลือแบบ Heimlich Maneuver ซึ่งคือวิธีการเคลียร์หลอดลมเด็กแบบทันทีทันใด นับว่าเป็นวิธีการปฐมพยาบาลที่ทุกคน โดยเฉพาะพ่อแม่ควรศึกษาไว้ เพราะเด็กวัยหัดเดินนี้หากสำลักอาหารเมื่อใดอาจอันตรายถึงขั้นหมดสติได้ ซึ่งหากเอาสิ่งแปลกปลอมออกมาไม่ได้ จนสุดท้ายเด็กถึงกับหมดสติ ขั้นตอนต่อไปก็คือคุณพ่อคุณแม่ต้องทำ CPR
ควรอ่าน…วิธีการทำ CPR 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ช่วยชีวิตได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยลูกจากภาวะฉุกเฉินดังกล่าวนั้น คุณแม่จะต้องตั้งสติให้ดี ๆ รีบช่วยเหลือลูกโดยเร็วที่สุดอย่างถูกวิธี เพราะหากสมองของลูกขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที ก็อาจทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทราตลอดไป
ควรอ่าน… การปฐมพยาบาล และทำ CPR เมื่ออาหารติดคอลูกน้อย
Heimlich Maneuver
เมื่อสังเกตอาการของลูก พบว่าผิดสังเกต และมีแนวโน้มที่ลูกจะมีอาหารติดคอ สำลักอาหาร หรือสำลักสิ่งแปลกปลอม ก่อนอื่นให้เราประเมินอาการของลูกก่อนเบื้องต้น ดังนี้
อาการเตือน เมื่อลูก “สำลักอาหาร” แบบผิดปกติ
- สังเกตว่าลูกมีอาการไอหอบ ๆ ไออย่างรุนแรง และต่อเนื่องหรือไม่ เมื่อมีอาหารติดคอร่างกายจะพยายามขับสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมา แต่หากไม่สำเร็จ จึงทำให้เกิดอาการไอเสียงหอบ ๆ หากไอเสียงดังแบบเวลาป่วย แสดงว่ายังมีอากาศหายใจได้ไม่มีอะไรอุดตันหลอดลม
- สังเกตว่าลูกหายใจติดขัดหรือไม่ หายใจไม่ออก มีอาการหอบเหนื่อยเฉียบพลัน หายใจเร็วผิดปกติ หรือหายใจเสียงดังเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด อาจมีเสียงแปลก ๆ เวลาหายใจ
- สังเกตดูว่าลูกยังสามารถพูดได้ไหม หรือหากลูกยังเล็กยังไม่พูด ให้ดูว่าเขาส่งเสียงแล้วมีเสียงออกมาหรือไม่ เพราะหากมีสิ่งแปลกปลอมอุดหลอดลมจะทำให้พูดได้ลำบาก พูดไม่มีเสียงออกมา เด็กจะเอามือจับบริเวณคอ เพราะเด็กไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง และไม่สามารถสื่อสารออกมาได้
- ริมฝีปาก ใบหน้าเขียวคล้ำ เกิดจากการหายใจไม่ออกเป็นเวลานาน ถือเป็นภาวะฉุกเฉินควรรีบไปพบแพทย์ทันที แต่บางทีก็ต้องระวังว่าเด็กเล็กสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้ดีกว่าผู้ใหญ่ จนบางทีก็ตัวหรือหน้าไม่เขียวคล้ำบอกอาการทันทีทันใด
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น แบบ Heimlich Maneuver
- คุกเข่าลงที่พื้น เอนตัวเด็กลง หรือพลิกตัวเด็กนอนคว่ำบนตักก็ได้เช่นกัน ตามแต่ถนัด
- ทุบหลังเด็ก 5 ครั้ง โดยใช้สันมือกระแทกไปที่กลางหลัง ระหว่างกระดูกสะบักของเด็ก ระวังอย่าให้เด็กหล่นจากตัว สังเกตดูว่าสิ่งแปลกปลอม หรืออาหารนั้นหลุดออกมาหรือยัง หรือดูว่าเด็กสามารถกลับมาหายใจได้เป็นปกติอีกครั้ง
- ให้เด็กนั่งตักหันหลังให้ เอาแขนโอบรอบตัวเด็ก กำมือข้างหนึ่งจรดไว้เหนือสะดือเด็ก ให้อยู่ล่างกระดูกหน้าอก ส่วนมืออีกข้างให้กุมกำปั้นไว้
- รั้งกำปั้นเข้าไปที่หน้าท้องของเด็ก โดยกระแทกให้แรง และเร็ว ทำซ้ำ 4 ครั้ง หรือจนกว่าสิ่งแปลกปลอมนั้นจะหลุดออกมา
- หากยังไม่สำเร็จให้ทำสลับกันไปมาระหว่างทุบหลัง กับกระแทกท้อง และรีบเรียกรถพยาบาล หรือนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
การป้องกันมีความสำคัญมากกว่าการรักษา เพราะเป็นภาวะที่อาจเกิดซ้ำ ๆ อีกได้ ไม่ควรปล่อยเด็กเล็กให้อยู่ตามลำพัง เด็กอาจหยิบจับสิ่งใด ๆ ที่ไม่ใช่อาหารเข้าปากได้ตลอดเวลา ผู้ปกครองควรสังเกตอาการ ถ้าเกิดอาการไอ หอบเหนื่อยเฉียบพลัน หายใจเสียงดังโดยไม่ทราบสาเหตุ ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน มักเกิดจากสิ่งที่อุดกั้นมีขนาดใหญ่ไปติดค้างที่กล่องเสียง ซึ่งเป็นตำแหน่งแคบที่สุดของทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอุดกั้นอย่างสมบูรณ์และเฉียบพลัน ให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่หากไม่สามารถทำได้ให้รีบโทรสายด่วน 1669 หรือนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด
วิธีป้องกัน…ไม่ให้อาหารติดคอ
- เก็บอาหารชิ้นเล็กๆ เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด ลูกอม ข้าวโพดคั่ว องุ่น ลูกเกด ขนมเยลลี่ ฯลฯ ให้พ้นมือเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการที่เด็กอาจจะหยิบกินโดยที่ไม่ได้อยู่ในสายตาและความดูแลของพ่อแม่
- ควรสอนให้เด็กเคี้ยวอาหารช้า ๆ ให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่กินอาหารขณะนอนราบ รวมถึงไม่ให้พูดหัวเราะ หรือวิ่งเล่นขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก ควรนั่งรับประทานบนโต๊ะอาหารให้เรียบร้อย และฝึกเป็นนิสัย ไม่ตามใจป้อนอาหารลูกขณะวิ่งเล่นเด็ดขาด
- ไม่ควรให้เด็กเล็กกินอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น มีขนาดกลม ลื่นและแข็ง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก รวมไปถึงปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ที่ติดกระดูก และผลไม้ที่มีเม็ดขนาดเล็ก ควรเอาเม็ดออกพร้อมตัดแบ่งเป็นคำเล็กพอที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้ เนื่องจากเม็ดของผลไม้มีความลื่นและมีโอกาสหลุดเข้าหลอดลมได้ง่าย
ย้ำเตือนกันอีกครั้ง หากลูกเกิดอาการสำลักอาหาร มีสิ่งแปลกปลอมหลุดลงคอ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นสิ่งแปลกปลอมนั้นก็สามารถล้วงหยิบออกมาอย่างระมัดระวังได้ แต่หากมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมนั้น ไม่ควรเอามือล้วงเข้าไปในคอลูกเด็ดขาด อันตรายอาจทำให้ของนั้นหลุดลึกเข้าไปกว่าเดิมจนไปอุดตันหลอดลม ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ทำให้ตายได้ การเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น วิธี Heimlich Maneuver การทำ CPR ก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ เมื่อยามฉุกเฉินจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการรักษาชีวิตลูกน้อยให้ไม่เกิดเหตุไม่คาดฝันอันน่าเศร้าขึ้นได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.si.mahidol.ac.th/th.wikihow.com/กระทวงสาธารณสุข
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แม่แชร์ประสบการณ์สำลักนม ทำลูกปอดติดเชื้อ มีไข้สูงชักตัวเกร็ง
รวม “การปฐมพยาบาลเบื้องต้น” ให้ลูกน้อยที่ถูกต้อง…ที่พ่อแม่ควรรู้!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่