การวัดสายตาในเด็ก
โดยธรรมชาติ เด็กจะชอบเพ่งทำให้สายตาที่วันค่าได้เป็นสายตาสั้นกว่าความจริง หรือวัดสายตายาวได้น้อยกว่าความจริง ต้องให้เด็กหยุดเพ่งสักครู่ โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 12 ขวบ หยอดยาเพื่อลดการเพ่ง แล้ววัดสายตา หลังจากตรวจคุณหมอจะสั่งตัดแว่นที่เหมาะสม และนัดติดตามผลเป็นระยะ เพราะค่าสายตาเด็กเปลี่ยนแปลงได้ตลอด หยอดยาวัดสายตาปีละ 1 ครั้ง จนถึง 12 ขวบ ก็สามารถวัดสายตาแบบผู้ใหญ่
เตรียมตัวพาลูกน้อยไปวัดสายตา
1.ควรเป็นวันที่ไม่มีไข้ ร่างกายปกติดี ไม่มีสอบ หรือการเรียนที่ต้องใช้สายตามาก ประมาณ 1 วัน
2.เตรียมแว่นดำ หรือหมวกมาด้วย เพราะหลังจากตรวจม่านตาจะขยายเล็กน้อย ทำให้แพ้แสง 1 วัน
3.หยอดยาวัดสายตา ทุก 5 – 10 นาที 2-3 ครั้งทั้งสองตา รอประมาณ 30 นาที จะสามารถตรวจได้ ระหว่างหยอดตาเด็กๆ อาจร้องไห้งอแง เพราะยาหยอดตาทำให้แสบตา
4.หลังตรวจเรียบร้อย จักษุแพทย์จะตรวจจอประสาทตา เนื่องจากม่านตาขยายพอที่จะตรวจได้
5.หลังตรวจตาแล้ว ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง พักผ่อนในบ้าน ไม่ควรโดนแสงสว่างมากๆ
พญ.ขวัญใจ วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้างานจักษุวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า “บางที เราอาจจะมีความสงสัยว่า ทำไมสายตาสั้นทำให้ตาบอดได้ เพราะเราก็รู้กันว่าถ้าผู้ใหญ่เกิดอาการสายตาสั้นก็ไปตัดแว่น อันนั้นก็เป็นภาวะผิดปกติของสายตาโดยทั่วไป แต่ไม่ใช่ในเด็ก เนื่องจากระบบการมองเห็นในเด็กตั้งแต่แรกเกิด มันยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ และจะต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุประมาณ 6 ขวบ จึงจะเป็นการมองเห็นที่สมบูรณ์เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ ถ้ามีปัญหาอะไรก็ตามที่ทำให้เด็กไม่สามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนได้ การพัฒนาการมองเห็นของเด็กก็จะไม่เกิดด้วย เพราะพัฒนาการมองเห็นที่ว่านี้ จะประกอบด้วยปัจจัยทั้งทางด้านสายตาและสมอง ซึ่งก็คือศูนย์รับภาพการมองเห็น ถ้าพัฒนาการนี้ไม่เกิด ก็แสดงว่าเด็กคนดังกล่าวจะไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติ”
“เพราะฉะนั้น เด็กที่สายตาสั้นตั้งแต่ก่อนอายุ 6 ขวบ และไม่ได้รับการแก้ไขด้วยแว่น ก็หมายความว่าเขาเห็นภาพไม่ชัด เมื่อภาพไม่ชัดส่งเข้าไปที่สมอง สมองก็จะไม่พัฒนา และเมื่อไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะเกิดการสายตาเสียถาวร นั่นหมายความว่า หลังจาก 6 ขวบก็จะไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้อีกแล้ว แม้ว่าจะไปใส่แว่นหลังจากนั้น ก็จะไม่สามารถกระตุ้นให้มันเกิดการพัฒนาการที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราใส่แว่นให้เด็กก่อนอายุหกขวบ เขาจะกลับมาเห็นเป็นปกติได้เลย แต่ถ้าเลยจากนั้นไปแล้ว การมองเห็นจะไม่สมบูรณ์”
เครดิต: พญ.ณัฐธิดา วงศ์วีระวัฒน์, นพ.วรากร เทียมทัด, พญ.ขวัญใจ วงศ์กิตติรักษ์, ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
Tablet มือถือ คอมพิวเตอร์ อันตรายเสี่ยงลูกป่วยทางสายตา