10 วิธีทางรอดดูแล ดวงตา ลูกให้ปลอดภัยในยุคนี้ - Amarin Baby & Kids
ดวงตา ดูแลตาลูก

10 วิธีทางรอดดูแล ดวงตา ลูกให้ปลอดภัยในยุคนี้

Alternative Textaccount_circle
event
ดวงตา ดูแลตาลูก
ดวงตา ดูแลตาลูก

ดวงตา เป็นอวัยวะที่สำคัญ จะดูแลดวงตาอย่างไรให้รอดปลอดภัยจากโลกในยุคปัจจุบัน ที่หน้าจอมีอยู่รายล้อมตัวลูก มาฟัง 10 ทางรอดเพื่อสุขภาพตาที่ดีกัน

10 วิธีทางรอดดูแล ดวงตา ลูกให้ปลอดภัยในยุคนี้!!

พูดถึงเรื่อง “ปัญหาสายตา” คงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่กำลังหนักใจกันใช่ไหม เมื่อลูกของเราอยู่ในยุคเทคโนโลยี ที่ไม่ว่าอะไร ๆ รอบตัวก็เต็มไปด้วยแสงจากจอ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้ในการเรียนออนไลน์ในช่วงที่ โควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา หรือหน้าจอสมาร์ทโฟนที่แทบเป็นอวัยวะอีกชิ้นหนึ่งของร่างกายของผู้คนในยุคปัจจุบัน และแนวโน้มต่อ ๆ ไปที่อะไร ๆ ก็เป็นสมาร์ทไปเสียหมด สมาร์ทโฮม สมาร์ทคาร์ แล้วแบบนี้จะส่งผลเสียต่อ ดวงตา ของลูกน้อยของเราไปมากขนาดไหนกันนะ

ดูแลดวงตาคู่น้อยอย่างไร??

คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกตดวงตาของลูกน้อย หากพบอาการผิดปกติหรือสงสัยควรพาลูกน้อยของท่านมาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาทันที หรือพาเด็กตรวจคัดกรองทางตาทั่วไป

  • อายุ 3-6 เดือน ควรตรวจคัดกรองภาวะผิดปกติทางตา
  • อายุ 3-6 ปี ควรตรวจคัดกรองระดับการมองเห็น (Visual acuity) และภาวะผิดปกติทางตา วัดค่าสายตาในบางราย
  • ระดับอายุ 6 ปีตรวจคัดกรองระดับการมองเห็น และวัดค่าสายตา เพื่อประโยชน์ต่อดวงตาของลูกน้อย และพัฒนาการด้านการมองเห็นของเด็กทุกคน
ดวงตา นั้นสำคัญไฉน
ดวงตา นั้นสำคัญไฉน

ทางเลือกทางรอดของ ดวงตา

เมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตประจำวันโดยปราศจากการทำร้ายดวงตา ด้วยอุปกรณ์หน้าจอต่าง ๆ แล้วนั้น เราลองมาอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้กันอย่างสันติ และหาความลงตัวกันดูดีไหม หากคุณพ่อคุณแม่กำลังกังวลใจกับเรื่อง ปัญหาสายตา ของลูกกันอยู่แล้วละก็ ลองใช้วิธีทางเลือก ทางรอดของดวงตา ที่เราได้รวบรวมจากนักจักษุแพทย์ที่ได้ให้คำแนะนำ วิธีการถนอมดวงตา มาปรับใช้ทั้งกับตัวคุณพ่อคุณแม่เอง และให้ลูกน้อยได้ปฎิบัติกันดูสักทีจะดีไหม

10 ทางรอด ฝึกนิสัยการใช้หน้าจอของลูก

1. กฎ 20-20-20

เมื่อมีการใช้สายตามองใกล้ หรือกิจกรรมของการใช้หน้าจอ ควรใช้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 20 นาที จากนั้นควรพักสายตา 20 วินาที ด้วยการมองระยะไกลอย่างน้อย 20 ฟุต

2.ตั้งเวลาเตือน ตัวช่วยที่ซื่อสัตย์

หากเราไม่สามารถอยู่เฝ้าดูลูกใช้สายตากับหน้าจอต่าง ๆ ได้ตลอดเวลาแล้ว คุณแม่มีตัวช่วยในการทำให้ลูกปฎิบัติตามกฎของ 20-20-20 ได้ ด้วยนาฬิกาจับเวลา ตั้งเวลาปลุก เพื่อเตือนให้ลูกน้อยพักสายตามองออกไปไกล ๆ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที นาฬิกายังเป็นตัวช่วยที่ดีที่ไม่มีความเอนเอียง หรือใจอ่อนต่อการร้องขอต่อเวลาของลูกอีกด้วยนะ

3. อ่านหนังสือก็ต้องพักตานะ

เมื่ออ่านหนังสือ เราใช้สายตาในการมองระยะใกล้ ซึ่งก็ยังคงต้องให้ ดวงตา ได้พักเช่นเดียวกันกับการใช้หน้าจอ เราสามารถกำหนดให้ลูกได้ว่า เมื่ออ่านหนังสือจบบทย่อย ๆ ให้มองออกไปไกล ๆ เช่น มองออกไปนอกหน้าต่าง ให้ทำประจำจนเป็นนิสัย

4.พักตา เมื่อจบด่าน

เกมออนไลน์ เกมในมือถือ เกมจากเครื่องเล่นเกม หรือเกมต่าง ๆ ที่ใช้หน้าจอเป็นอุปกรณ์ในการเล่น เมื่อเล่นจบแต่ละด่าน บอกให้ลูกมองออกไปข้างนอก มองหน้าต่างออกไปไกล ๆ เป็นเวลา 20 วินาที ให้ทำจนเป็นนิสัย

5. ที่คั่นหนังสือ Bookmark ตัวช่วยเตือนพักตา

ตัวช่วยที่จะช่วยลูกเตือนความจำว่าถึงเวลาพักตาได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจลองใช้ที่คั่นหนังสือ คั่นหน้าด้วยคลิป แบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ ถ้าเป็น e-book ให้ใช้ตัว bookmark แทนได้

6.หลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอในที่แสงจ้า

เนื่องจากว่าแสงสะท้อนจากหน้าจอในที่มีแสงจ้ามาก ๆ จะทำให้เกิด ภาวะตาล้า หรือ digital eye strain ได้

สมาร์ทโฟน กับ ดวงตา ลูก
สมาร์ทโฟน กับ ดวงตา ลูก

7. พยายามปรับความสว่างของหน้าจอให้รู้สึกสบายตามากที่สุด

การปรับความสว่างของหน้าจอ หรือความเข้มของสีของหน้าจอ จะต้องปรับตามสภาพแวดล้อมรอบข้าง ความสว่าง และความเข้มของหน้าจอในที่ที่มีแสงจ้า หรือในที่ร่ม มีระดับความแตกต่างกันที่จะทำให้สบายตา ควรเลือกปรับให้กับลูกให้พอดีกับแสงในขณะนั้น ก่อนอนุญาตให้ลูกเล่น

8. ใส่ใจท่านั่งเล่นของลูกสักนิด

การเลือกท่าที่ถูกต้อง ในการนั่งเล่นเกม หรือทำกิจกรรมกับหน้าจอต่าง ๆ นอกจากจะช่วยให้ไม่เกิดอาการปวดคอ ปวดหลังแล้ว เรายังสามารถจัดระยะห่างระหว่างหน้าจอที่เหมาะสมให้กับลูกได้ด้วย เช่น การดูทีวี ไม่ควรนอนดู หรือนั่งในระยะใกล้เกินไป

9.การดูมือถือ สมาร์ทโฟน ควรห่างจากสายตาประมาณ 40 เซนติเมตร

ปัจจุบันสมาร์ทโฟนนับเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ไปเสียแล้ว มีคนจำนวนมากที่ใช้สมาร์ทโฟนดูหนัง ดูละคร หรือเด็ก ๆ ก็ใช้เวลาดูคลิปใน Tiktok ซึ่งใด ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ จะทำให้รู้สึกเพลิดเพลินจนลืมเวลา ไม่รู้ว่าเราดูหน้าจอไปนานแค่ไหนแล้ว นอกจากจะต้องคอยเตือนตัวเองให้พักสายตาแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องจัดท่าทางการดูมือถือของลูก ให้สายตาห่างจากจอ ประมาณ 40 เซนติเมตร เพื่อถนอมสายตาอีกด้วย

10. กระพริบตาบ่อย ๆ ขณะเล่น ดีต่อดวงตา

คนเราปกติจะกระพริบตาประมาณ 15 ครั้งต่อนาที การกระพริบตาแต่ละทีทำให้น้ำตามาเคลือบที่ดวงตาได้ทั่ว แต่เวลาที่เราทำอะไรเพลิด ๆ เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกม ดูทีวี เราจะกระพริบตาน้อยลงมาก เรียกได้ว่าสนุกจนลืมกระพริบตากันทีเดียว เมื่อไม่ค่อยได้กระพริบตา จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อดวงตาเลย

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก คุยกับหมอตาเด็ก by หมอพี

อ่านต่อ>> จักษุแพทย์แนะ วิธีดูแลสุขภาพตา ทำอย่างไร คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up