ไขข้อข้องใจเรื่องเนิร์สเซอรี่ - Amarin Baby & Kids

ไขข้อข้องใจเรื่องเนิร์สเซอรี่

Alternative Textaccount_circle
event

ในปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือสถาบันพัฒนาเด็กเล็กที่ยังไม่ได้เข้าเรียน หรือที่เรียกกันว่า เนิร์สเซอรี่Ž เกิดขึ้นมากมาย สำหรับอายุต่ำสุดที่เปิดรับได้จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของเนิร์สเซอรี่แต่ละแห่ง หมอมีข้อควรพิจารณาก่อนพาลูกไปฝากเนิร์สเซอรี่มาแนะนำดังนี้ค่ะ

 
– ครอบครัวเดี่ยวที่พ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ในช่วงเวลาที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย ใครเป็นผู้ดูแลลูก ไว้ใจได้หรือไม่ และผู้ดูแลเข้าใจธรรมชาติของเด็กมากน้อยแค่ไหน มีการกระตุ้นพัฒนาการหรือเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่สมวัยหรือไม่

 
ถ้ามีผู้ดูแลที่ดีมีคุณภาพอยู่แล้ว และลูกก็ดูมีความสุขดี ให้เขาอยู่บ้านดีที่สุด รอเข้าเรียนอนุบาลตอนอายุ 3 ขวบทีเดียวเลย เพราะโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อโรคมีน้อยกว่า หรือหากติดเชื้อ อาการก็มักรุนแรงน้อยกว่าเด็กที่เล็กมากๆ ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะเรียนสู้เพื่อนๆ ไม่ได้ เพราะแม้เข้าเรียนช้ากว่า แต่เมื่อวัยพร้อม เดี๋ยวเดียวก็เรียนทันกันค่ะ- นโยบายการดูแลลูกของผู้ดูแลไม่ตรงกับใจของพ่อแม่ เช่น ตามใจมากไป ให้กินขนมหวานทั้งวัน ให้ดูทีวีหรือเล่นเกมมากไป ครั้นพ่อแม่จะขัดแย้งหรือไม่ให้ทำ ก็อาจเกิดอาการงอนจากผู้ดูแลได้- ลูกอยู่ในวัยซน ชอบปีนป่าย วิ่งเล่นเกือบตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหากไม่มีใครคอยประกบหรือวิ่งตาม แต่ผู้ดูแลอายุมากแล้ว เดินตามไม่ไหว หรืออาจทำให้เหนื่อยเกินจนเป็นอันตรายต่อหัวใจได้

 
– บางครั้งผู้ดูแลลูกที่บ้านอาจติดธุระหรือเจ็บป่วยกะทันหัน ทำให้พ่อแม่ต้องลางานเพื่อดูแลลูกเอง แต่ถ้าเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก ก็คงหาคนมาแทนได้อย่างทันท่วงที

 
– ในกรณีที่เป็นลูกคนเดียว ไม่มีเด็กแถวบ้านหรือญาติพี่น้องที่เป็นเด็กด้วยกันมาเล่นด้วย เด็กอาจขาดทักษะในการเล่นกับเด็กคนอื่น หรือบางคนแทบไม่เจอใครเลยในแต่ละวันนอกจากพ่อกับแม่ ทำให้กลัวคนแปลกหน้า เข้ากับคนอื่นได้ยาก ในกรณีเช่นนี้ การพาลูกไปเข้ากลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน หรือสถานพัฒนาเด็กเล็ก อาจช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับผู้อื่นได้ดีขึ้น

 
– อยู่บ้านแล้วสบายเกินไป มีคนทำให้ทุกอย่าง แทบไม่ต้องกระดิกตัวทำอะไรเองเลย ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาความสามารถ บางคนจะเข้าเรียนแล้วยังกินข้าวเองไม่เป็น ใช้ห้องน้ำไม่เป็นเพราะใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตลอดเวลา ขาดระเบียบวินัย เช่น เล่นของแล้วไม่เก็บ รอคิวไม่เป็น เด็กบางคน พ่อแม่ฝึกเองเท่าไรก็ไม่สำเร็จ แต่พอส่งไปเรียนปุ๊บทำได้เลย เพราะเกรงใจครู กลัวครูไม่รัก ซึ่งครูจะชมว่าเรียบร้อยน่ารักมากเวลาอยู่ที่โรงเรียน แต่พออยู่บ้านเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะรู้ว่าถึงอย่างไรพ่อแม่ก็รักและตามใจ

 
– เด็กบางคนมีปัญหากินข้าวยาก ส่วนใหญ่มักเป็นกรณีลูกคนเดียว ไม่มีใครกินด้วยหรือไม่ได้กินพร้อมพ่อแม่ จึงขาดโอกาสที่จะเลียนแบบการกระทำ ใช้วิธีป้อนตลอด ล่อหลอกให้กินโดยเปิดทีวีให้ดูไปด้วย แต่หมอก็คอยห้ามว่าอย่าให้ลูกดูทีวีมาก เลยไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรให้ลูกกินเก่งขึ้น

 
คำแนะนำคือ พยายามลองให้กินเอง กินพร้อมหน้าพร้อมตากัน เปลี่ยนเมนูเป็นสไตล์ที่เด็กอยากกิน (เปิดดูไอเดียดีๆ ได้จากคอลัมน์ Whatžs Cooking ท้ายเล่มค่ะ กองบ.ก.) ลองให้ลูกช่วยเตรียมอาหารหรือจัดโต๊ะ จะได้รู้สึกมีส่วนร่วม และปิดทีวีซะ !

 
– เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการช้ากว่าวัยเล็กน้อย อาจเป็นเพราะขาดโอกาสในการฝึกฝน หรือไม่มีคนคอยกระตุ้นพัฒนาการ ซึ่งเด็กอาจดีขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็วถ้ามีการกระตุ้นพัฒนาการอย่างถูกวิธีโดยผู้มีความรู้ความชำนาญ

 
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ประเมินสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แล้วคิดว่าควรส่งลูกไปสถานรับเลี้ยงเด็กหรือสถาบันพัฒนาเด็กเล็ก สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกคือ

 
– ค่าใช้จ่าย เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว

 
– ที่ตั้ง ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน รับส่งและเดินทางสะดวก ลูกไม่เหนื่อยเกินไป

 
– นโยบาย ตรงกับความต้องการของพ่อแม่ เช่น สนับสนุนการให้นมแม่ โดยยินดีป้อนนมลูกแบบจิบดื่มจากถ้วยแทนการให้ดูดจากขวด หรือให้ผลไม้แทนขนมหวาน

 
– คุณภาพ สถานที่ ปลอดภัย ไม่มีประตูที่เด็กจะเดินออกไปเองตามลำพังได้ มีทางหนีไฟ ระบบตรวจจับควันไฟ การติดตั้งของเล่นมั่นคงดี มีที่จอดรถห่างจากที่เล่นของเด็ก ไม่แออัด การระบายถ่ายเทอากาศดี หากเป็นห้องแอร์ควรมีเครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะได้รับโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจควรมีห้องแยกสำหรับเด็กป่วย มีของเล่นที่หลากหลายและเหมาะกับเด็กแต่ละวัย เพื่อช่วยเสริมพัฒนาการและมีจำนวนเพียงพอ ทางโรงเรียนควรมีกล้องวงจรปิดเพื่อคอยตรวจสอบและย้อนดูเหตุการณ์ได้ในกรณีที่มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นแก่ลูก มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี

 
บุคลากร – เพียงพอกับจำนวนเด็ก จะได้ดูแลเด็กอย่างทั่วถึง สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีประวัติอาชญากรรม รักเด็ก ใจเย็น มีความรู้ความชำนาญในการดูแลเด็ก ไม่เปิดทีวีให้เด็กดู ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีโปรแกรมฝึกพัฒนาการที่แน่นอนสำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุ ถ้ามีใบอนุญาตจัดตั้งสถานประกอบการและหลักสูตรที่มีมาตรฐานด้วยก็ยิ่งดี

 
ระบบการดูแลสุขภาพเด็ก – มีห้องแยกเด็กป่วย หรือไม่ให้มาเรียนจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ มีการสังเกตอาการเจ็บป่วยของเด็ก จะได้รีบแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด และรีบโทรศัพท์ตามผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้านหรือพาไปตรวจที่โรงพยาบาล

 
ส่วนในกรณีที่เด็กป่วยแบบเฉียบพลัน และจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาทันที ทางโรงเรียนควรมีระบบการนำส่งให้เด็กได้รับการตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผู้ปกครอง เพราะอาจไม่ทันกาล เน้นเรื่องการล้างมือบ่อยๆ โดยมีก๊อกน้ำให้อย่างเพียงพอ หรือมีแอลกอฮอล์เหลวหรือแอลกอฮอล์เจลเอาไว้ถูมือก่อนจะเตรียมอาหารให้เด็ก และหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม เช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรืออาเจียนของเด็ก รวมทั้งหลังการอุ้มหรือสัมผัสเด็กแต่ละคน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

 
นอกจากนี้ต้องมีห้องเตรียมอาหารที่ถูกสุขลักษณะ จัดอาหารและของว่างถูกต้องตามหลักโภชนาการและน่าหม่ำ มีสุขอนามัยเรื่องการใช้ส้วมและกำจัดสิ่งปฏิกูล มีการแยกข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนไม่ให้ปะปนกัน มีการทำความสะอาดห้องเรียน อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้และของเล่นเป็นประจำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ มีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล สถานีตำรวจ และสถานีดับเพลิงในที่ที่เห็นได้ง่าย

 
– หากเป็นไปได้ ควรพาลูกไปรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อที่มักระบาดตามแหล่งที่มีเด็กอยู่รวมกัน (นอกเหนือจากวัคซีนบังคับ) เช่น วัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส ไข้หวัดใหญ่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากฮิบและไอพีดี สุกใส ตับอักเสบเอ และไทฟอยด์ ด.ช. Naoto Tayu

 

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up