เช็ค 6 อาการของเด็กที่มี ภาวะสมองพิการ !
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยอยู่ในวัยเตาะแตะ คงมีความสุขที่ได้เห็นพัฒนาการของลูกที่กำลังน่ารัก หัดคลาน หัดนั่ง หัดเดิน แต่หากบ้านใดที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า ลูกน้อยมีทักษะการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อล่าช้า เช่น การเงยหน้าขึ้น การพลิกตัว การนั่ง คลาน และการเดิน ชอบใช้ร่างกายส่วนเดียว ฯลฯ ต้องระวังนะคะ เพราะลูกอาจมี ภาวะสมองพิการ ค่ะ วันนี้เรามี 6 อาการบ่งบอกมาให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตดูค่ะ
สมองพิการ คืออะไร
พญ.ณิชา ลิ้มตระกูล กุมารแพทย์ด้านพฤติกรรม และพัฒนาการ ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้เผยแพร่ความรู้ไว้ว่า สมองพิการ (cerebral palsy) หรือที่นิยมเรียกตามตัวย่อว่า CP เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการบาดเจ็บอย่างถาวรในสมองที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวและท่าทาง โดยที่การบาดเจ็บในสมองนั้นจะต้องเป็นชนิดคงที่ไม่รุนแรงมากขึ้น
ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยเด็กสมองพิการมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยทารกแรกเกิดของแพทย์ที่มากขึ้น ทำให้ทารกแรกเกิดคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดสมองพิการ มีอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้น
ปัญหาและความผิดปกติที่อาจเกิดร่วม
- พิการด้านการเคลื่อนไหว และการเดิน
- ปัญหาการสื่อสาร ภาษา และการพูด
- ความบกพร่องทางสติปัญญา และการเรียนรู้
- สูญเสียการได้ยิน หรือการมองเห็น หรืออาจมีอาการตาเหล่ร่วมด้วย
- โรคลมชัก
- อารมณ์ และพฤติกรรมผิดปกติ
- กระดูกสันหลังมีความผิดปกติ
- มีปัญหามากกว่า 1 อย่างร่วมกัน
สาเหตุของเด็กที่มี ภาวะสมองพิการ
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนแต่ก็มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกได้
ความเสี่ยงตั้งแต่อยู่ในครรภ์
- ภาวะทารกตัวเล็กในครรภ์
- น้ำหนักแรกคลอดน้อย
- มีการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส โรคเริม โรคซิฟิลิส การ
- ติดเชื้อไวรัสซิกา การติดเชื้อไวรัสไซโตเมกะโลโวรัส โรคท็อกโซพลาสโมซิส เป็นต้น
- แม่ได้รับยา สารพิษระหว่างตั้งครรภ์
- เด็กในครรภ์มีปัญหาสมองขาดเลือด หรือผิดปกติ
- สมองเด็กพัฒนาไม่ดีในครรภ์
- แม่มีโรคประจำตัว เช่น ไทรอยด์ผิดปกติ ภาวะเลือดออกง่าย เป็นต้น
- การกลายพันธุ์ หรือความผิดปกติของพันธุกรรม ที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมอง
- อุบัติเหตุที่ทำให้สมองของทารกได้รับการกระทบกระเทือนตั้งแต่อยู่ในครรภ์
ความเสี่ยงระหว่างคลอด
- เด็กคลอดก่อนกำหนด
- มีปัญหาคลอดยาก
- มีความเสียหายต่อศีรษะ หรือกะโหลกศีรษะในระหว่างการคลอด
- มีภาวะเลือดออกในสมอง หรือสมองขาดออกซิเจนในช่วงแรกเกิด
ปัจจัยเสี่ยงหลังคลอด
- มีการบาดเจ็บ เลือดออกในสมอง
- ติดเชื้อของสมองภายหลังคลอด
- ภาวะตัวเหลือง
- โรคทางพันธุกรรม
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ
- การตั้งครรภ์ทารกแฝด หรือมีทารกในครรภ์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
- มารดาตั้งครรภ์ขณะมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
- หมู่เลือดอาร์เอชของมารดา และทารกไม่ตรงกัน
6 อาการที่สังเกตได้
พญ.ณิชา ได้ให้ข้อสังเกตของภาวะนี้ไว้ 6 อาการ ดังนี้
- มีพัฒนาการล่าช้า
- มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแขนขา ทำให้ไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้สะดวก แขนขาเกร็ง เดินได้อย่างยากลำบาก เดินปลายเท้าเขย่ง บางคนเกร็งมากจนทำให้เกิดความเจ็บปวด มีกระดูก และข้อผิดรูป อาจเกิดภาวะข้อเคลื่อน หรือข้อหลุดตามมาได้
- ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง อาจมีตัวอ่อนปวกเปียก ส่งผลให้ไม่สามารถทรงตัวในท่านั่ง ยืน หรือเดินได้
- การดูดกลืน, ดูดนม ทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เคี้ยวอาหารไม่ได้ และเสี่ยงต่อการสำลัก
- มีปัญหาด้านการพูด
- ความผิดปกติอื่น ๆ เช่น สติปัญญาบกพร่อง ความสามารถในการเรียนรู้ต่ำกว่าปกติ มีปัญหาการมองเห็น และการได้ยิน ปัญหาพฤติกรรม และอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า หรือมีอาการชัก ร่วมด้วย
แนวทางการบำบัดฟื้นฟู
เด็กสมองพิการมักจะมีปัญหาร่างกายหลายระบบร่วมกัน การรักษาจึงต้องอาศัยทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เพื่อป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อน และกระตุ้นพัฒนาการและศักยภาพของเด็กสมองพิการให้ได้สูงสุด ให้ดำรงชีวิตในสังคมได้ ซึ่งทำได้หลายวิธี ดังนี้
- กายภาพบำบัด
- กิจกรรมบำบัด
- อรรถบำบัด
- นันทนาการบำบัด
- การปรับปรุงวิธีรับประทานอาหาร
- การรักษาด้วยยา
- การผ่าตัด
- การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เสริมร่วมกับการรักษา
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลพญาไท, ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก