การตรวจสุขภาพเด็ก มีความจำเป็นต่อเด็กไม่แพ้ผู้ใหญ่ “เด็กมักจะมีสมุดสุขภาพประจำตัว และหมอจะนัดมาพบเพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำอยู่แล้ว นับเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากและเด็กทุกคนทั่วโลกต้องมี” คุณหมอสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวเปิดประเด็น เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพลูกน้อย
เด็กตรวจสุขภาพบ่อยแค่ไหน?
ลูกวัยทารกเป็นช่วงที่ยังไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยได้ด้วยตัวเอง กระทั่งเด็กวัยเตาะแตะหรือเข้าเรียนแล้ว การอธิบายว่ารู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายที่ใดบ้างก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี และเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่ที่จะเข้าใจได้ถูกต้องเช่นกัน คุณหมอจึงแนะนำให้พาเด็กมาพบคุณหมอทุกครั้งที่คุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติ และถึงแม้จะยังไม่มีอาการแสดงอย่างชัดเจน ก็ควรพามาตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคร้ายต่างๆ โดยพาลูกน้อยมาตรวจตามนัดหรือพาไปตรวจเมื่อลูกมีอายุครบตามกำหนดเวลา ดังนี้
1 เดือน > 2 เดือน > 4 เดือน > 6 เดือน > 9 เดือน > 12 เดือน > 15 เดือน > 18 เดือน > 2 ขวบ
หลังจาก 2 ขวบขึ้นไป คุณหมอแนะนำให้ตรวจสุขภาพปีละครั้ง เพื่อความมั่นใจ และหากลูกน้อยเจ็บป่วย จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที
Checklist 9 ข้อควรตรวจ : เมื่อตรวจสุขภาพลูก ไม่ควรพลาด!
1. ตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไปและการเจริญเติบโต
เช่น สัญญาณชีพ อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต ชีพจร การหายใจ น้ำหนัก ส่วนสูง และรอบศีรษะของทารกในช่วง 2 ปีแรก เนื่องจากเด็กมีการเจริญเติบโตและมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
2. ประเมินภาวะโภชนาการ
สามารถตรวจได้ทั้งจากการเจริญเติบโต สัดส่วนร่างกาย การประเมินผลจากอวัยวะส่วนต่างๆ และการเจะเลือด เพื่อพิจารณาว่าลูกน้อยได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอหรือไม่
3. ประเมินพัฒนาการด้านพฤติกรรมและอารมณ์
เนื่องจากพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยได้รับการประเมินจากคุณหมอ หากลูกน้อยมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า หรือมีปัญหาในเรื่องของพัฒนาการทางสมอง การได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเตาะแตะ (ก่อนเลยช่วงอายุ 3 ขวบ) ซึ่งสมองกำลังพัฒนาเต็มที่ จะสามารถทำการรักษาและช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงเด็กปกติได้ดีกว่า