4. ตรวจสุขภาพในช่องปากและฟัน
ลูก เบบี๋เพียง 1 ขวบคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถพาไปหาทันตแพทย์สำหรับเด็กได้แล้ว เนื่องจากเด็กในวัยนี้มีฟันหลายซี่และสามารถเคี้ยวอาหารด้วยตัวเองได้ การพาไปพบทันตแพทย์ คุณแม่จะได้รับคำแนะนำดีๆ ในการดูแลสุขภาพปากและฟันของลูกน้อย เพื่อป้องกันปัญหาฟันผุของลูกน้อยได้ด้วย
5. ตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์และภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน
การตรวจคัดกรองทั้งสองภาวะนี้ควรตรวจตั้งแต่แรกเกิด (ในช่วง 1-2 เดือนแรก) เนื่องจากภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์และภาวะพร่องเอนไซม์ หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ช่วงแรกเกิด จะทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นการพลาดโอกาสที่น่าเสียดายมาก
6. ตรวจคัดกรองภาวะซีดหรือภาวะการขาดธาตุเหล็ก
เป็นการตรวจเช็กความสมบูรณ์ของเลือด ในช่วงวัย 6-9 เดือน ซึ่งคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างการรับสารอาหารจากนมแม่เพียงอย่างเดียวและความต้องการของร่างกายที่ต้องการสารอาหารมากกว่านมแม่ เด็กในวัยนี้หากกินนมแม่เพียงอย่างเดียว หรือได้รับอาหารเสริมไม่เพียงพอเหมาะสม อาจขาดธาตุเหล็กซึ่งทำให้เกิดภาวะซีดได้
7. ตรวจการได้ยิน
เด็กควรได้ตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากการได้ยินสัมพันธ์กับการพูด หากเด็กบกพร่องในการได้ยิน จะส่งผลให้มีปัญหาไม่พูดหรือพูดช้าตามไปด้วย หากหมอตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ เด็กจะได้ใส่เครื่องช่วยฟังหรือมีการแก้ไขด้วยวิธีการอื่นๆ ให้เขาสามารถพูดได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับเด็กปกติ
8. ตรวจสายตา
เด็กควรได้รับการตรวจสายตาก่อนเข้าโรงเรียนหรือประมาณ 4-5 ขวบ เนื่องจากเป็นวัยที่เด็กเริ่มให้ความร่วมมือในการตรวจแล้ว และเพื่อให้เด็กมีสายตาที่ดี พร้อมสำหรับการเรียนรู้ให้ทันเพื่อนๆ ที่โรงเรียน หากเด็กมีปัญหาสายตาสั้น ยาว หรือเอียง โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขก่อนช่วงนี้ อาจเกิดปัญหา “ตาขี้เกียจ” ส่งผลให้สายตาพิการตลอดชีวิตได้ นอกจากนี้โรคทางสายตาอย่าง “มะเร็งจอประสาทตา” ก็เป็นโรคที่สามารถตรวจพบและอาจรักษาไม่ให้โรคลุกลามได้ในช่วงวัยทารก
9. ตรวจปัสสาวะ
คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกน้อยตรวจปัสสาวะสักครั้งเมื่ออายุ 4 ขวบ เพื่อคัดกรองโรคไตตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่แสดงอาการป่วยในวัยเด็ก แต่ส่งผลระยะยาวกับลูก