โรคอกบุ๋ม ร้ายแรงแค่ไหน? - Amarin Baby & Kids

โรคอกบุ๋ม ร้ายแรงแค่ไหน?

Alternative Textaccount_circle
event

Q: ลูกชายอายุ 1 ขวบ 4 เดือน  เป็นโรคอกบุ๋มมาตั้งแต่เกิด คุณหมอบอกว่าไม่เป็นอันตรายแต่อาจจะต้องระวังตอนเขาโต (สัก 7 -10 ขวบ) เพราะโครงกระดูกหน้าอกอาจจะไม่ขยายตามตัว แล้วไปกดปอดทำให้หายใจลำบาก เหนื่อย หอบซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องผ่าตัด พอจะรู้ข้อมูลโรคมาบ้าง แต่อยากขอความรู้จากคุณหมอท่านอื่นๆ บ้าง ดังต่อไปนี้

• โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคอกบุ๋ม (Pectus Excavatum) เป็นความผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาความผิดปกติของกระดูกหน้าอกและซี่โครง ลักษณะความผิดปกติคือ ซี่โครง 4 -5 คู่ล่าง และกระดูกกลางหน้าอกส่วนล่างไม่ขยายตัว (ตรงข้ามกับโรคอกไก่ ซึ่งมีลักษณะซี่โครงปูดออกมามากเกินไป) พบได้ 1 คนในการเกิดทุก 300 – 400 คน และพบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิง 3 เท่า

• สามารถตรวจรู้โรคนี้ตั้งแต่ในครรภ์ได้หรือไม่

การวินิจฉัยในครรภ์ทำได้ยากมาก การเจาะโครโมโซมไม่ช่วยในการวินิจฉัย การทำอัลตร้าซาวนด์ก็ดูยากมากค่ะ

อาการนี้บางคนพอจะเห็นได้ตอนแรกเกิด แต่บางคนเห็นชัดเมื่ออายุ 1 ขวบ และจะเป็นมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เพราะเป็นช่วงที่กระดูกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

รายที่อกบุ๋มเพียงเล็กน้อยไม่ต้องการการรักษาอะไร แต่ในรายที่บุ๋มยุบเข้าข้างในมากจะทำให้ช่องในทรวงอกเล็กลง ไปกดเบียดเนื้อปอดหรือหัวใจ ทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายเนื่องจากปอดขยายได้ไม่เต็มที่ หัวใจสูบฉีดเลือดได้ลดลง ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท จึงต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดขยายทรวงอก

บางกรณีต้องรักษา เพราะเด็กที่เป็นโรคนี้อาจมีปัญหาด้านจิตใจ รู้สึกอับอายหรือถูกเพื่อนล้อเลียน ไม่อยากไปโรงเรียนหรือทำกิจกรรมบางอย่างที่ต้องเปิดเผยรูปร่างเช่น การเล่นพละ หรือว่ายน้ำ

• โรคนี้ป้องกันได้หรือไม่คะ

ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคจึงไม่มีวิธีป้องกันและยังไม่พบรหัสพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุของโรค แต่บางครั้งพบซ้ำในครอบครัวเดียวกัน และพบในกลุ่มอาการบางโรค เช่น กลุ่มอาการ Marfan นอกจากนี้ อาจพบร่วมกับความผิดปกติอื่นของกระดูก เช่น กระดูกสันหลังคด ทำให้มีอาการปวดหลังหลังจากอายุ 3 ขวบค่ะ

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up