การสร้าง “ภูมิคุ้มกันทางใจ” ให้ลูก จะหล่อหลอมให้ลูกเติบโตขึ้นโดยไม่เป็นทั้ง “คนที่ทำร้ายคนอื่น” และ “เหยื่อที่ถูกทำร้าย” สำหรับในบทความนี้จะเน้นที่ “การอบรมและจัดการพฤติกรรมเด็ก” มีหลักอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ
1. อย่าลืมว่าความสัมพันธ์ที่ดีต้องมาก่อน
ไม่ว่าการอบรมหรือจัดการพฤติกรรมของลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องมีมุมที่อบอุ่นและเป็นมิตรกับลูก แต่ในบางครั้งที่จำเป็นคุณพ่อคุณแม่ต้องมีอำนาจสั่งการลูกและแสดงออกอย่างหนักแน่นและสม่ำเสมอ
2. การฝึกวินัยในเด็กเล็ก
คือ การทำอะไรสม่ำเสมอ เป็นตารางเวลาที่คาดการณ์ได้ โดยเริ่มได้ตั้งแต่ลูกอายุ 4 เดือน ควรจัดเวลากิน เวลานอน ให้เป็นที่เป็นเวลา เช่น
- เด็กทารกจะดูดนมแม่ ต้องมีผ้าคลุมก่อนจึงจะดูดได้
- เด็กที่เริ่มกินอาหารเสริม ควรนั่งกินที่โต๊ะอาหารเท่านั้น
- เด็กอายุ 1 ขวบที่เริ่มเดินได้ หากเขาจะดูดนม หรือถือขนมไว้ในมือ ควรจับเขานั่งก่อนทุกครั้ง
- เด็กที่โตขึ้น ฝึกให้เก็บของเล่นทุกครั้งที่เล่นเสร็จ
3. เข้าใจพัฒนาการทางสังคมอารมณ์ของลูก
เมื่อเขาเริ่มเป็นตัวของตัวเอง (เด็กอายุ 18 เดือน – 2 ขวบครึ่ง) และช่วงทดสอบ-ท้าทาย (อำนาจ) ของผู้ใหญ่ (เด็กอายุ 3 – 4 ขวบ) พ่อแม่ต้องฝึกฝนเทคนิคในการพูดกับลูก เช่น ให้ทางเลือกแทนการออกคำสั่งหรือบอกให้เขาทำ และควรบอกให้ลูกได้รู้ตัวก่อนเปลี่ยนกิจกรรม เช่น หยุดเล่นก่อน ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว แทนการสั่งให้เขาหยุดทันที
4. เข้าใจและยอมรับว่าทุกคนมีอารมณ์ลบได้
เช่น อารมณ์โกรธ หงุดหงิด เสียใจ ซึ่งเด็กจะแสดงสีหน้าท่าทางให้เห็นก่อนพูดได้เสียอีก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรรู้ว่าขณะที่ลูกมีอารมณ์เชิงลบ คือ โอกาสที่จะได้ใกล้ชิดและสอนลูก อย่าเบี่ยงเบนทั้งตัวลูกและตัวเรา อย่ากลัวหรือกังวลที่ต้องเผชิญกับช่วงเวลาดังกล่าว
5. รับฟังลูกอย่างเห็นอกเห็นใจ
แทนการคิดว่า “แค่นี้เองทำไมต้องโกรธ” “เรื่องนิดเดียวไม่เห็นต้องเสียใจเลย” และคุณพ่อคุณแม่ควรบอกให้ลูกรู้ว่าตอนนี้เขากำลังรู้สึกอย่างไร หากลูกพูดได้ ควรช่วยลูกหาคำพูดบรรยายความรู้สึกของตัวเอง