“กระดูกสันหลังคด” จะพบได้มากในช่วงที่ลูกเข้าสู่วัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่กระดูกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากจะส่งผลต่ออวัยวะภายในหากมีอาการรุนแรงแล้ว ในเด็กที่เป็นไม่มากก็ทำให้เสียบุคลิกได้ โดยเฉพาะลูกสาวที่มีโอกาสเป็นได้มากกว่า
“กระดูกสันหลังคด” เป็นอย่างไร
กระดูกสันหลังคด(Scoliosis) คือความพิการของกระดูกสันหลัง ซึ่งคดไปทางด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง หากมองภาพเป็น 3 มิติ กระดูกสันหลังจะโค้งไปด้านข้างและนูนมาด้านหลังด้วย เรียกได้ว่าเป็นลักษณะหลังค่อมร่วมกับหลังคดด้วย
บริเวณที่หลังคดส่วนใหญ่มักเกิดกับกระดูกสันหลังส่วนบน และสำหรับชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุมักจะโค้งไปทางด้านขวาประมาณ 70-80% หากหลังคดในตำแหน่งต่ำลงมา อัตราการคดไปทางด้านซ้ายหรือขวาจะใกล้เคียงกัน แต่หากเป็นในตำแหน่งต่ำลงมาอีกจะพบว่าคดไปทางซ้ายมากกว่า
ความรุนแรงของกระดูกสันหลังคดจะวัดได้จากมุมความคดซึ่งวัดเป็นองศา หากวัดแล้วได้มุมไม่เกิน 10 องศา ในทางการแพทย์ถือว่าปกติ ไม่จำเป็นต้องรักษา ความเป็นจริงแล้วมีผู้ที่เป็นกระดูกสันหลังคดรุนแรงจนต้องผ่าตัดในจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และอาการก็จะดำเนินไปเร็วกว่าผู้ชายด้วย
สาเหตุของกระดูกสันหลังคด
- ไม่ทราบสาเหตุผู้ป่วยราวร้อยละ 80 จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม หรือฮอร์โมนเมลาโทนินแบ่งออกเป็น 3 ช่วงอายุ ได้แก่
1) แรกเกิด – 1 ขวบ (Infantile Scoliosis)อาจหลังคดมาก แต่กระดูกสันหลังส่วนบนมักคดไปทางด้านซ้ายและหายได้เองภายในอายุ 1-3 ปี
2) อายุ 3-10 ปี (Juvenile Scoliosis)
3)อายุ 13-18 ปี(Adolescent Scoliosis)
- กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด เพราะกระดูกสันหลังโตไม่เท่ากัน หรือกระดูกติดกัน ไม่แบ่งเป็นช่วงตามปกติ
- เกิดจากโรคของกล้ามเนื้อ เช่น อัมพาตจากโปลิโอ แต่ปัจจุบันประเทศไทยแทบไม่มีผู้ป่วยโปลิโอแล้ว หรือเกิดจากโรคของกล้ามเนื้อโรคอื่นๆ
- เป็นผู้ป่วยโรคท้าวแสนปม 30% ของผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการกระดูกสันหลังคดด้วย
กระดูกสันหลังคดอาจเกิดจากการชดเชยอันเนื่องมาจากโรคบางอย่าง (Compensatory Scoliosis) เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเลื่อนไปกดทับเส้นประสาท หรือขายาวสั้นไม่เท่ากันซึ่งแก้ได้ด้วยการเสริมส้นรองเท้าให้พอดีกัน แต่กรณีนี้พบได้ไม่มาก ส่วนการนั่งผิดท่าหรือการนั่งหลังค่อมนั้นยังไม่มีการพิสูจน์แน่นอนว่าจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังคดหรือไม่ แต่อาจทำให้ปวดหลังได้