การ ล่วงละเมิดทางเพศ เป็นฝันร้ายที่พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเจอ แต่แค่ระวังคนแปลกหน้ายังไม่พอ มารู้จักโรคใคร่เด็ก อาการทางจิตที่แยกยากระหว่างคนรักเด็ก กับคนร้าย
โรคใคร่เด็ก≠(ไม่ใช่)รักเด็ก ลูกอาจถูก ล่วงละเมิดทางเพศ ได้ถ้าไม่ระวัง!!
โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) หากแปลตามตัวคือ รักเด็ก มีรากศัพท์มาจาก Pedos หรือ Pidos ในภาษากรีกที่แปลว่า “เด็ก” ส่วน Philia แปลว่า “ชอบหรือรัก” เมื่อรวมกันแล้ว จึงแปลว่าชอบหรือรักเด็ก ซึ่งรักในที่นี้ไม่ใช่ความรักแบบเมตตาอาทร หรือปรารถนาดี แต่เป็นความหมายในทางลบที่บ่งบอกถึงภาวะความผิดปกติทางจิตของตัวบุคคลที่เป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก จึงเป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ใหญ่มักเกิดความรู้สึกเร้าอารมณ์ทางเพศเมื่อได้เห็นหรือสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กที่ยังมีอายุไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ โดยทั่วไปหมายถึงเด็กที่อายุไม่เกิน 13 ปี แต่กลับไม่มีความต้องการทางเพศหรือเกิดความรู้สึกหลงใหล และมีความสุขเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่หรือคนในวัยใกล้เคียงกัน
“ใคร่เด็ก” กับ “รักเด็ก” ไม่เหมือนกัน
อาการของโรคใคร่เด็ก เป็นความผิดปกติทางจิต ดังนั้นพฤติกรรมที่แสดงออกจึงไม่ใช่การแสดงความรักแบบเมตตาอาทร แต่คือความรู้สึกปรารถนาจะมีสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กที่มีอายุน้อยกว่าตนเองมาก และจะต้องเป็นเด็กที่อยู่ในวัยยังไม่บรรลุนิติภาวะ เฉลี่ยแล้วคือประมาณ 12-13 ปี นั่นคือเด็กที่ยังไม่เข้าสู่วัยรุ่น หรือวัยรุ่นแรกเริ่ม แต่ก็มีอยู่เหมือนกันที่เหยื่อเป็นเด็กที่ยังอายุน้อยมาก ๆ ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ อย่างเด็กประถม เด็กอนุบาล และเด็กทารก ทั้งนี้ทั้งนั้นความปรารถนาทางเพศของผู้ป่วยจะค่อนข้างเฉย ๆ กับคนวัยใกล้เคียงกัน หรือคนที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
ลักษณะอาการเหล่านี้ที่พ่อแม่ควรระวัง!!
- โรคใคร่เด็ก ส่วนใหญ่พบในผู้ชายที่อยู่ในวัยตั้งแต่ประมาณ 35-40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่แต่งงานแล้วหรือมีบุตรแล้วด้วย (บางคนจึงใช้บุตรของตัวเองเป็นเหยื่อ) สามารถพบผู้ป่วยเป็นเพศหญิงด้วยเหมือนกันแต่น้อยกว่า โดยเราอาจจะเคยเห็นข่าวที่มีผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงข่มขืนกระทำชำเราเด็กชาย อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคใคร่เด็กที่เป็นเพศชายก็ไม่ได้ล่วงละเมิดแค่เด็กผู้หญิงเพียงอย่างเดียว เพราะพวกเขาสามารถล่วงละเมิดเด็กผู้ชายได้ด้วยเหมือนกัน
- ร้อยละ 50-80 % เกิดจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิด บ่อยครั้งผู้ก่อเหตุเป็นบุคคลใกล้ตัวเด็กเอง เพราะเมื่อเด็กเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ อยู่ใกล้ชิดกัน ก็ยิ่งทำให้ผู้ก่อเหตุปรารถนาจะระบายความใคร่กับเด็ก ที่สำคัญผู้ป่วยโรคนี้จะค่อนข้างสังเกตอาการจากภายนอกได้ยาก เนื่องจากมักจะไม่แสดงพฤติกรรมที่ชัดเจน ภายนอกพวกเขาจะดูเหมือนคนปกติทั่วไป
- ตีสนิทเด็ก เพื่อหวังผลทางเพศ โดยเริ่มจากความเอ็นดู แต่หลังจากนั้นจะเริ่มพยายามเข้าใกล้เด็กให้มากขึ้น ด้วยวิธีการตีสนิท หลอกล่อ ให้รางวัล ให้ขนม หรือให้เงิน เพื่อให้เด็กเชื่อใจ จนในที่สุดก็สนองความต้องการทางเพศของตัวเองได้ โดยทั่วไปเด็กมักจะถูกลวนลาม กอดจูบลูบไล้ ถูกบังคับหรือจับเปลือยกาย ไปจนถึงการร่วมเพศ
- มีบุคลิกภาพแบบอันธพาล (Sociopath) ก้าวร้าว โรคใคร่เด็กอาจแบ่งเป็นสองประเภท คือ รายที่มีอาการไม่มากมักสัมพันธ์กับการควบคุมอารมณ์และการยับยั้งชั่งใจที่ทำได้ดี สามารถใช้ชีวิตและมีความสัมพันธ์ทางเพศได้ตามปกติ แต่มักมีจินตนาการที่นึกถึงความสัมพันธ์กับเด็กแล้วทำให้เกิดความตื่นเต้นและพึงพอใจ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้เรามักพบว่ามีบุคลิกภาพแบบชอบเก็บตัว ไม่มั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก ตื่นเต้นง่าย ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่มีอาการรุนแรงจะไม่สนใจ และไม่สามารถมีความสุขทางเพศกับคนในช่วงวัยเดียวกันได้เลย โดยเฉพาะในรายที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ก็มีความเสี่ยงที่จะกระทำการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กได้มากขึ้น หลังจากที่สามารถสนองความใคร่ของตนเองได้แล้ว ผู้ป่วยบางรายไม่หยุดเพียงเท่านั้น แต่อาจทำร้ายเหยื่อจนบาดเจ็บ ถูกข่มขู่ให้เก็บเป็นความลับ บางรายต้องทนเป็นเหยื่ออยู่นานตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น ซึ่งกว่าจะมีคนรู้เรื่องก็คือตั้งครรภ์ เพราะเด็กเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และเหยื่อบางรายก็ถูกฆ่า
- บุคคลที่ป่วยเป็นโรคใคร่เด็กนี้ ส่วนใหญ่เก็บกดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมในวัยเด็ก จนเป็นความบกพร่องทางบุคลิกภาพ วัยเด็กเขาอาจเผชิญกับความรุนแรงตั้งแต่เยาว์วัย เช่น ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ถูกข่มเหงรังแก ยังรวมถึงการที่ถูกบังคับขู่เข็ญให้อยู่ในกรอบจนกดดัน ทำให้เติบโตขึ้นมามีบุคลิกภาพที่ผิดปกติจากเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้นมาแล้ว ด้วยสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ ทำให้เขาเกิดความรู้สึกต้องการที่จะชดเชยบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปในวัยเด็ก หรือความรู้สึกทุกข์ทรมานต่าง ๆ ที่เคยได้รับ พอเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เติบโตพอที่จะไม่อยู่ในฐานะของผู้ที่ด้อยกว่า หรือเหยื่ออีกต่อไปแล้ว จึงกลายเป็นผู้กระทำเสียเอง
ติดอาวุธให้ลูกด้วย 8 วิธีสอนให้ลูกทันภัยร้าย
1. ให้เวลากับลูกให้มากขึ้น
วิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน เป็นสาเหตุให้คนในครอบครัวมีเวลาให้แก่กันและกันน้อยลง แม้ว่าจะอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน แต่ความใกล้ชิดกลับถูกแยกออกจากกันด้วยกิจกรรมที่ต่างคนต่างทำ เช่น การใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนมากกว่าการได้นั่งพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูก เป็นต้น ดังนั้นพ่อแม่ควรมีความใกล้ชิด หาเวลาใส่ใจ รับรู้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของลูก รู้ว่าเขาติดต่อกับใครบ้าง ความสัมพันธ์เป็นแบบใด เพื่อเป็นการลดโอกาสที่คนคิดร้ายจะเข้ามาล่อลวงลูกได้
2. สอนลูกว่าการแสดงความรักไม่ได้มีแค่การกอด
สถานการณ์ปัจจุบันนอกจากเรื่องโรคติดต่อที่กำลังระบาด ทำให้การสัมผัสระหว่างกันเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังแล้ว ยังดีต่อการสอนลูกในเรื่องการระวังตัวจากภัยถูกล่วงละเมิดทางเพศได้อีกด้วย แม้ว่าการแสดงความรักระหว่างกันมักใช้การกอดเพื่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น รู้สึกดี แต่ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่านอกจากการกอด ก็ยังคงมีการแสดงความรักในรูปแบบอื่นด้วย เช่น การพูดแสดงความห่วงใย การถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ เป็นต้น ดังนั้นหากมีคนมาขอกอด หรือเข้าใกล้ตัว ลูกสามารถปฎิเสธได้ และไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด เราควรสอนให้ลูกรู้จักที่จะระมัดระวัง และปฏิเสธถึงแม้จะเป็นคนรู้จักก็ตามที
3. การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา
พ่อแม่ไม่ควรไว้ใจ หรือวางใจในบางสถานที่ ที่เราคิดว่าปลอดภัย เพราะสถิติเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับสถานที่ที่เด็กไปเป็นประจำ คนคุ้นเคยที่ไว้ใจ และไม่ได้เกิดเพียงแค่ช่วงเวลากลางคืน เช่น โรงเรียน บ้านเพื่อน หรือสถานที่ที่คนพลุกพล่าน
4. สอนลูกให้รู้จักเรื่องเพศบ้างตามวัยของเขา
เด็กสมัยก่อนมักถูกห้ามพูดคุยถึงเรื่องเพศ หรือแม้แต่การตั้งชื่ออวัยวะเพศเป็นคำที่น่ารัก ๆ เพื่อเลี่ยงการพูดถึง แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เขารู้จักเพศศึกษาในขอบเขตความรู้เรื่องเพศตามวัยของลูกบ้าง เพื่อมิให้ลูกถูกคนที่มีเจตนาไม่ดีหลอกไปล่วงละเมิดได้ ให้ลูกได้รู้จักและสำรวจร่างกายของตัวเอง โดยไม่รู้สึกผิด หรือคิดว่าอวัยวะเพศเป็นสิ่งต้องห้าม เช่น ในบางบ้านที่หลอกลูกว่าอวัยวะเพศมีสัตว์ร้าย ห้ามใครมาแตะต้อง โดยลืมไปว่าคำขู่นั้นก็ทำให้เด็กกลัวด้วยเช่นกัน และมักเป็นคำขู่ที่ผู้ไม่หวังดีจะใช้เพื่อขู่ไม่ให้เด็กบอกใคร เช่น ถ้าหนูบอกแม่ แม่จะต้องโกรธหนูแน่ เป็นต้น จึงควรสอนลูกตามความเป็นจริง สอนว่าอะไรคืออะไร สิ่งไหนควรหวงแหน และไม่ให้ใครมาก้าวก่ายได้
5. สอนลูกว่าเขามีสิทธิ์ในร่างกายของตัวเอง
หากมีใครมาล่วงเกิน หรือล่วงล้ำเข้าในส่วนที่ไม่ควร เขาสามารถปฎิเสธได้ สอนให้ลูกรู้จักพูดว่า “ไม่” เพื่อไม่ให้ใครมาสัมผัส ไม่ว่าจะเวลาใด กับใคร จะรู้จักหรือไม่ก็ตาม เพราะลูกมีสิทธิในร่างกายของตนเองเต็มที่
6. ไม่กล่าวโทษเหยื่อ เวลาเจอข่าวถูกทำร้าย ล่วงละเมิดทางเพศ
ในบางครั้งเราจะเจอะเจอว่าเมื่อมีข่าวคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ จะมีผู้คนออกมากล่าวโทษว่าเป็นเพราะเหยื่อแต่งกายไม่สุภาพ เลยทำให้ตกเป็นเหยื่อได้ หรือการตั้งข้อสงสัยว่าสาเหตุมาจากเหยื่อเอง การที่ลูกได้ยินอาจทำให้เวลาลูกเจอปัญหามา จะไม่กล้าเล่าเรื่องราวให้เราฟัง
7. ระมัดระวังในคำพูดถามไถ่
หากโชคร้ายเกิดเหตุการณ์ไม่ดีกับลูกขึ้นมา พ่อแม่ควรระมัดระวังในการถามไถ่ หรือให้ลูกได้รับการถูกสอบสวนอย่างหนัก และไม่ควรที่จะได้รับการบอกเล่าเรื่องนี้อย่างโจ้งแจ้งด้วย เพราะจะทำให้เขารู้สึกมีมลทิน และรู้สึกมีความผิด ไม่รักตัวเองต่อไปในอนาคตได้นั่นเอง
8. สอนให้ลูกรู้จักฟังสัญชาตญาณของตนเอง
นั่นคือ การสอนให้เขาเคารพในความรู้สึกของตนเอง ไม่ควรแต่คิดจะเกรงใจผู้ใหญ่ สอนวิธีที่ถูกต้องเวลาที่เขาจะหลีกเลี่ยงในสิ่งที่เขารู้สึกไม่ดี ไม่อยากทำจากผู้ใหญ่ เพราะนั่นคือ สัญชาตญาณของมนุษย์ที่รับรู้ได้ถึงความไม่ปลอดภัยนั่นเอง
ภัยร้ายมีอยู่รอบตัวหากเราประมาท ดังนั้นการรู้จักสอนลูกให้ระมัดระวังในร่างกายของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญสิ่งแรกที่เราต้องปลูกฝังให้ลูกรู้จักรับผิดชอบในตัวเอง สร้างความฉลาดในการเผชิญปัญหาให้แก่ลูก (AQ) ก็จะเป็นการช่วยป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับเขาได้อีกทาง นอกจากการเฝ้าดูแลของพ่อแม่เพียงทางเดียว นอกจากการสอนให้เขารู้จักป้องกันตัวเองแล้ว หากโชคร้ายเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เราสามารถรับรู้เรื่องราวได้เสียแต่เนิ่น ๆ ก็จะเป็นการช่วยระงับเหตุร้ายร้ายที่อาจเกิดตามมาต่อจากการถูกล่วงละเมิดได้ หรือการเข้าช่วยเหลือลูกได้ทันท่วงทีก่อนที ก็คงจะดีกว่าให้เขาเผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง วันนี้ทางทีมแม่ ABK ได้นำสัญญาณในการบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกมาให้พ่อแม่ได้คอยสอดส่องดูแลลูกกัน ดังนี้
สัญญาณบอกเหตุเมื่อลูกถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- มีรอยฟกช้ำตามร่างกาย
- หวาดกลัว ตกใจง่าย วิตกกังวล
- นอนไม่หลับ ฝันร้าย
- เก็บตัว ไม่กล้าสู้หน้าคนอื่น
- ก้าวร้าว
- ไม่อยากกลับบ้าน ไม่ยอมไปโรงเรียน
- หมกหมุ่นเรื่องเพศมากเกินไป
- ซึมเศร้า
- ทำร้ายตัวเอง
- น้ำหนักตัวลดลง ไม่อยากกินอาหาร
โรคใคร่เด็ก แม้จะเป็นรสนิยมทางเพศที่เป็นปัญหาต่อสังคมก็ตามที แต่ก็นับว่าเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่สามารถรักษาหายได้ ดังนั้นการพบเห็นผู้ที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคดังกล่าว เราไม่ควรไปรังเกียจ หรือกล่าวโทษเขาจนเกินความจริง กับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้ก่อเหตุอาชญากรรมใด ๆ แต่หากเราเข้าใจและไม่ประนามผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะทำให้เขากล้าที่จะออกมา และรักษาตัว ปรับพฤติกรรมให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม ก็จะเป็นการช่วยทำให้ลดโอกาสที่เด็กจะถูกล่วงละเมิดลงไปได้เสียอีกด้วย เมื่อคนที่เป็นโรคใคร่เด็กยอมรับในตัวเองและยอมออกมารักษาตัวกันมากขึ้น บางทีปัญหาโรคใคร่เด็กในสังคมเราอาจจะเบาบางลงก็เป็นได้ และทำให้สังคมของเราปลอดภัย และน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก today.line.me / sanook.com/mgronline.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่