คุณพ่อ คุณแม่อาจจะสงสัย ว่า ลูกน้อยฟันผุ จะเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจได้อย่างไร ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโรคหัวใจกันก่อน โรคหัวใจสามารถแบ่งออกเป็น โรคหัวใจแต่กำเนิด กับโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง อาจมีความรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น ถ้ารักษาไม่ถูกวิธี หรือไม่มีอาการ
น.พ.อิทธิชัย วัชรีคุปต์ แพทย์สาขาอายุรกรรมทั่วไป โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท กล่าวว่า เมื่อฟันผุจนถึงขั้นเหงือกอักเสบ เชื้อที่อาศัยอยู่บริเวณเหงือกที่อักเสบอาจสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัว เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก ทำให้เกิดการอักเสบที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดสมองตีบหรือตันด้วย เนื่องจากลิ่มเลือดอาจลอยไปตามกระแสเลือดไปอุดบริเวณใดก็ได้ ถ้าไปอุดตันที่เส้นเลือดหลักที่ไปเลี้ยงสมองก็อาจก่อให้เกิดเป็นอัมพาต
เชื้อดังกล่าวอาจเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้นจนลิ้นหัวใจอักเสบ ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง
ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ไม่สามารถทราบได้ว่าลูกน้อยเป็นโรคหัวใจหรือไม่ การดูแลสุขภาพปากและฟัน จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพราะปากเป็นช่องทางผ่านของอาหาร เป็นที่ซ่อนตัวของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพราะเกิดจากการแปรงฟันไม่ถูกวิธี การถอนฟัน หรือการตัดต่อมทอนซิล เป็นต้น เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดไปถึงหัวใจ คนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ และมีความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะเข้าไปผสม และทำให้เกิดก้อนติดเชื้อที่หัวใจ
ก้อนติดเชื้อจะแพร่โรคกระจายไปอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ไต ม้าม สมอง และอาจทำให้ผนังหัวใจส่วนที่บางทะลุได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน