ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะนมแม่ไม่พอ?
หากลูกเป็นเด็กผอมบาง และกำลังกินนมแม่อยู่ มักถูกโทษว่าน้ำนมแม่ไม่พอ บังคับให้แม่เปลี่ยนเป็นนมผง เมื่อคุณแม่ได้ฟังคำวิจารณ์บ่อยๆ ก็เริ่มคล้อยตาม ทำให้หยุดให้นมแม่เร็วเกินไป ผลที่ตามมาคือลูกเริ่มป่วยบ่อย น้ำหนักตัวก็ยิ่งแย่ลง ตามธรรมดาแล้วสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนโลกใบนี้มีความหลากหลายทั้งสิ้น ทั้งเรื่องของน้ำหนักตัว ความสูง หรือระดับสติปัญญา ดังนั้นไม่ว่าลูกจะกินนมวัว นมถั่ว นมแพะ หรือนมแม่ มีโอกาสที่จะมีน้ำหนักมาก น้ำหนักน้อย หรืออยู่ที่ค่าเฉลี่ยได้ทั้งนั้น
ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะพันธุกรรม?
พ่อแม่แต่ละครอบครัวมีต้นทุนด้านพันธุกรรมเรื่องการเติบโตที่แตกต่างกัน ลูกมักจะมีรูปแบบการเติบโตเหมือนพ่อแม่และมักดีกว่า เพราะความรู้ทางด้านโภชนาการยุคใหม่ดีกว่ายุคเก่า เพียงแต่ว่าพ่อแม่ต้องระวังเรื่องการเลี้ยงดู อย่าทำให้ลูกเข้าใจผิดๆ ว่ายิ่งกินเยอะยิ่งดี จนกลายเป็นโรคอ้วน
ผลการศึกษาวิจัยกล่าวว่า หากอ้วนหรือท้วมตั้งแต่เด็กจะเสี่ยงกับโรคอ้วนเมื่อโตขึ้น และเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ มากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคมะเร็งบางชนิด หากวัยรุ่นอ้วนจะทำให้เป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วเกินไป กระดูกหยุดโตเร็ว จึงตัวเตี้ยกว่าที่ควรจะเป็น ค่านิยมเรื่องน้ำหนักตัวของเด็กดูเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงยาก และโรคอ้วนจัดเป็นโรคระบาดในสังคม เนื่องจากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่เห็นลูกของคนข้างบ้านอ้วน ก็รู้สึกเสียหน้าว่าลูกเราตัวเล็กกว่าทั้งๆ ที่อายุใกล้เคียงกัน มีความรู้สึกอยากแข่งขัน จึงพยายามขุนให้ลูกอ้วนแบบเดียวกัน และสังคมยังขาดการรณรงค์ให้ทราบถึงอันตรายของโรคอ้วนในเด็ก ยิ่งเลี้ยงให้ลูกอ้วนจ้ำม่ำยิ่งดูน่ารัก หากใครเลี้ยงลูกแล้วดูผอมเก้งก้าง มักถูกพูดให้ช้ำใจว่าเลี้ยงลูกอย่างไรตัวผอมนิดเดียว น้ำหนักขึ้นน้อยจัง ทั้งๆ ที่ขึ้นตามเกณฑ์อยู่แล้ว
เครดิต: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
เกณฑ์มาตรฐานเด็กอายุ 0-5 ขวบ
เครดิตภาพ: ศุภนิดา อินยะบุตร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร