ยาน้ำ
- ไม่ควรเป็นอาหารมื้อหลักที่เด็กจำเป็นต้องทาน เนื่องจากรสชาติอาหารที่เปลี่ยนไปอาจทำให้เด็กไม่กินอาหารเหล่านั้นอีก
- ยานั้นต้องไม่มีข้อห้ามในการกินร่วมกับยาอื่นๆ เช่น ยาฆ่าเชื้อบางชนิด ห้ามกินร่วมกับนม
- ปริมาณของน้ำหวาน หรืออาหารที่ใช้ผสมยาจะต้องไม่มากเกินไป เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กสามารถกินได้หมด
- มีอุณหภูมิเหมาะสม(ไม่สูงเกินอุณหภูมิห้อง) เพื่อป้องกันการเสื่อมสลายของตัวยา
ยาเม็ด หรือแคปซูล
หากยาไม่มีข้อห้ามในการบด สามารถบดเม็ดยา หรือเปิดแคปซูล แล้วผสมผงยาลงในน้ำหวานหรืออาหารได้เช่นเดียวกับกรณีของยาน้ำ หรือตักอาหารนุ่มๆ ที่เด็กชอบด้วยช้อน แล้วโรยผงยาลงบนผิวหน้า ก่อนนำไปป้อนให้เด็กทาน วิธีนี้จะช่วยให้ยาสัมผัสกับลิ้นได้น้อยลง การรับรสยาของเด็กก็จะลดลงไปด้วยค่ะ
นอกจากการปรับรสชาติยาแล้ว ท่าทีคนป้อนก็มีส่วนสำคัญและช่วยให้เด็กกินยาได้ง่ายขึ้นนะคะ การที่จะตั้งหน้าตั้งตาป้อนยาให้เสร็จอย่างรวดเร็วคงทำได้ยาก เพราะเด็กวัยนี้จะห่วงเล่น หากยอมให้ลูกเล่นไปด้วย ป้อนยาไปด้วย เด็กจะยอมรับยาได้มากขึ้น
สิ่งสำคัญในการป้อนยาลูก คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น อดทน ค่อยๆ ป้อน ข้อสำคัญคือ ต้องสร้างความรู้สึกที่ดี ชมเชยเมื่อเด็กร่วมมือได้บ้าง อาจอธิบายเหตุผลง่ายๆ ว่าทำไมต้องกินยา หากมีการขู่บังคับเด็กจะขัดขืนมาก ทำให้ป้อนยาไม่ได้ หรืออาจจะสำลักยาเข้าปอดหรืออาเจียนได้ค่ะ
วิธีเก็บรักษายา
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เรื่องเกี่ยวการเก็บรักษายา ควรเก็บในที่ที่พ้นมือเด็ก ห่างไกลแสงแดดและความชื้น เพราะหากเด็กชอบรสชาติยาที่กิน อาจเกิดอันตรายจากการที่เด็กหยิบยาไปกินเองจนได้รับยาเกินขนาดได้ค่ะ และตรวจสอบอายุของยาทุกครั้งก่อนหยิบใช้ โดยควรเก็บยาที่หมดอายุก่อนไว้ด้านหน้าและหยิบใช้ก่อน ส่วนยาที่หมดอายุทีหลังจะเก็บไว้ด้านใน และควรตรวจสอบอายุยาอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มียาหมดอายุค้างอยู่ในตู้ยา
ส่วนการที่หลายๆ บ้านมักเก็บยาที่เปิดใช้แล้วไว้ในตู้เย็นนั้น ต้องบอกว่าอาจจะเหมาะกับยาบางชนิดเท่านั้น เช่น ยาปฏิชีวนะที่ผสมน้ำแล้ว ซึ่งจะใช้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ยาบางชนิด เช่น ยาน้ำเชื่อมอาจจะไม่เหมาะที่จะเก็บในตู้เย็น เพราะจะเกิดการตกตะกอน และทำให้ยาเปลี่ยนสภาพได้ ดังนั้นขอให้ดูฉลาก รวมถึงมีข้อควรระวังในกรณีที่เก็บยาไว้ในตู้เย็น คือ ต้องไม่วางยารวมไว้กับขวดน้ำดื่ม เพราะเด็กอาจหยิบยาไปกินด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ได้ และหากมีปัญหาเรื่องยา ไม่เข้าใจวิธีใช้ โปรดปรึกษาเภสัชกร
ข้อห้ามในการป้อนยาลูก
- อย่าผสมยาลงในขวดนมการผสมยาลงในขวดนม เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากแคลเซียมในนมอาจจับกับยาบางชนิด ทำให้ยาไม่ออกฤทธิ์ อีกปัญหาที่อาจเกิดตามมาก็คือ หากเด็กกินนมไม่หมดในครั้งเดียวก็จะทำให้เด็กได้รับยาไม่ครบตามขนาดที่ควรได้รับ ยิ่งไปกว่านั้น หากยาทำให้นมมีรสชาติเปลี่ยนไป เด็กก็อาจจะไม่ยอมกินนม กลายเป็นปัญหาสองต่อ ดังนั้นอย่าผสมยาในนมเด็ดขาด หากต้องการผสมให้ใช้น้ำหวานหรือน้ำผึ้งแทน
- อย่าผสมยาไว้ในอาหารหรือน้ำโดยที่ลูกไม่รู้ และอย่าแกล้งบอกลูกว่ายามีรสหวาน ถ้ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริง เพราะลูกจะไม่ไว้ใจที่จะกินอีก
- ให้ป้อนยาทีละขนาน ในกรณีที่เด็กได้รับยาหลายขนาน คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านอาจผสมหรือบดยาทุกชนิดรวมกัน แล้วป้อนเด็กในครั้งเดียวเพื่อความสะดวก ทั้งๆ ที่อาจจะทำให้รสชาติและสีของยาเปลี่ยนไปจนเด็กไม่ยอมกิน ยิ่งกว่านั้นอาจทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของยาเปลี่ยนไป หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เช่น อาจทำให้ยามีฤทธิ์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตราย หรือมีฤทธิ์ลดลง ซึ่งจะให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรป้อนยาให้ลูกทีละชนิดจะปลอดภัยกว่า
- หากลูกอาเจียนควรให้ยาซ้ำหรือไม่ ในขณะป้อนยา หากเด็กกำลังร้องไห้อาจทำให้เกิดการสำลักหรืออาเจียนยาออกมาได้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเกิดความสงสัยว่า จะต้องป้อนยาให้ลูกซ้ำหรือไม่ เพราะหากป้อนซ้ำก็กลัวลูกจะได้รับยามากเกินไป หากไม่ป้อนลูกก็อาจจะได้รับยาไม่ครบ จึงอยากแนะนำให้ยึดหลักการง่ายๆ คือ หากป้อนยาแล้วลูกอาเจียนทันที ก็ให้ยาซ้ำได้ แต่หากให้ยาแล้วลูกไม่อาเจียนทันที ก็ให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลย ไม่ต้องป้อนซ้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กได้รับยาเกินขนาด
- อย่าบังคับลูกให้กินยาจนลูกรู้สึกเหมือนเป็นการลงโทษ
ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื่อว่าจากเทคนิคการป้อนยาเจ้าตัวเล็กและข้อควรระวังที่ Amarin Baby & Kids ได้แนะนำมาข้างต้น น่าจะช่วยลดปัญหาในการที่เจ้าตัวเล็กวิ่งหนี หรือแอบไปซ่อนตัวเมื่อถึงเวลาต้องทานยาได้อย่างแน่นอน ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุก ๆ ท่านค่ะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- อาหารแก้หวัด 13 ชนิด! เพิ่มภูมิต้านทานให้กับลูกน้อย
- วิธีคำนวณปริมาณยาลดไข้เด็ก ที่ถูกต้อง
- ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ควรรู้!
- ควรทำ vs ไม่ควรทำ เมื่อลูก ชักเพราะไข้สูง
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านทารกแรกเกิด และข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจาก : www.healthtoday.net , www.healthandtrend.com