Q: ลูกวัยขวบกว่ามักตื่นขึ้นมาร้องไห้กลางดึก เป็นเพราะตอนกลางวันเล่นมากไปจนกระทั่งฝันร้ายใช่หรือเปล่า และจะช่วยเขาอย่างไรดี
เป็นไปได้ค่ะ การตื่นขึ้นมาร้องไห้ตอนกลางดึกเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
1. ฝันร้าย เพราะเล่นมากเกินไป
ขาดแบบแผนในการนอน หรือขาดระบบระเบียบในการดำเนินชีวิตประจำวัน การปล่อยให้ลูกเล่นมากเกินไปโดยไม่ได้นอนกลางวัน เพราะคิดว่าถึงตอนกลางคืนจะได้หลับเต็มที่ อาจให้ผลตรงกันข้าม คือลูกหลับไม่สนิทและตื่นบ่อย
วิธีแก้ไข คือ อย่าให้ลูกเล่นจนเหนื่อยเกินไป จัดเวลานอนกลางวันให้เหมาะสม ให้ทำกิจกรรมช่วงก่อนนอนที่ไม่โลดโผนตื่นเต้น พาลูกเข้านอนให้ตรงเวลาและเป็นแบบแผน เช่น อาบน้ำแปรงฟันเสร็จ ใส่ชุดนอน ฟังนิทาน แล้วปิดไฟนอน และให้ลูกนอนเอง อย่าอุ้มจนหลับ หากลูกไม่นอนในทันทีก็ปล่อยให้อยู่บนเตียงคนเดียวไปเรื่อยๆ ถ้าร้องไห้ก็ไม่ต้องอุ้ม แต่อยู่ข้างๆ และพูดกับลูกว่า หลับซะลูก พรุ่งนี้พบกันใหม่
2. การเจ็บป่วย
- เป็นหวัด หรือเป็นภูมิแพ้ ทำให้คัดจมูก หายใจไม่ออก หรือคันตามผิวหนัง ทำให้นอนหลับไม่ดีและตื่นบ่อย แก้ไขโดยให้ยาช่วยลดอาการคัดจมูก หรือรักษาอาการภูมิแพ้
- ปวดเหงือก เพราะฟันจะขึ้น แก้ไขโดยให้ยาแก้ปวดหรือทาเจลแก้ปวด
- เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ แก้ไขโดยให้ยาแก้ปวดและพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
- ปวดท้อง เพราะอาหารไม่ย่อยหรือแพ้อาหารบางอย่าง
3. ตื่นแล้วหลับเองไม่เป็น
เด็กๆ เคยตื่นกลางดึกแทบทุกคน บางคนหลับต่อเองได้ แต่บางคนหลับเองไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้ถูกฝึกให้หลับเองตั้งแต่เล็ก เคยชินกับการที่คุณแม่อุ้มจนหลับคามือหรือคาเต้า ไม่ได้ปล่อยลงเตียงขณะที่รู้สึกเคลิ้มๆ เพื่อให้หลับต่อเอง ทำให้ไม่ชินกับการหลับด้วยตัวเอง (วัยที่เหมาะสำหรับการฝึกคือช่วงอายุ 4 – 5 เดือน)
บางคนเคยหลับได้ตลอดคืน แต่มีเหตุบางอย่างทำให้ตื่นกลางดึก เช่น ไม่สบายแล้วได้เล่นกับพ่อแม่ในรอบดึกหรือได้ดูดนม เลยติดใจตื่นทุกคืน วิธีแก้คือ เลิกทำในสิ่งที่ลูกต้องการ แล้วเขาก็จะกลับไปนอนยาวตลอดคืนได้
ตอนนี้ลูกของคุณแม่อายุขวบกว่าแล้ว การแก้ไขมี 2 วิธี
1. ปล่อยให้ร้องแบบหักดิบ
โดยแยกห้องนอนหรือหาม่านมากั้นไม่ให้เห็นแม่ พอตื่นเขาจะร้องประมาณ 1 ชั่วโมงในคืนแรก คุณแม่แอบดูได้ว่าลูกไม่เป็นอะไรแน่ๆ แต่อย่าให้เห็นว่าแอบดูอยู่ เพราะเขาจะโกรธมากขึ้น ในที่สุดเขาจะผล็อยหลับไปเองด้วยความเหนื่อยอาจหลับได้จนถึงเช้า หรือมีต่ออีก 1 – 2 รอบในคืนนั้นก็ไม่ต้องตกใจ เพราะไม่มีอันตรายจากการร้องไห้มากจนไม่สบายแน่นอน
ไม่ต้องกลัวว่าวิธีนี้จะกระทบกระเทือนจิตใจลูกจนเสียขวัญนะคะ เพราะคุณแม่ชดเชยได้โดยให้ความใกล้ชิดและความอบอุ่นอย่างเต็มที่ในช่วงกลางวัน คืนที่สองก็ทำแบบเดิม คืออย่าปรากฏตัวให้ลูกเห็น ส่วนใหญ่เขาจะร้องสั้นลง และเห็นผลภายใน 3 – 4 วัน คือตื่นแล้วหลับต่อเองได้
2. ค่อยเป็นค่อยไป
แม่เดินเข้าไปหาได้หลังจากลูกร้องประมาณ 5 นาที อย่าอุ้มลูก ให้นั่งอยู่ข้างๆ แล้วลูบหลังเบาๆ บอกว่าแม่อยู่นี่ หลับซะลูก ฮัมเพลงเบาๆ นาน 5 นาที แล้วออกจากห้อง กลับมาได้เป็นช่วงๆ และเพิ่มเวลาที่เดินจากไปให้นานขึ้นเรื่อยๆ ถ้าฝึกต่อเนื่องทุกวัน จะเห็นผลใน 1 สัปดาห์ค่ะ
ขอให้คุณแม่อดทน เพราะหากลูกเรียนรู้วิธีหลับเองได้ คุณภาพการนอนจะดีขึ้นทั้งครอบครัวเลย
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
ภาพ: Shutterstock