ลูกน้ำลายยืด อาการที่ผิดปกติ สามารถรักษาได้อย่างไร?
คุณหมอแนะนำว่า หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกน้ำลายยืดแล้วผิดปกติหรือไม่ ควรปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อให้การประเมิน ว่าเป็นจากสาเหตุใด และเพื่อรับคำแนะนำถึงวิธีรักษา นั่นคือ
1. การฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืนน้ำลาย
เป็นวิธีที่ปลอดภัยและเป็นขั้นแรกในการรักษา วิธีการคือ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบริมฝีปาก ใบหน้า ขากรรไกร และลิ้น เช่น การออกเสียงอา อู อี ฝึกเป่าลม เช่น เป่าหนังสติ๊ก ห่วงยาง ฝึกอ้าปาก – หุบปากเพื่อฝึกกล้ามเนื้อขากรรไกร ฝึกเลียอาหาร กระดกลิ้นหรือเดาะลิ้นเล่น ขยับลิ้นขึ้น – ลง ซ้าย – ขวา ทำเสียงลา ลา ลา เพราะลิ้นจะช่วยผลักน้ำลายไปด้านหลังเพื่อกลืนน้ำลายลงคอ การฝึกกลืนน้ำลายอย่างตั้งใจวันละหลายๆ ครั้ง การฝึกหน้ากระจกจะช่วยให้สัมฤทธิผลดีขึ้น เพราะได้เห็นว่าตัวเองขยับปากถูกต้องหรือไม่ และได้เห็นว่าตัวเองดูดีขึ้นเมื่อปากปิดสนิทและไม่มีน้ำลายยืด
2. การจัดฟัน
ในกรณีที่มีความผิดปกติของใบหน้าและขากรรไกร หรือปัญหาการสบฟันผิดปกติ
3. ในกรณีที่มีปัญหากล้ามเนื้อคออ่อนแรง
เนื่องจากสมองพิการ แก้ไขโดยใช้เครื่องมือประคองคอหรือขากรรไกร เพื่อพยุงไม่ให้ศีรษะทิ่มไปด้านหน้า ทำให้น้ำลายไม่หยดย้อยออกมา
4. การผ่าตัด
เช่น การผ่าตัดดึงลิ้นที่ยื่นออกมามากเกินไป หรือเปลี่ยนทางไหลของน้ำลาย เป็นวิธีที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลเป็นดึงรั้งที่ลิ้นหรือทำลายเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง
5. การรักษาทางยา
อาทิ กินยาหรือแปะยาเพื่อลดการหลั่งน้ำลาย จะใช้ในกรณีที่ล้มเหลวจากการฝึกกล้ามเนื้อ มีผลข้างเคียง เช่น ตาพร่า ปากแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะขัด ส่วนกรณีที่ใช้ยาแปะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนัง
ขอขอบคุณเนื้อหาโดย แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด นิตยสาร Amarin Baby & Kids
อ่านต่อ >> วิธีบรรเทาอาการคันเหงือก ปวดเหงือกให้ลูก หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่