เสียงสะท้อนที่ตามมาหลังจากทุกประโยคที่คุณพูดไม่ได้เกิดจากการอดนอนอย่างที่คิด แต่เป็นเสียงสะท้อนจากลูกวัยเตาะแตะของคุณเองล่ะค่ะ!
เมื่อถึงวัยประมาณ 2 ขวบ เด็กๆ จะเริ่มพูด แต่ยังไม่เป็นประโยคยาวๆ แบบคำพูดของผู้ใหญ่ และมักเลียนแบบคำหรือวลีที่คุณเพิ่งพูดให้ได้ยิน เช่น ถ้าคุณพูดว่า ไปข้างนอกกันเถอะ เจ้าเตาะแตะก็จะพูดตามทันทีว่า ข้างนอก! ที่ลูกทำแบบนี้ก็เพราะอยากสื่อสารกับคุณและฝึกพูด การพูดตามช่วยให้เด็กๆ รู้จักคำเพิ่มขึ้น รู้วิธีผูกคำให้เป็นประโยค และรู้จังหวะในการพูดโต้ตอบกับผู้อื่น
พฤติกรรมนี้จะค่อยๆ หายไปภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี หรือเมื่อทักษะด้านการใช้ภาษาของลูกพัฒนาไปตามวัย สิ่งที่คุณควรทำในระหว่างนี้ก็คือ
1. เลือกใช้คำที่เฉพาะเจาะจง
เพื่อเพิ่มคำศัพท์ในคลังสมองให้ลูก เช่นพูดว่า วันนี้ท้องฟ้าแจ่มใสดีจัง แทนการเลือกประโยคที่มีความหมายกว้างๆ อย่าง วันนี้อากาศดีจัง
2. ชี้ให้ลูกเห็นสิ่งที่คุณพูด
จะเป็นรูปภาพก็ได้ เพื่อเน้นความเชื่อมโยงระหว่างคำกับความหมายของคำนั้น
3. ขยายคำพูดของลูก
ถ้าคุณถามว่า กินเค้กอีกไหมลูก และลูกตอบว่า เค้กอีก คุณก็ขยายว่า ได้จ้ะ เดี๋ยวแม่เติมเค้กส้มให้นะจ๊ะ
อนึ่ง การพูดตามอาจเป็นอาการหนึ่งของภาวะออทิสติก ดังนั้นถ้าลูกไม่ได้แสดงท่าทีว่ากำลังพยายามจะสื่อสารกับคุณ ก็ต้องลองปรึกษาคุณหมอเด็กดูแล้วล่ะค่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง