“ดราม่า” พี่น้อง ต้องระวัง!
ทั้งนี้เมื่อไหร่ที่น้องได้รับความรัก คำชม มากกว่า รับรองว่าได้มีรายการน้ำตานองแน่ๆ งานนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องเตรียมรับมือให้ดี
- อย่าตอกย้ำ = คุณอาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่ด้วยสภาพอารมณ์ของลูกตอนนี้ พวกแกจะรู้สึกไวกว่าปกติ แค่แม่บอกว่า “ทำไมน้องเดาะลูกบาสได้ก่อนหนูอีกล่ะ” เท่านี้ก็ทำให้แกคิดมากได้แล้ว เด็กๆ จะยิ่งรู้สึกแย่และเป็นปมด้อยหนักขึ้นไปอีกหากคุณสั่งน้องเล็กช่วยสอนพี่ หรือให้บุคคลที่สามเช่นครูสอนว่ายน้ำช่วยติวให้แกเป็นพิเศษ
- ชมน้องได้ แต่… = อย่าลืมเสริมว่า “พี่ต๊ะก็กำลังตั้งใจเรียนเปียโนเหมือนกัน แม่ภูมิใจในตัวหนูสองคนมากจ้ะ”
- สนับสนุนให้ถูกวิธี = คุยกับลูกว่า คุณรู้ดีว่าแกตั้งใจคัดลายมือขนาดไหน เพียงแต่ว่าแกต้องพยายามต่อไปอีกหน่อย “แม่รู้ว่าหนูขยันมาก พยายามต่อไปนะ แม่เชื่อว่าหนูทำได้” คุณอาจแชร์ประสบการณ์ยากๆ สมัยเด็กของตัวเองกับพ่อหนูแม่หนู หรือเสริมความมั่นใจให้พวกแกว่าพวกแกก็มีข้อดีอื่นๆ อีกเยอะแยะ
- มองหากิจกรรมที่พี่น้องสนุกได้ทั้งคู่ = ถ้าสถานการณ์หน้าแป้นบาสชักไม่ค่อยดี ลองชวนลูกๆ เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่สนุกและไม่ต้องงัดเอาทักษะมาแข่ง เช่น ช่วยกันขุดหาสมบัติในสนาม หรือเข้าครัวทำกับข้าวหรือขนมง่ายๆ ช่วยลดความขัดแย้งและบรรยากาศของการแข่งขันไปได้เยอะ
ทั้งนี้เมื่อมีเรื่องดราม่าระแวงกันเกิดขึ้น เหตุการณ์พี่น้องทะเลาะกันก็ต้องเกิดขึ้นตามมาแน่นอน แล้วคุณพ่อคุณแม่จะช่วยสร้างสันติระหว่างเจ้าตัวโตกับเจ้าตัวเล็กในตอนนี้และปลูกฝังให้เกิดมิตรภาพฉันพี่น้องในอนาคตได้อย่างไร มาดูกัน
1. อย่าโทษใคร
ลูกวัยเตาะแตะและวัยอนุบาลยังขาดทักษะในการแก้ปัญหาเมื่อเกิดการทะเลาะกัน เขาจึงต้องการความช่วยเหลือ (และความอดทน) จากคุณที่จะสอนให้เขาเรียนรู้เรื่องการแบ่งปันและการผลัดกันเล่น คุณควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่ต้องทำทันทีเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า เช่น แยกทั้งคู่ออกจากกันหรือเอาของเล่นไปเก็บให้พ้นสายตา ไม่ใช่พยายามจะคาดคั้นว่าใครเป็นคนเริ่ม เพราะถึงอย่างไรก็ทะเลาะฝ่ายเดียวไม่ได้อยู่แล้วละ
2. ทำให้เด็กๆ มั่นใจในความรักของคุณ
พี่น้องมักทะเลาะกันเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณ จึงต้องทำให้เขามั่นใจในความรักแบบไม่มีข้อแม้ของคุณ ซึ่งไม่ว่าเขาจะแสดงพฤติกรรมหรือความรู้สึกออกมาอย่างไรคุณก็ยังรัก แทนที่จะดุลูก (“อย่าพูดแบบนี้กับน้องนะ!”) ก็แสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจความรู้สึกของเขา เช่น “ดูเหมือนตอนนี้หนูจะหงุดหงิดน้องมากเลยใช่ไหมจ๊ะ”
3. ส่งเสริมให้พี่น้องเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน
ชมเชยเด็กๆ ทุกครั้งที่เขาแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือใส่ใจกัน เช่น “ที่หนูกอดน้องแบบนั้นน่ะ น่ารักมากเลยรู้ไหมจ๊ะ”
4. ตั้งกฎประจำบ้านที่เข้าใจง่าย
เช่น ห้ามตะโกน ห้ามรังแกกัน (ตี เตะ หรือกัด) ห้ามใช้คำหยาบ และห้ามหยิบของของใครโดยไม่ขออนุญาตก่อน กำชับด้วยว่าห้ามทำร้ายกันทั้งด้วยการกระทำและด้วยคำพูดอย่างเด็ดขาด
5. สอนให้เด็กๆ รู้จักควบคุมอารมณ์
การนับหนึ่งถึงสิบ เดินหนี หรือพูดย้ำซ้ำๆ ว่า “ไม่เป็นไร” คือวิธีดีๆ ที่จะช่วยให้เด็กๆ หายโมโห ถ้าจะช่วยแก้ปัญหาเมื่อลูกตกลงกันไม่ได้ ลองแนะให้เขาใช้วิธีโยนเหรียญหรือทอยลูกเต๋าเพื่อดูว่าใครจะได้ทำอะไรก่อนหรือจะใช้วิธีตั้งนาฬิกาจับเวลาสำหรับการผลัดกันเล่นก็ได้นะ
อย่างไรก็ดีทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ขึ้นอยู่กับการอบรมสั่งสอนและเลี้ยงดูของแต่ละบ้าน อย่างไรแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมลูก ๆ แต่ละคนในบรรดาพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็น ลูกคนโต ลูกคนกลาง และลูกคนเล็ก รวมไปถึงลูกคนเดียว สิ่งสำคัญของการมีลูกมากกว่าหนึ่งคนคือ ควรรักลูกให้เท่ากัน ไม่ลำเอียง เพียงเท่านี้ลูกก็จะรู้สึกอบอุ่น และไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยไปกว่าพี่น้องคนอื่น หรือเป็นตัวปัญหาในครอบครัวค่ะ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- สอนให้พี่น้องรักกัน ด้วย 7 วิธีง่ายๆ ในการปลูกฝังที่พี่คนโต
- เลี้ยงลูกให้ พี่น้องรักกันคุณเองก็ทำได้!
- ทำอย่างไรดี ท้องนี้พี่กลัวแม่ไม่รัก
- 5 ข้อดีและข้อเสียของการ มีลูกคนเดียว
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids