ลูกขโมยเงินแม่ แม่เลยพามามอบตัวกับตำรวจให้ช่วยสั่งสอน- Amarin Baby & Kids
ลูกขโมยเงินแม่

ลูกขโมยเงินแม่ แม่เลยพามามอบตัวกับตำรวจให้ช่วยสั่งสอน

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกขโมยเงินแม่
ลูกขโมยเงินแม่

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่คุณแม่ท่านหนึ่งได้ทราบว่า ลูกขโมยเงินแม่ จึงตัดสินใจจูงลูกมาเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ลูกขโมยเงินแม่ เลยพามาเจอตำรวจ

เจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่านหรงหลง ได้เล่าถึงเหตุการณ์คุณแม่พาตัวลูกชายเข้ามอบตัวกับตำรวจ ฐานกระทำความผิดภายในบ้านว่า เมื่อได้สอบถามตัวเด็กชาย จึงทราบว่าขโมยเงินสดของที่บ้าน พอซักเพิ่มว่า หนูขโมยเงินสดของแม่ไปจริงไหม เอาไปทำอะไร เด็กน้อยจึงรับสารภาพว่า ขโมยเงินจากแม่ไปจริง ต้องการเอาไปซื้อของเล่น

ขณะที่หนูน้อยพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็สะอึกสะอื้นร้องไห้ ทั้งยังหันไปขอโทษคุณแม่ด้วย

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเห็นว่าหนูน้อยสำนึกผิดแล้ว จึงบอกให้เด็กชายนำเงินที่เหลือไปคืนคุณแม่ พร้อมกับบอกหนูน้อยว่า “ลุงจะลงโทษหนูนะ”

สำหรับบทลงโทษของหนูน้อยคือการช่วยเหลืองานบ้าน ด้วยการช่วยแม่ล้างจาน 1 เดือน

การลงโทษที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมอบให้หนูน้อยนั้น สร้างความประทับใจให้กับชาวเน็ตเป็นอย่างมาก คนต่างชื่นชมในการใช้วิธีละมุนละม่อม แต่ก็มีบทลงโทษแก่ความผิดที่เกิดขึ้น ด้วยการให้ช่วยคุณแม่ล้างจาน เป็นวิธีลงโทษที่เหมาะสม ไม่เกินกว่าเหตุ เรื่องนี้จึงจบลงได้ด้วยดี

เครดิต : xinhuathai

จากกรณีนี้ มองในมุมหนึ่งลูกก็ได้รับบทเรียน และเรียนรู้ว่า ถ้าขโมยเงินหรือขโมยของจะถูกตำรวจจับ เมื่อโตขึ้นติดนิสัยลักขโมยก็จะติดคุกได้ แต่อีกแง่หนึ่งนั้น เราไม่แนะนำให้เลียนแบบ เพราะนี่เป็นวิธีลงโทษตามความคิดของคุณแม่บ้านนี้เท่านั้น เราไม่สนับสนุนให้แม่ ๆ พาลูกเข้าโรงพักนะคะ เพราะการข่มขู่เด็กให้กลัวตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการขู่ให้กลัวตำรวจ หรือขู่ให้กลัวคุณหมอ แบบที่เราคุ้นเคย สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อตัวเด็กอย่างยิ่ง

การทำให้ลูกรู้สึกลบกับตัวเองมีส่วนทำให้เด็ก ๆ มีปัญหาในการพัฒนาตัวเอง ซ้ำร้ายการข่มขู่ลูกยังสร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจต่อตัวพ่อแม่ เพราะคำขู่ไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเรื่องโกหก ยิ่งข่มขู่ลูก ยิ่งทำให้ความเชื่อใจต่อพ่อแม่นั้นจางลง หากพ่อแม่ข่มขู่ลูกบ่อยครั้ง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด กังวล และระแวง จนเกิดเป็นปัญหาพฤติกรรมการเอาตัวรอด ทั้งการสู้ ซึ่งแสดงออกด้วยอารมณ์ที่ก้าวร้าว การหนี ด้วยการโกหก ปกปิด ไม่ยอมเผชิญหน้ากับปัญหา และการยอม ยอมจำนน ทำให้ลูกหมดความนับถือในตัวเอง สร้างความรู้สึกไร้ตัวตน

ส่วนวิธีการลงโทษให้พิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งเรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกันค่ะ

หากจับได้ว่า ลูกขโมยเงินแม่

หลาย ๆ ครอบครัว อาจจะเจอกับปัญหาลูกขโมยของ ลูกขโมยเงิน และไม่รู้จะจัดการอย่างไร ไม่รู้ว่าวิธีลงโทษแบบไหนดี หรือจะเผลอลงโทษรุนแรงเกินไปไหม วันนี้ทีมแม่ ABK มีคำมาฝากแนะนำ

  1. พ่อแม่ควรตั้งสติเพื่อคิดหาวิธีสอนลูก ให้เริ่มด้วยการเรียกลูกมาสอบถามตามลำพัง ไม่ควรต่อว่า ตำหนิลูก ต่อหน้าคนอื่น
  2. การสอบถามควรทำด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย ไม่ควรตะคอกหรือคาดคั้น มองเข้าไปในดวงตาของลูกแล้วถามว่า ลูกหยิบเงินของแม่ไปหรือเปล่า พูดคุยกับลูกด้วยความจริงใจ เปิดเผย เพื่อให้ลูกไว้วางใจจนยอมพูดความจริงออกมา
  3. หากพูดคุยไปเรื่อย ๆ แล้วลูกรับสารภาพว่า นำเงินไปใช้จริง ก็ค่อย ๆ ถามคำถามเพิ่มเติม เช่น ลูกต้องการใช้เงินไปทำอะไร หรือมีความจำเป็นอะไรที่ต้องใช้เงินหรือเปล่า เพราะเด็กมักจะมีเหตุผลของตัวเอง ลูกอาจมีของเล่นที่อยากได้มากจนรอไม่ไหว หรือต้องการนำเงินไปใช้ด้วยเหตุผลจำเป็นอื่น ๆ
  4. หลังจากลูกเล่าความจริงออกมาแล้ว ควรพูดชื่นชมหรือขอบคุณที่ลูกเล่าความจริงออกมา และช่วยเหลือลูกในการแก้ปัญหานั้น เช่น ลูกทำของสำคัญของเพื่อนเสียหาย ต้องการใช้เงินเพื่อไปซื้อของชิ้นใหม่ให้เพื่อน พ่อแม่ก็ควรพูดคุยว่า จะให้ลูกนำเงินไปซื้อของได้แต่ต้องหักเงินจากค่าขนมของลูก
  5. หากลูกไม่ยอมบอกถึงสาเหตุว่า นำเงินไปใช้อะไร ให้สอนลูกว่า การหยิบเงินหรือสิ่งของไปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่ไม่ควรใช้คำพูดรุนแรง ด่าทอ หรือหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ขโมยเงินกับลูก
  6. สอนลูกว่า การหยิบของคนอื่นโดยเจ้าของไม่อนุญาต การขโมยเงินหรือการขโมยของ เป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่างไร เป็นเรื่องผิดกฎหมายจะต้องถูกลงโทษอย่างไรบ้าง บอกให้ลูกรู้ถึงผลที่จะได้รับ
  7. ให้ลูกนำเงิน หรือสิ่งของที่ใช้เงินซื้อ มาให้กับพ่อแม่ ถ้าลูกไม่ยอมคืนเงินให้ ก็อาจหักค่าขนมของลูกทีละน้อย เช่น ถ้าเป็นเงิน 100 บาท อาจจะหักค่าขนมสัปดาห์ละ 25 บาท จนครบ 100 บาท
  8. ลงโทษด้วยการให้ลูกงดทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ไม่ให้เล่นเกม ไม่ให้ไปเล่นกับเพื่อนหลังเลิกเรียน หรือไม่ได้ออกไปเที่ยวในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ พร้อมกับบอกสาเหตุว่า ทำไมลูกถึงต้องรับโทษ

ป้องกันก่อนเกิดเหตุซ้ำ

  • ทุกคนในครอบครัวไม่ควรวางเงินไว้ล่อตา เพราะถ้าเด็กหยิบได้ง่าย อาจจะคิดว่า ยืมแป๊บเดียวเดี๋ยวเอามาคืน ก็จะก่อเกิดเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ในอนาคต
  • ไม่ควรตั้งใจวางเงินไว้ วางเงินล่อลูก เพื่อเช็คพฤติกรรมลูกว่า ยังทำอีกหรือไม่
  • ไม่ควรตอกย้ำถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ลูกเรียนรู้แล้ว และได้รับบทลงโทษไปแล้ว
  • หากมีเหตุการณ์คล้ายเดิม อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่าลูกเป็นคนทำ ให้ค่อย ๆ สืบหาข้อมูลเสียก่อน
  • พยายามใกล้ชิดกับลูกให้มากขึ้น วิเคราะห์ว่า สาเหตุใดลูกถึงขโมย เพราะอยากมีของเล่นแบบเพื่อนหรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องสอนลูกเรื่องการใช้เงิน
  • สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เติมความรัก เพิ่มความอบอุ่น เพื่อให้ลูกรู้สึกไว้วางใจ กล้าที่จะเล่าทุกเรื่องให้ฟัง

วิเคราะห์ให้ลึก เพราะเหตุใดลูกถึงขโมย

นอกจากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว พ่อแม่ควรหาสาเหตุด้วยว่า ทำไมลูกถึงขโมย ซึ่งผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลไว้ในส่วนหนึ่งของบทความการพูดปดและลักขโมย ว่า พฤติกรรมทั้งสองมีโอกาสเกิดร่วมกันได้สูง เช่น เมื่อลักขโมย เด็กก็มักต้องปดเพื่อปิดบัง เรื่องนี้ต้องพิจารณาตามพัฒนาการของเด็ก

ในวัยอนุบาลอาจใช้คำว่า หยิบของคนอื่นโดยไม่ได้ขอ เพราะเด็กยังไม่เข้าใจเรื่องของความเป็นเจ้าของ แต่หากขโมยเพื่อหวังประโยชน์นั้น อาจมีสาเหตุดังนี้

  • ขโมยเพื่อฐานะทางสังคม เช่น ขโมยเพื่อนำเงินหรือสิ่งของไปให้กับเพื่อนเพื่อเข้าแก๊ง ลูกอาจถูกข่มขู่จึงต้องเอาของไปให้ หรือมีของบางอย่างเพื่อไม่ให้ถูกคนอื่นล้อ
  • อยากได้ของชิ้นนั้นมาเป็นของตัวเอง อาจจะเป็นของมีค่าหรือไม่มีราคาเลยก็ได้
  • ต้องการแก้แค้น กลั่นแกล้ง ทำให้เจ้าของเดือดร้อน เป็นส่วนหนึ่งของความต้องการให้หันมาสนใจตัวเด็กเอง หรือเป็นรูปแบบของการเรียกร้องความสนใจอย่างหนึ่ง
  • กระทำเพื่อหวังมูลค่าสินทรัพย์

วิธีป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมการขโมย

หากเจาะให้ลึกลงไปกว่านั้น การลักขโมยของเด็กอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีก โดยชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า อาจเกิดจากการขาดความตระหนักถึงสิทธิส่วนตัวของตนเองและผู้อื่น การควบคุมตัวเองต่ำ ความอิจฉา หรือปัญหาทางอารมณ์ สำหรับวิธีป้องกันและแก้ไข ทำได้ดังนี้

  • พ่อแม่ คนในครอบครัว หรือคนใกล้ตัวต้องเป็นแบบอย่างที่ดีเสียก่อน ไม่ควรหยิบของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง แม้แต่ของคนในครอบครัว ก็ควรบอกกล่าวกันก่อนนำมาใช้ เพราะพ่อแม่คือต้นแบบของลูก ถ้าลูกเห็นว่า พ่อแม่ยังทำได้เลย ลูกก็จะเลียนแบบ
  • การปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต สามารถทำได้ตั้งแต่เล็ก ๆ ผ่านการอ่านนิทาน หรือพูดคุยจากตัวอย่างที่เห็น หรือปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น พร้อมกับสอนลูกว่า ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์สุจริตแล้วจะเกิดอะไรขึ้นได้
  • ให้แนวคิดเรื่องสิทธิส่วนตัวและสิทธิของผู้อื่นตั้งแต่วัยก่อนอนุบาล ให้เด็กมีที่เก็บของส่วนตัว ให้เด็กนำของไปคืนหากหยิบมาโดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของ
  • ลูกอาจขาดความมั่นใจ ก่อให้เกิดพฤติกรรมการขโมย ลองส่งเสริมและสนับสนุนข้อดีของลูก เช่น ขาดความมั่นใจ : หาข้อดีของเด็กและส่งเสริม แก้ไขจุดที่เด็กบกพร่อง เช่น การสอนทักษะทางสังคม การสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนและคนรอบข้าง
  • อีกหนึ่งในปัญหาสำคัญ ลูกอาจรู้สึกว่า ขาดความรัก พ่อแม่จึงต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น เข้าใจในความรู้สึกของลูก เพื่อทำให้ลูกรู้สึกไว้วางใจ

หากลูกยังมีพฤติกรรมขโมยของซ้ำ ๆ ลองพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กรับการประเมิน แก้ไขปัญหาลักขโมยในระยะยาวจะดีที่สุด

อ้างอิงข้อมูล : mgronline.com, https://med.mahidol.ac.th และ facebook.com/thaichildpsy

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

จิตแพทย์เด็กแนะ พ่อแม่ควรทำอย่างไรถ้า ลูกขโมยเงิน

เลี้ยงลูกแบบไม่ดุ 5 วิธีง่ายๆ ทำแบบนี้ลูกก็เชื่อฟังได้

พ่อลูกผูกพัน 7 ข้อดีของการให้พ่อเลี้ยงลูก เปลี่ยนชีวิตลูกให้ดีขึ้นได้

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up