ลูกพูดไม่จริง อย่าเพิ่งตีความว่า ลูกชอบโกหก เด็กอาจไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริงก็ได้ แล้วเด็กอายุเท่าไหร่ถึงมีแนวโน้มว่า ตั้งใจโกหก
ลูกชอบโกหก หรือลูกแค่พูดไม่จริง
พ่อแม่หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมลูกถึงชอบโกหก ไม่พูดความจริง หรือเล่าเรื่องราวในจินตนาการ แต่การโกหกของเด็กนั้นอาจจะเป็นแค่การพูดไม่จริง ด้วยพัฒนาการของลูกที่ยังสับสนระหว่างเรื่องจริงกับสิ่งที่คิด
สำหรับช่วงอายุของเด็กที่มีแนวโน้มว่าตั้งใจโกหกนั้น จะมีอายุที่เกิน 13 ปีขึ้นไป เพราะเด็กที่อายุระหว่าง 2 – 12 ปี จะพูดเรื่องราวที่ไม่ตรงกับความจริงได้ เพราะเด็กเริ่มมีความทรงจำที่ถูกต้องหลังจากอายุ 12 ปี หรือในช่วงที่พัฒนาการเรื่องอวกาศและเวลาดีแล้ว ลูกในวัยก่อน 12 ปีจึงไม่ได้โกหกแค่พูดไม่จริงเท่านั้นเอง โดยเฉพาะช่วงอายุ 2 – 6 ขวบ เด็กจะยังไม่สามารถแยกแยะความจริงออกจากจินตนาการได้
เพราะอะไรลูกถึงโกหก
แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า เด็กส่วนใหญ่โกหกเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้โกหกเพราะเจตนาร้าย จึงควรให้ความสนใจกับเหตุผลที่แท้จริง พร้อมสอนเด็กเรื่องวิธีการแก้ปัญหา มากกว่าเพ่งเล็งว่าเด็กโกหกเพราะนิสัยไม่ดี รวมถึงเรื่องของพัฒนาการตามวัยที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ เพราะเด็กแต่ละวัยมีพัฒนาการด้านความคิด ความสามารถในการแยะแยะเรื่องจริงกับไม่จริง และการจัดการปัญหาแตกต่างกัน เช่น เด็ก 4 ปี บอกว่าขี่มังกร ยังถือว่าเป็นไปตามพัฒนาการปกติ แต่ถ้าเด็ก 12 ปี ยังพูดแบบนี้ถือว่าแปลก
สาเหตุของการโกหก
- เรียกร้องให้คนอื่นมาสนใจ
- โกหกเพื่อให้ได้รับการยอมรับ
- หลีกเลี่ยงปัญหาหรือการลงโทษ
- พูดปดเพื่อให้คนอื่นสบายใจ (White Lies)
- โกหกเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
เด็กบางกลุ่มมีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมโกหกมากกว่าเด็กทั่วไป เช่น เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ปัญหาการเรียน ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์
การรับมือเมื่อลูกโกหก
- รอให้อารมณ์เย็นก่อนค่อยคุยกัน ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก หากพูดคุยด้วยอารมณ์จะกลายเป็นระบายอารมณ์ ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง ถ้าผู้ใหญ่ดุมากจะทำให้เด็กกลัวจนโกหกมากขึ้น
- คุยข้อเท็จจริงด้วยน้ำเสียงปกติว่าปัญหาที่พบคืออะไร และถ้าแก้ปัญหาด้วยการโกหก ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร
- ให้โอกาสเด็กชี้แจง เพื่อทำความเข้าใจว่าเด็กโกหกเพราะอะไร พร้อมสอนวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกว่าให้
- ทำให้เด็กกล้าเล่าเรื่องจริง ด้วยการทำให้เด็กรู้ว่าผู้ใหญ่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หากบอกความจริงจะไม่ถูกว่า เพื่อให้เด็กรู้สึกสบายใจ
- มีบทลงโทษหากโกหกอีก พูดคุยถึงข้อตกลง หากเด็กโกหกซ้ำจะถูกลงโทษอย่างไร เช่น การตัดค่าขนม
- สอนด้วยการยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม บอกเหตุและผลที่จะตามมาให้เข้าใจได้ตามวัย เช่น คุยกับเด็กอายุ 7 ปี ที่ทำแก้วแตกแล้วบอกไม่ได้ทำว่า “ถ้าหนูทำแก้วแตก แล้วปกปิดไว้ คนอื่นอาจถูกแก้วบาดเลือดไหล หนูต้องบอกแม่ตามความจริง แม่จะเก็บกวาดให้”
- คุยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้อง แค่พ่อกับแม่ที่คุยกับเด็ก ไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกประจาน
- ไม่พูดว่าลูกเป็น เด็กขี้โกหกหรือเด็กเลี้ยงแกะ ผู้ใหญ่ต้องเชื่อมั่นว่าเด็กเป็น “เด็กดี” มีศักยภาพที่จะกล้าหาญ พูดความจริงได้ และให้โอกาสเด็ก
- ลูกมีอารมณ์เสียใจ สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ สอนลูกเรื่องอารมณ์ ทั้งความรู้สึกเสียใจหรือรู้สึกผิดว่า อารมณ์พวกนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เด็กต้องเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหา
- ผู้ใหญ่ต้องไม่โกหก เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก
3 วิธีสอนลูกไม่ให้เป็นเด็กขี้โกหก
โรงพยาบาลสมิติเวช ระบุว่า การพูดความจริงไม่ง่ายเอาเสียเลย ผู้ใหญ่เองบางครั้งก็กลัวสิ่งที่จะตามมาเมื่อผู้ฟังหรือผู้รับสารได้รับรู้เรื่องที่เราพูด เรากลัวผู้ที่ฟังหงุดหงิด กังวลว่าฟังแล้วจะไม่พอใจ ไม่สบายใจ กลัวผู้ฟังบางคนจะรับไม่ได้ กลัวการขัดแย้ง หรือแม้กลัวว่าจะถูกดุด่าว่าร้าย รวมถึงการกลัวถูกลงโทษ จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไม เด็กๆ ชอบพูดโกหก ไม่พูดความจริงในบางเรื่องบางเหตุการณ์ จึงต้องหาวิธีที่จะทำให้เด็กกล้าที่จะพูดความจริง
- พ่อแม่ควรรับฟังเรื่องราวของลูก เพื่อให้ลูกเล่าว่าทำอะไรมา รับฟังพร้อมชื่นชมที่ลูกกล้าและยอมพูดความจริง ลูกจะได้เรียนรู้ว่าเขาสามารถพูดความจริงได้ ไม่ต้องปิดบัง จนพฤติกรรมดี ๆ นี้ก็จะกลายเป็นธรรมชาติและนิสัยที่ดีติดตัวไป จะดียิ่งขึ้นเมื่อถามวิธีแก้ปัญหาครั้งนั้น โดยอาจช่วยลูกวางแผนร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
- บ่มเพาะสอนให้เด็กรู้จักคุณธรรมศีลธรรม การสอนหรือยกตัวอย่างสิ่งที่ดีและไม่ดี มีบาปบุญคุณโทษ ความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่ดี โดยพ่อแม่ผู้ปกครองมีผลกับเด็กและมีส่วนให้เกิดนิสัยที่ซื่อสัตย์ต่อความจริงด้วย
- สื่อสารให้เด็กรับรู้ว่าการโกหกเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แต่ไม่ต้องตำหนิหรือลงโทษรุนแรงจนลูกรู้สึกกลัวที่จะพูดความจริง และเพื่อให้เด็กจดจำไว้ประพฤติปฏิบัติ ควรให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ และเมื่อโตขึ้น พฤติกรรมและนิสัยที่ดีจะติดตัว รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร
สิ่งสำคัญคือความใกล้ชิดของคนในครอบครัว ถ้าพ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ลูกจะรู้สึกมั่นคงและมั่นใจว่าได้รับความรัก ความหวังดี ทำให้กล้าบอกกล้าเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง นอกจากนี้ หากรู้ว่าลูกเคยโกหกก็ไม่ควรระแวงหรือจ้องจับผิด ควรสร้างความไว้วางใจ เด็กจะได้กล้าบอกเรื่องจริง ไม่โกหกซ้ำอีก
อ้างอิงข้อมูล : ร้านนายอินทร์, manarom และ samitivejhospitals
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว ปูหนทางสู่ความสำเร็จในชีวิต
รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เมื่อการตีเป็นผู้ร้ายพ่อแม่จะทำอย่างไร