ลูกชอบพูดโกหก เด็กเกิดมามีนิสัยไม่เหมือนกัน การโกหกเป็นเพราะนิสัย หรือการเลี้ยงดูกันนะ มาสังเกตพฤติกรรมเราดูว่าเป็นพ่อแม่ที่ทำให้ลูกต้องโกหกหรือเปล่ากันนะ
ลูกชอบพูดโกหกเองหรือเพราะพ่อแม่ทำ หยุดพฤติกรรมแบบนี้กันเถอะ!!
โกหก พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคม ทำให้พ่อแม่หลาย ๆ คน เกิดความกังวลขึ้นในใจอย่างมาก เมื่อพบว่าลูกน้อยเริ่มโกหก หรือพูดไม่จริง แต่แท้จริงแล้ว ลูกกำลังพูดโกหกอยู่จริงหรือเปล่านะ
พฤติกรรมแบบไหนเรียกว่า “เด็กโกหก”
พฤติกรรมการโกหกของเด็กนั้น ย่อมมีความสลับซับซ้อนกว่าในผู้ใหญ่ ในด้านของการตีความ พฤติกรรมแบบไหนที่เราสามารถระบุได้ว่าเป็นพฤติกรรมของการโกหกของลูก หรือแบบไหนเป็นเพียงการพูดโกหกตามวัย ถ้าพฤติกรรมนั้นเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่เพิ่งพูดได้ไม่นาน หรือเด็กอายุ 2-3ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่เด็กอาจจะยังไม่เข้าใจ หรือแยกแยะความจริงกับจินตนาการออกจากกันได้อย่างไม่ชัดเจน เด็กอาจจะพูดในสิ่งที่นึกขึ้นมาโดยไม่ได้ตรวจสอบกับโลกความเป็นจริง ก็ถือเป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการ และควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เด็กโกหก” กับเด็ก ดังอย่างที่ดร. กัลลาเกอร์ นักจิตวิทยาคลินิก (Richard Gallagher, PhD) กล่าวว่า “พัฒนาการของพวกเขายังไม่โตพอที่จะตระหนักว่าบางสิ่งไม่เป็นความจริงเพียงเพราะพวกเขาต้องการให้มันเป็น” นั่นเป็นเหตุผลที่เด็กก่อนวัยเรียนของคุณสามารถนั่งโดยถือแก้วเปล่าในมือ ทำน้ำนมหยดลงบนตัก และบอกคุณว่ามีสัตว์ประหลาดทำน้ำหก สิ่งที่พวกเขาหมายความจริงๆ ก็คือ พวกเขาต้องการให้พวกเขาไม่ได้เป็นคนทำนมหกเพราะพวกเขาเห็นว่าคุณโกรธ
แต่ถ้าพฤติกรรมเหล่านั้น เกิดขึ้นในเด็กโต อายุประมาณ 7 ขวบขึ้นไป ซึ่งสามารถเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีแล้ว ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมโกหก แต่ก็เป็นแค่พฤติกรรมหนึ่งที่เด็กแสดงออกมา ความเข้าใจว่าเพราะอะไรเด็กจึงไม่สื่อสารให้ตรงกับความจริงเป็นเรื่องจำเป็นมากกว่าจะตัดสินว่าเป็นเด็กดี หรือเด็กไม่ดี
เฉลี่ยเด็กโกหกทุก ๆ 2 ชั่วโมง!!
งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าเด็กวัย 4 ขวบโดยเฉลี่ยโกหกทุก ๆ สองชั่วโมง! นักจิตวิทยาคลินิก Richard Gallagher, PhD, ผู้อำนวยการสถาบันการเลี้ยงดูบุตรแห่ง New York University Child Study Center กล่าวว่า “เด็กทุกคนโกหกเป็นครั้งคราว “อันที่จริง มันเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการของพวกเขา”
- เด็กบางคนโกหกเพื่อเอาตัวรอด หรือเพื่อหลบเลี่ยงการถูกลงโทษเมื่อตนเองทำอะไรผิดพลาด เช่น ไม่ได้ทำการบ้าน หรือทำของเสียหาย เป็นต้น
- เด็กบางคนต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่ หรือคนอื่นๆ ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กสร้างเรื่องเล่าให้เหนือคนอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น
- เด็กบางคนโกหกเพื่อหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่าง หรือเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่น ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงกว่ากรณีอื่นๆ พ่อแม่จะต้องประเมินว่าเด็กมีพฤติกรรมเกเรอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น การลักขโมย พฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น หรือละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งบ่งชี้ว่าเด็กอาจมีโรคทางจิตเวชอย่างอื่นร่วมด้วย
พฤติกรรมของพ่อแม่แบบไหนที่ทำให้ ลูกชอบพูดโกหก !!
จากคำตอบที่ว่าเหตุใดเด็กถึงโกหก จะเห็นได้ว่าพ่อแม่มีส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมของลูก ไม่ว่าจะเป็นการโกหกเพราะกลัวถูกทำโทษ การโกหกเพราะต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่ ก็ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของลูกทั้งสิ้น ดังนั้นเรามาดูกันว่า พฤติกรรมของพ่อแม่แบบไหนกันนะที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมโกหก
พ่อแม่ที่เข้มงวดมากเกินไป
มีนักวิชาการค้นพบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้มงวดกับเด็กมากเกินไป จะทำให้เด็กชอบโกหก ชอบหาข้ออ้างจนติดเป็นนิสัย และสามารถกุเรื่องแต่งขึ้นมาได้อย่างสบาย ๆ โดยฟิลิปปา เพอร์รี่ นักจิตอายุรเวท กล่าวว่า ผู้ปกครองที่เคร่งครัดในกฎระเบียบ มักจะสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับเด็ก และนั่นทำให้เหล่าหนูน้อยไม่กล้าบอกเล่าความจริง เพราะรู้สึกวิตกกังวลว่าหากบอกความจริงไปแล้วจะถูกทำโทษหรือไม่ เด็ก ๆ จึงเลือกที่จะปกปิดเพื่อไม่ให้ตนเองถูกดุ
งานวิจัยรองรับ ลูกชอบพูดโกหก เพราะพ่อแม่เข้มงวดมากเกินไป
ทฤษฎีนี้มีงานวิจัยรับรองจากนักจิตวิทยาชาวแคนาดาชื่อ วิคตอเรีย ทัลวอร์ ในการทดลองนั้น ดร.ทัลวอร์ ได้เลือกเด็ก ๆ จากสองโรงเรียนในแอฟริกา โดยโรงเรียนแห่งแรกไม่เคร่งในกฎระเบียบมากนัก มีความยืดหยุ่นและให้อิสระ ส่วนอีกแห่งนั้นเข้มงวดในกฎระเบียบ เธอนำเด็ก ๆ มาทดสอบโดยการเล่นเกมที่มีชื่อว่า Peeping Game
แบบทดสอบเริ่มขึ้นด้วยการให้เด็กเดาว่าเสียงที่ได้ยินข้างหลังนั้นเกิดจากอะไร คำเฉลยคือลูกบอลของเล่น เพียงแต่ว่าเสียงนั้นไม่เหมือนกับเสียงของลูกฟุตบอลเลย จากนั้นเธอจึงให้ผู้ใหญ่ออกจากห้องไป และเมื่อกลับมาพวกผู้ใหญ่ถามเด็กอีกครั้งว่ามันคือวัตถุอะไรและเหล่าเด็ก ๆ ได้แอบมองหรือไม่ ผลการทดสอบคือเด็กที่มาจากโรงเรียนไม่เคร่งในกฎระเบียบมีทั้งโกหกและพูดความจริง ในขณะที่เด็กซึ่งมาจากโรงเรียนที่เข้มงวดนั้นเลือกที่จะพูดโกหกว่าไม่ได้แอบมอง
โดย เพอร์รี่ พูดถึงประเด็นนี้ว่า ถ้าพ่อแม่เข้มงวดกับเด็ก เด็กก็จะรู้สึกกดดันและกลัว ไม่กล้าพูดความจริง โกหกเพื่อหนีปัญหา ยิ่งถ้าคำโกหกนั้นไม่ถูกต่อว่าอะไร เด็กก็จะสร้างคำโกหกไปตลอดโดยไม่รู้ตัว ในทางตรงกันข้าม ผู้ปกครองสามารถทำให้เด็ก ๆ ผ่อนคลายได้ โดยการไม่ตามไปจับผิดทุกย่างก้าว พวกคุณจะเข้าหาพวกเด็ก ๆ ได้อย่างสบายใจ แต่ถ้าหากพวกคุณยังเลือกที่จะเข้มงวดและโหดร้ายกับเด็ก ๆ มันก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย มีแต่แย่ลงด้วยซ้ำ
สัญญาณเตือนว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่เข้มงวดเกินไป อาจทำให้ ลูกชอบพูดโกหก
- มีกฎเกณฑ์มากเกินไปจนกระทั่งบางทีเราก็ไม่สามารถจดจำกฎเหล่านั้นได้ นั่นอาจเป็นสัญญาณแล้วว่าเราเป็นคนที่เข้มงวดเกินไป แทนที่จะตั้งกฎเกณฑ์อะไรมากมายนั้น ก็ให้มีกฎน้อยข้อแต่สามารถปฏิบัติได้จริงจะดีกว่า โดยให้ฝึกทำเป็นประจำและสม่ำเสมอกับกฎเหล่านั้น จะเป็นการสบายใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
- คำพูดของคุณพ่อคุณแม่เกินความจริง เช่น ถ้าดื้ออย่างนี้เดี๋ยวจับโยนออกนอกหน้าต่าง หรือเดี๋ยวแม่จะทิ้งของเล่นของหนูให้หมดเลย และถ้าลูกพูดว่าเอาเลยแม่ จะยิ่งยุ่งกันใหญ่ เพราะเราไม่สามารถทำได้จริง ซึ่งยิ่งทำให้คำพูดของเราไม่มีความหมายและยากต่อการลงวินัยในคราวต่อไป ดังนั้น ให้เราคิดให้ดีก่อนพูด
- กฎของคุณพ่อคุณแม่เกินขอบเขตของการเป็นพ่อแม่คุณพ่อคุณแม่สามารถมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับโรงเรียน การปฏิบัติตัวต่อเพื่อน หรือกฎของความปลอดภัยได้ แต่ไม่ควรจำกัดกฎส่วนตัวบางอย่างของลูก เช่น ให้ลูกเลิกฟังเพลงที่ลูกชอบ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัวที่ไม่ควรก้าวก่ายกัน เราควรเคารพในกติกาของทุกคน แต่ใช้วิธีคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน
- มีความรักที่มีเงื่อนไขกับลูกแม่อาจใช้คำพูดว่า “แม่รักลูกนะ แต่แม่ไม่อยากให้ลูกมีความประพฤติอย่างนี้” หรือพูดว่า “พ่อเชื่อว่าลูกทำได้ดีกว่านี้” อย่าพูดว่า “ลูกเป็นเด็กเหลือขอจริงๆ ถ้าลูกทำสิ่งนี้ไม่ได้” ถ้าเราทำอย่างนั้นเรากำลังทำให้ใจลูกแตกสลาย
- ให้ลูกเอาแต่เรียนเรียน เรียนไม่มีเล่นเลย เด็กๆ จำเป็นต้องมีทุกอย่างๆที่สมดุล ทั้งเล่นทั้งเรียน สมองจะทำงานได้ดีถ้ามีทั้งอย่างเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน
- กฎคือกฎห้ามถามเราควรมีกฎที่ชัดเจน สม่ำเสมอ ปฏิบัติได้เพราะจะช่วยให้ลูกรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นได้หากไม่ทำตาม แต่กฎต่างๆ ควรยึดหยุ่นได้ ไม่ใช่กฎคือกฎห้ามถาม เพราะเมื่อไหร่ที่มีปัญหาลูกสามารถขอความช่วยเหลือได้
- เย็นชาเหมือนน้ำแข็งการเป็นพ่อแม่ที่ดีควรมีความอบอุ่น แต่มั่นคง ไม่ใช่เยือกเย็น ใจร้าย
อ่านต่อ >> “พฤติกรรมพ่อแม่แบบไหนทำให้ลูกพูดโกหก” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่