พ่อแม่ไม่ควรโกหกลูก อย่าหลอกเด็ก ระวังเป็นเด็กเลี้ยงแกะ - Amarin Baby & Kids
พ่อแม่ไม่ควรโกหกลูก

พ่อแม่ไม่ควรโกหกลูก อย่าหลอกเด็ก โตขึ้นลูกจะกลายเป็น เด็กเลี้ยงแกะ

Alternative Textaccount_circle
event
พ่อแม่ไม่ควรโกหกลูก
พ่อแม่ไม่ควรโกหกลูก

การโกหกโดยไม่ตั้งใจ อาจส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กพูดปด มาดูสาเหตุที่ พ่อแม่ไม่ควรโกหกลูก พร้อมกับเทคนิคการเลี้ยงลูกสไตล์ดีเจเพชรจ้า

พ่อแม่ไม่ควรโกหกลูก เทคนิคเลี้ยงลูกไม่ให้เป็นเด็กขี้โกหก

คุณพ่อลูกหนึ่งที่หลายคนติดตาม ดีเจเพชรจ้า วิเชียร กุศลมโนมัย คุณพ่อสุดเท่ที่ชอบโพสต์ภาพความน่ารักของน้องไทก้าอยู่เสมอ พร้อมกับแชร์ความคิด ไอเดียการเลี้ยงลูกที่น่าสนใจ และหนึ่งในเทคนิกการเลี้ยงลูกของคุณพ่อเพชรจ้าก็คือ การไม่โกหกลูก โดยคุณพ่อเพชรจ้า ได้โพสต์ภาพตัวเองกับลูกชาย ทั้งยังแชร์เทคนิคของการเลี้ยงลูกไว้ว่า

“เทคนิค 1 อย่างของการเลี้ยงลูก คือ ไม่โกหก ไม่โกหกว่า ทำนี่ก่อน ทำนี่ก่อน แล้วเดี๋ยวให้ของเล่น ทั้ง ๆ ที่ไม่มีของเล่น
กินข้าวก่อน แล้วจะพาไปเที่ยว แต่กินเสร็จไม่พาไป

เช้าวันหนึ่ง เฮียหาแว่นไม่เจอ เลยถามไทก้าว่า เห็นแว่นปะป๊ามั้ย ไทก้าบอกแบบไม่คิดเลย อยู่ในรถป๊า แล้วมันก็อยู่จริง ๆ เด็กมันรู้ เด็กมันจำได้ ความจำมันดีกว่าเราเยอะ

อย่าไปโกหกเด็กเลย สงสารเค้า เค้าก็คาดหวัง เรื่องโกหก จริง ๆ ใช้ได้กับทุกคนด้วย รักกัน ไม่โกหกกัน น่ารักที่สุดนะคับ ปะป๊ายังไม่เคยโกหกไทก้าเลยเนอะ เคยแค่จับลูกเข้ามุมร้องไห้โฮ 555555 i love my family”

เทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยการไม่พูดโกหกสไตล์ดีเจเพชรจ้านั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการเลี้ยงลูก หากพ่อแม่ซึ่งเป็นต้นแบบยังโกหก พูดเรื่องไม่จริง ลูกจะซึมซับและกลายเป็นเด็กพูดโกหกได้

พ่อแม่ไม่ควรโกหกลูก อย่าโป้ปดเพื่อหลอกลูกให้ทำตามสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ

การไม่โกหกลูก เป็นพื้นฐานสำคัญในการเลี้ยงลูก เช่นเดียวกับเรื่องหลอกเด็ก หรือการพูดปดเพื่อให้เด็กทำตามสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ จะยิ่งบ่มเพาะนิสัยการโกหกให้กับลูกโดยไม่รู้ตัว เรื่องนี้ยืนยันได้จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสาร “จิตวิทยาเด็กเชิงทดลอง” (Journal of Experimental Child Psychology) โดยทีมนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์และจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (NTU) ที่ระบุว่า การโกหกของพ่อแม่ยิ่งบ่อยมากเท่าไร ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ลูกมีนิสัยขี้โกหก เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นคนโป้ปด

จากกลุ่มตัวอย่างที่ถูกหลอกด้วยเรื่องโกหกในวัยเด็ก เพิ่มแนวโน้มที่จะพูดโกหกมากขึ้น หรือพูดจาเกินจริงตอนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แม้แต่การโกหกเพื่อรักษาน้ำใจหรือโกหกเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้อื่น ล้วนส่งผลเช่นกัน

กลุ่มตัวอย่างที่โกหกบ่อย ๆ ยังมีปัญหาด้านการปรับตัวทางจิต-สังคม (Psychosocial adjustment) ส่วนพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว มีความเห็นแก่ตัว รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า และชอบข่มขู่ผู้อื่น

เมื่อพ่อแม่โกหกลูก สร้างเรื่องหลอกเด็ก แต่กลับสอนลูกเรื่องความซื่อสัตย์ ทำให้เกิดความขัดแย้งกันของคำสอนให้เป็นคนซื่อสัตย์และพฤติกรรมการโกหกของพ่อแม่ จนกลายเป็นว่าลูกหมดความเชื่อใจในตัวพ่อแม่ได้

ลูกพูดปดเลียนแบบพ่อแม่

หนึ่งในสาเหตุที่ลูกโกหกนั้น เกิดจากการเลียนแบบผู้ใหญ่ เลียนแบบพ่อแม่ การพูดเรื่องไม่จริงหรือหลอกลูก ทำให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยกับเรื่องโกหก และเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติ

สำหรับสาเหตุที่ลูกโกหกนั้น มีหลายเหตุผลด้วยกัน โดยหมอมินบานเย็น พญ.เบญจพร ตันตสูติ เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้บอกถึงสาเหตุว่า พ่อแม่ที่พูดโกหกเป็นประจำจะทำให้มันไม่เห็นเสียหายที่จะพูดปดเพื่อผลประโยชน์ เด็กบางคนใช้การโกหกเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือต้องการคำชื่นชม และแม้แต่ความรู้สึกกลัวการลงโทษ ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กโกหกเพราะต้องการปกป้องตัวเอง กลัวว่าพูดความจริงไปแล้วจะถูกลงโทษ

ถ้าลูกโกหกต้องแก้อย่างไร

ก่อนจะตีตราว่าลูกโกหก พ่อแม่ต้องรู้ก่อนว่า การโกหกนั้นมีเรื่องพัฒนาการของแต่ละช่วงวัยด้วย โดยเด็กเล็กที่เพิ่งพูดได้ ช่วงอายุ 2-3 ขวบยังไม่สามารถแยกแยะความจริงกับเรื่องในจินตนาการได้ หากลูกวัยนี้พูดสิ่งที่ไม่เป็นความจริง พ่อแม่ควรบอกว่า เรื่องนี้ไม่จริง พร้อมกับอธิบายความจริงให้ลูกได้รู้

หากเป็นเด็กโตอายุเกิน 7 ปีขึ้นไปพูดโกหก พ่อแม่ก็พูดความจริงกับลูกด้วยเหตุผล เช่น ที่แม่รู้มาไม่ใช่อย่างนั้นนะ พร้อมกับพยายามทำความเข้าใจว่า เหตุใดลูกถึงโกหก เพราะลูกอาจโกหกเพื่อให้พ่อแม่สบายใจ หรือกลัวพ่อแม่เสียใจก็เป็นได้

แต่ถ้าลูกโกหกซ้ำ ๆ จนติดเป็นนิสัย หรือมีพฤติกรรมด้านลบอื่นร่วมด้วย พ่อแม่ควรลงโทษตามสมควร ใช้เหตุผลในการลงโทษไม่ใช่อารมณ์ ควรหลีกเลี่ยงการตี ไม่ควรใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เด็กได้รู้ถึงผลของการกระทำ ส่วนกรณีที่ลูกทำผิดแล้วมาสารภาพภายหลัง ให้กล่าวชื่นชมลูกก่อนที่ทำผิดแล้วมาสารภาพ แต่ก็ต้องลงโทษตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ตัวพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสำรวจตัวเอง ไม่ควรแสดงท่าทีผิดหวัง โกรธเกรี้ยว ด่าทอ หรือลงโทษลูกรุนแรง เพราะเด็กจะยิ่งปกปิดความจริงในอนาคต ควรแสดงให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่ยอมรับสิ่งนี้ได้ แต่ลูกต้องรับผิดชอบจากสิ่งที่ทำลงไป

เลี้ยงลูกอย่างไรโตไปไม่โกหก

  • ป้อนความรัก ดูแลด้วยความใส่ใจ พ่อแม่ที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก จนลูกรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ มั่นใจได้ว่าไม่ว่าอย่างไรพ่อแม่ก็จะรัก จนกล้าที่จะปรึกษาหรือบอกความจริง
  • ลูกพลาด ลูกผิด ไม่ควรตำหนิรุนแรง ควรจัดการตามพฤติกรรมที่ผิดนั้น ให้เหตุผลลูกว่า ทำไมถึงถูกลงโทษ หรือเวลาที่ลูกทำผิดแล้วมาสารภาพ ควรชื่นชมก่อนที่ลูกกล้าบอกความจริง พร้อมกับแนะนำลูกว่าต้องทำอย่างไร
  • เชื่อใจในตัวลูก บางครั้งลูกเลือกที่จะโกหกเพื่อตัดความรำคาญ หรือขี้เกียจตอบคำถาม พ่อแม่จึงควรชวนลูกคุยตามธรรมชาติ ไม่ควรคาดคั้นหรือซักไซ้ เพราะระแวงว่าลูกจะไม่พูดความจริง

สิ่งสำคัญอย่างสุดท้าย พ่อแม่ต้องไม่โกหกลูก เพราะถ้าลูกรู้สึกว่า การโกหกนั้นพ่อแม่ยังทำได้ จะกลายเป็นว่า ลูกมองเรื่องการโกหกหรือปกปิดความจริงเป็นเรื่องปกติ จากคำหลอกลวงเล็ก ๆ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ลุกลาม ที่มีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากแค่การโกหก

อ้างอิงข้อมูล : bbc, facebook.com/kendekthai, rajanukul และ cumentalhealth

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ลูกเก่งรอบด้าน แค่เพียงแม่ชวนลูก “นั่งสมาธิ”

วิธีบอกรักลูก ฉบับง่าย! แม้ไม่มีคำว่า “รัก” แต่ลูกรับรู้ได้!!

10 วิธีฝึกลูกให้ “กล้าแสดงออก” อย่างเหมาะสม ไม่ก้าวร้าว

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up