ประวัติศาสตร์อีเล้งเค้งโค้ง

Alternative Textaccount_circle
event

มีห่านตัวหนึ่ง หน้าบึ้งหน้าบูด

ไม่เอ่ยปากพูด หน้าบูดทั้งวัน

แต่ห่านตัวนั้น  ส่งเสียงเป็นเพลง

อีเล้งเค้งโค้ง!!

หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับบทกลอนข้างต้น และเมื่อถึงคำว่า อีเล้งเค้งโค้ง ก็อาจจะเปล่งเสียงคำนี้ให้ดังกว่าเดิมด้วยใช่ไหมล่ะคะ

เจ้าห่านอีเล้งเค้งโค้ง เป็นขวัญใจของเด็กๆ มาอย่างยาวนาน รวมถึงเป็นขวัญใจของคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านด้วย เพราะอีเล้งเค้งโค้งเป็นที่รู้จักมากว่า 20 ปีแล้วค่ะ!

นิทานเรื่อง อีเล้งเค้งโค้ง แต่งและวาดภาพโดย ครูชีวัน วิสาสะ นักเขียน นักวาดภาพประกอบ และบรรณาธิการหนังสือภาพสำหรับเด็กที่ได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ มากมายเช่น ตัวเลขทำอะไร เจ้าหนูเมืองพิสดาร ฯลฯ มีผลงานเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ มากมาย อาทิ อีเล้งเค้งโค้ง, คุณฟองนักแปรงฟัน เป็นต้น ด้วยเรื่องราวที่สนุก มีจุดเด่นและน่าติดตาม ทำให้นิทานของครูชีวันเข้าไปอยู่ในใจเด็กๆ ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเรื่องอีเล้งเค้งโค้ง แต่กว่าจะเป็นอีเล้งเค้งโค้งอย่างในทุกวันนี้นั้น มีเรื่องราวอย่างไรบ้างนะ …

กว่าจะเป็นอีเล้งเค้งโค้ง

จุดเริ่มต้นของอีเล้งเค้งโค้ง เริ่มเมื่อประมาณปี 2534  ครูชีวันได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปเรื่องการเขียนสร้างสรรค์ กับ Mr.Ernst A. Ekker กวีและนักเขียนเรื่องสำหรับเด็กชาวออสเตรีย  ในการเวิร์คช็อปครั้งนั้นมีกระบวนการที่ทำให้ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้น ด้วยการให้ดูภาพจากในหนังสือ เมื่อดูภาพแล้วก็ให้ผู้เข้าร่วมสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ โดยใช้ความรู้สึกขณะที่ดูภาพเป็นที่ตั้ง ดูภาพแล้วรู้สึกอย่างไร  และถ้าจะสร้างตัวละครจากที่เห็น จะสร้างเป็นตัวอะไร

“เริ่มต้นมาจากจุด 1 จุด และดึงประสบการณ์ที่มีเข้ามาใช้ ตัวครูเองเมื่อเห็นภาพก็เอาประสบการณ์และความรู้สึกมาผสานกัน ตอนนั้นครูดูแล้วคิดว่า ภาพให้ความรู้สึกว่าน่าหงุดหงิด เพราะเป็นภาพนกตัวหนึ่งที่กำลังโดนรบกวน เจ้านกตัวนั้นน่าจะหงุดหงิด เมื่อรู้สึกว่ามันหงุดหงิดก็คิดต่อว่า แล้วสัตว์ตัวไหนที่ดูเป็นสัตว์ขี้หงุดหงิด ครูก็นึกถึง ห่าน ขึ้นมา ” ครูชีวันกล่าว

นอกจากนั้นครูชีวันยังเล่าอีกว่า “แม้ว่าการเลือกใช้ห่านที่ดูขี้หงุดหงิด ขี้โวยวาย เป็นตัวละครจะดูแปลกไปจากการสร้างหนังสือเด็กเล่มอื่นๆ  ที่มักเป็นเรื่องในเชิงบวก แต่ไม่ได้หมายความเรื่องไม่ดีจะใส่ลงไปในหนังสือนิทานไม่ได้นะ  ใส่ได้  แต่ก็ต้องผสมและทำให้เด็กรู้ว่ามีเรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องที่เด็กต้องเรียนรู้ และในแต่ละเรื่องของอีเล้งเค้งโค้งก็จะมีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ว่า ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น”

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะใช้ ห่าน เป็นคาแรกเตอร์ใหม่ ครูชีวันจึงเริ่มออกแบบและวาดห่านในแบบต่างๆ เพื่อให้ได้เป็นห่านที่ลงตัวที่สุด ค่อยๆ สร้างเรื่องราวของห่านตัวนี้ขึ้น ประกอบกับเสียงของห่านที่มักจะส่งเสียงเอะอะโวยวาย ครูชีวันจึงได้ลูกเล่นเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าห่านตัวนี้จะทำอะไรก็ให้ส่งเสียงเป็นเพลง  ซึ่งกว่าจะได้ว่า ห่านตัวนี้จะร้องว่าอย่างไรดี ก็ผ่านการคิดและสร้างสรรค์มาไม่น้อยเช่นกัน

ทำไมต้องร้องว่า อีเล้งเค้งโค้ง

เสียงร้องว่า อีเล้งเค้งโค้ง  ต่อเนื่องมาจากคาแรกเตอร์ของห่าน ที่ครูชีวันได้บอกไว้ข้างต้นว่า ห่านดูเป็นสัตว์เสียงดัง มีความโหวกเหวกโวยวาย ก็นึกไปถึงเสียง โช้งเช้ง ขณะทำกับข้าว

 “อีล้งช้งเช้ง อีเล้งเช้งช้ง อีล้งโค้งเค้ง มันไม่สัมผัส ก็พยายามลองปรับ ลองเขียน จนในที่สุดก็ได้ว่า ห่านตัวนี้จะส่งเสียงเป็นเพลง อีเล้งเค้งโค้ง  และถือเป็นจุดที่ยึดไว้ว่า ไม่ว่าจะทำอะไรห่านตัวนี้ก็จะร้องว่า อีเล้งเค้งโค้ง เสมอ” 

อีเล้งเค้งโค้ง 3 เวอร์ชั่น

นอกจากจุดเริ่มต้นของอีเล้งเค้งโค้งที่น่าสนใจแล้ว ครูชีวันยังใส่ใจในรายละเอียดเป็นอย่างมากอีกด้วย ตั้งแต่รูปลักษณ์ของอีเล้งเค้งโค้ง  ที่ในยุคแรกๆ ตัวของอีเล้งเค้งโค้ง จะเป็นแบบเส้นหยัก ดูหนักแน่น นั่นก็เป็นเพราะการคิดต่อเนื่องมาจากการส่งเสียงนั่นเอง

“รู้ไหมว่าทำไมครูถึงให้ห่านเวอร์ชั่นแรกนี้เป็นแบบนี้ เพราะว่าการส่งเสียง อีเล้งเค้งโค้ง ไง การเป็นห่านที่ดูหงุดหงิด แถมยังส่งเสียงดัง ก็เหมือนกับการเปล่งเสียงออกไปแล้วมันสั่นสะเทือน คล้ายกับคลื่นเสียงนั่นเอง”

แต่หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงคาเรคเตอร์อีกครั้ง โดยครูชีวันได้บอกว่า

“เมื่อเขียนและวาดไปสักพัก ครูก็รู้สึกว่า ถึงแม้ว่าคาแรกเตอร์ของอีเล้งเค้งโค้งจะดูเป็นห่านขี้หงุดหงิด แต่ครูก็อยากให้เป็นห่านที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่โวยวายตลอดเวลา  จึงเปลี่ยนลายเส้นให้ดูนุ่มขึ้น แต่เรื่องราวยังคงความสนุกเหมือนเดิม”

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้อีเล้งเค้งโค้งมีลักษณะถึง 3 แบบ  และนอกจากนั้นโบสีแดงประจำตัวของเจ้าห่านก็ยังผ่านการออกแบบมาหลายต่อหลายครั้งเช่นกันนะ

การเดินทางของอีเล้งเค้งโค้ง

เมื่ออีเล้งเค้งโค้งเป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของเด็กๆ จนมีหนังสือออกมามากมาย ทั้ง อีเล้งเค้งโค้ง, อีเล้งเค้งโค้งอยากไปอยุธยา, อีเล้งเค้งโค้งเยือนอยุธยา, อีเล้งเค้งโค้งจับแมลง, กำเนิดห่านน้อย, หน้าบ้านห่านน้อย ฯลฯ เป็นต้น อีเล้งเค้งโค้งยังมีวาระพิเศษที่ได้ไปโลดแล่นอยู่ตามสื่อและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ รักการอ่านและรักในท้องถิ่นของตัวเองอีกด้วย เช่น อีเล้งเค้งโค้งเที่ยวเมืองใต้, อีเล้งเค้งโค้งไปตลาด ไปตราด  ซึ่งร่วมกับ TK PARK , อีเล้งเค้งโค้งลุยน้ำท่วม เกิดจากตอนปี 2554 ตอนที่น้ำท่วมหนัก ครูชีวันจึงคิดว่าเด็กที่ต้องไปอยู่ตามศูนย์พักพิงเป็นเวลานานๆ ก็อาจจะเครียดได้ จึงเกิดเป็นอิเล้งเค้งโค้งลุยน้ำท่วมขึ้น เพื่อให้เด็กๆ ได้อ่าน และปี 2559 ก็มีหนังสือ
อีเล้งเค้งโค้งสู้ภัยแล้ง
ร่วมกับ Thai  PBS  เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องภัยแล้ง  นอกจากนั้นยังมี อีเล้งเค้งโค้งเยี่ยมยามยโสธร ที่ร่วมมือกับ จ.ยโสธร เมื่อนำไปใช้ก็เกิดผลตอบรับที่ดีจากพ่อแม่และเด็กๆ ที่ได้เรียนรู้และภูมิใจเรื่องในท้องถิ่น รวมถึง อีเล้งเค้งโค้งเดินป่ามณฑาธาร ร่วมกับมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ป่าตามเส้นทางเดินป่าอนุรัษ์ธรรมชาติ โดยมีทั้งข้อมูลและกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ทำด้วย

เหตุผลครองใจ ที่ใครๆ ก็หลงรัก

นิทานของครูชีวัน ดำเนินเรื่องด้วยความสนุก มีคำคล้องจอง อ่านแล้วเป็นจังหวะ เด็กๆ มักจะชอบ และเอกลักษณ์อันโดดเด่นก็คือ เมื่อจบบทจะปิดท้ายด้วยคำว่า อีเล้งเค้งโค้ง  เสมอ  เมื่อเด็กๆ ได้ฟังเรื่องไปสักพัก ก็จะรู้ได้ว่าเมื่อจบบท เจ้าห่านจะส่งเสียงว่าอะไร และส่งเสียงตามออกมาอย่างอดไม่ได้ ความรู้สึกสนุกเมื่อได้อ่านหรือฟังเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่จะทำให้เด็กๆ เกิดความรักการอ่านได้ ซึ่งในกระบวนการทำหนังสือของครูชีวันนั้น เรียกได้ว่า ใส่ใจในทุกขึ้นตอน ทั้งการสื่อสารว่าต้องการสื่ออะไรให้แก่เด็ก  ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่การวาดภาพได้ สีสันสดใส แต่ต้องมีอะไรมากกว่านั้น  การทำให้ภาพเข้ากับเนื้อเรื่อง มีพื้นที่ให้เห็นว่าห่านส่งเสียง รวมถึงการเลือกใช้สี และการจัดวางเลย์เอาท์ที่ผ่านการคิดมาเป็นอย่างดีนั้น  เมื่อนำนิทานไปเล่าให้เด็กๆ ฟัง เด็กๆ ก็จะเกิดความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกที่เกิดจากการถูกกระตุ้น จากสิ่งที่มองเห็น เสียงที่ได้ยิน ถ้อยคำ เนื้อหา ภาพ ที่นำเสนอมุมมองและความคิดให้เด็กๆ ได้เรียนรู้  จะทำให้เด็กๆ เกิดกระบวนการคิดอะไรใหม่ๆ ขึ้น  ได้เรียนรู้ที่จะสังเกตและสุดท้ายจะเกิดการประยุกต์สิ่งเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นพลังของหนังสือนั่นเองค่ะ

รู้เรื่องราวของอีเล้งเค้งโค้งมากขึ้นขนาดนี้แล้วก็อดใจไม่ไหวที่จะไปหยิบหนังสืออีเล้งเค้งโค้งออกมาอ่านอีกครั้ง และส่งเสียงดังๆ ไปกับอีเล้งเค้งโค้งเลยค่ะ  คุณพ่อคุณแม่คนไหนกำลังหาหนังสือนิทานให้ลูกๆ อ่าน อีเล้งเค้งโค้ง ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่อยากแนะนำ เพราะจะได้สนุกและส่งเสียงเป็นเพลง อีเล้งเค้งโค้ง ไปพร้อมๆ กันทั้งครอบครัวนั่นเองค่ะ 🙂

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up