แม่หนูอยู่ไหน
อิเกะสุมิ ฮิโรโกะ เรื่องและภาพ
ภัทร์อร พิพัฒกุล แปล
เมื่อลูกหมีตื่นนอนแล้วไม่เจอแม่ ลูกหมีจะทำอย่างไรดีนะ ลูกหมีแก้ปัญหาด้วยการออกตามหาแม่ ระหว่างทางพบผู้คนมากมายที่คอยบอกทางให้ บางครั้งก็เหมือนจะใช่แม่ แต่ก็ไม่ใช่ แค่คล้ายๆ เท่านั้นเอง และสุดท้ายก็พบว่าแม่อยู่ใกล้กว่าที่คิด แต่ที่หาไม่เจอก็เพราะตกใจและไม่ทันได้มองให้ดีเสียก่อน จากเนื้อเรื่องคุณพ่อคุณแม่สามารถบอกเด็กๆ ได้ว่า หากพลัดหลงหรือหาพ่อแม่ไม่เจอ ให้ใจเย็นๆ ลองมองหารอบๆ ตัวให้ดีเสียก่อน แล้วยืนรอที่เดิม หรือไม่ก็ขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่
นิทานเรื่องนี้ภาพสวย สะอาดและสบายตา ตัวละครเป็นสัตว์ที่เด็กๆ คุ้นเคย แม้เนื้อเรื่องจะเริ่มต้นด้วยความตกใจของลูกหมี แต่เมื่อออกเดินทางไปสักพัก จะมีความสนุกแทรกอยู่ ด้วยภาพที่ผู้แต่งออกแบบให้เป็นเขาวงกต ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นจุดเด่นเรื่องเลยทีเดียวค่ะ เมื่อภาพเป็นเขาวงกต ก็ทำให้การใช้เวลาในการอ่านแต่ละหน้าเพิ่มมากขึ้น เด็กๆ จะมีสมาธิ จดจ่อกับเรื่องและภาพได้มากขึ้น เพราะต้องดูว่าจะให้ลูกหมีเดินไปทางไหนดี เหมือนกับว่า ได้อ่านไปเล่นไป
และการเล่นเกมเขาวงกตนั้น ยังช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาอีกด้วย
1.เขาวงกตช่วยให้เกิดกระบวนการคิดและวางแผนแก้ไขปัญหา
เขาวงกต เป็นเกมที่มีจุดเริ่มต้น และจุดสุดท้าย เมื่อเด็กๆ เห็นว่าทางที่ลูกหมีจะไปไม่ใช่ทางแบบธรรมดา เด็กๆ จะเกิดกระบวนการคิดเพื่อหาทางออก มีการวางแผนว่าไปทางไหนจึงจะไปได้ ทางแยกที่แตกต่างจะยิ่งทำให้เกิดการวางแผนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เดินไปในทางที่ถูกต้องที่สุด
2.เขาวงกตทำให้เกิดการเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเอง
การเล่นเกมเขาวงกต สามารถเล่นได้ทั้งแบบใช้นิ้วมือลากและใช้ดินสอลาก แต่ไม่ว่าจะเล่นแบบไหน ก็ทำให้เด็กๆ รู้จักควบคุมตนเองได้เช่นกัน เพราะการหาทางออกจากเขาวงกต ต้องลากเส้นให้ถูกทาง หากไม่มีการควบคุมตัวเองก็จะทำให้ออกเส้นทาง หรือไม่ก็ทำให้ไปผิดจากทางที่วางแผนไว้
3.เขาวงกตฝึกการมองภาพรวม
ภาพเขาวงกตที่มีทางแยกและซับซ้อน จะทำให้เด็กๆ เกิดการใช้สายตามองและประเมินผลว่าทางไหนมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นทางออกที่ถูกต้อง นอกจากนั้นการมองภาพรวมและการมองแบบสแกน ยังเป็นทักษะที่ดีสำหรับการอ่านและการเขียนอีกด้วย
4.เขาวงกตทำให้เกิดเรียนรู้การแก้ปัญหาแบบเป็นลำดับขั้น
เส้นทางเขาวงกตจากเรื่อง แม่หนูอยู่ไหน มีระดับความยาก – ง่ายแตกต่างกันไป เริ่มจากทางที่ไม่ซับซ้อนมาก และค่อยๆ ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีความยากมากขึ้น ทักษะในการแก้ไขปัญหาก็จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย เด็กๆ จะได้เรียนรู้การแก้ปัญหาที่มีความยากง่ายต่อเนื่องตามลำดับ อาจมีเดินผิดทาง เจอทางตัน แต่ก็ทำให้เกิดการแก้ไขเพื่อไปสู่เส้นทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้มีทักษะในการแก้ปัญหาดีขึ้น
5.เขาวงกตทำให้เด็กๆ เกิดความเชื่อมั่น เชื่อใจในตัวเอง
เมื่อเรียนรู้ที่จะวางแผนแก้ไขปัญหา รู้จักควบคุมตัวเอง ได้มองภาพแบบภาพรวมและได้แก้ปัญหาตามลำดับความยากง่ายแล้ว เมื่อลากเส้นออกจากเขาวงกตได้ ก็จะทำให้เด็กๆ เกิดความมั่นใจและเชื่อใจในตัวเองว่า มีความสามารถมากพอที่จะแก้ปัญหา และพาตัวเองออกมาจากหนทางที่ซับซ้อนได้
เกมเขาวงกต ถือเป็นเกมที่ทำให้เด็กๆ เกิดการควบคุมตนเองและช่วยทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกถึงความประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะให้เด็กๆ พร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะชีวิตในด้านอื่นๆ ต่อไป