พัฒนาทักษะสมอง EF ให้ลูกน้อย สร้างความสุขและความสำเร็จให้ลูกได้จริง

พัฒนาทักษะสมอง EF ให้ลูกน้อย สร้างความสุขและความสำเร็จให้ลูกได้จริง

Alternative Textaccount_circle
event

EF หรือ Executive Function คือ ความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย… เป้าหมายเป็นสิ่งที่เด็กกำหนดเอง มิใช่พ่อแม่กำหนด ศตวรรษที่ผ่านมาพ่อแม่อาจจะช่วยกำหนดได้ โตขึ้นให้เป็นอะไร ทำอาชีพอะไร แต่ศตวรรษที่ 21 ซับซ้อนเกินกว่าที่พ่อแม่จะกำหนดได้ เราต้องการให้เด็กมีทักษะสมอง EF ที่ดีเพื่อกำหนดเป้าหมายในชีวิตของตนเอง”

— นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ —

ความสำเร็จในชีวิตลูกไม่ได้อยู่ที่การได้คะแนนสอบสูง ทำงานตำแหน่งใหญ่โต หรือมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย แต่คือการเติบโตอย่างมีความสุขบนเส้นทางของลูกแต่ละคน สามารถที่จะดูแลตัวเองและช่วยเหลือคนรอบข้างได้ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็มาจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ และทักษะสมอง EF ที่ดี

EF พัฒนาสมอง เสริมสร้างภาวะผู้นำ

 

เราจึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่ มาทำความรู้จ้ก 8 แนวทางเพื่อฝึกทักษะสมอง EF ให้ลูกน้อย จากคิม มูกี ผู้เขียนหนังสือ สอนลูกให้ได้ดีและมีความสุข (สนพ.แพรวเพื่อนเด็ก) เสริมสร้างภาวะผู้นำ สามารถกำหนดเป้าหมายในชีวิตของตัวเองได้เป็นอย่างดีในอนาคต และมีความสุขไปตลอดชีวิต

EF พัฒนาสมอง ให้อิสระลูกค้นหาตัวเอง

  1. ให้อิสระลูกค้นหาตัวเอง

การให้ลูกค้นหาตัวตน ค้นหาสิ่งที่สำคัญ ค้นหาสิ่งที่ชอบ และการปลูกฝังให้ลูกสามารถพิจารณาตัดสินเรื่องต่างๆได้นั้น สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องล่อยให้ลูกค้นหาสิ่งที่เขาชื่นชอบอย่างอิสระ

ถ้าพ่อแม่เป็นคนกำหนดกะเกณฑ์ แล้วลูกทำตามไปเสียทุกเรื่อง สุดท้ายเขาจะกลายเป็นเด็กที่ยึดติดคนรอบข้าง ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ คิดด้วยตัวเองไม่ได้ คอยจะทำตามที่คนอื่นบอก

เมื่อให้ลูกได้ค้นหาสิ่งที่ชอบแล้ว พ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกตั้งเป้าหมาย เชื่อเถอะว่าลูกจะพยายามอย่างมากเกินกว่าที่พ่อแม่จะจินตนาการได้เลย

EF พัฒนาสมอง สนับสนุนเรื่องที่ลูกสนใจ

  1. สนับสนุนเรื่องที่ลูกสนใจ กรุยทางสู่อาชีพที่เหมาะสม

การศึกษาที่เปิดโลกทัศน์ให้ผู้เรียนพบอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง เป็นแนวทางการศึกษาที่ควรค่าที่สุดแก่เด็กทุกคน ว่ากันว่า หากคนเราได้ทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถของตนเอง ก็ถือว่ามีชัยไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของทั้งชีวิตแล้ว

ดังนั้น เมื่อพ่อแม่รู้ว่าลูกชอบสิ่งไหน แล้วสนับสนุนเปิดมุมมองในเรืองที่ลูกสนใจให้กว้างขึ้น เช่น พ่อแม่คอยซื้อหนังสือและสมุดภาพ สารานุกรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มาให้ พาไปหาประสบการณ์ผ่านการท่องเที่ยว เป็นต้น ประสบการณ์มีค่าเหล่านี้กระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจใฝ่รู้แบบชาญฉลาด ในที่สุดก็นำไปสู่แรงบันดาลใจเรียนรู้ หาคำตอบให้กับตัวเองได้

อะไรจะมีความสุขมากไปกว่าการมีชีวิตที่ได้ไล่ตามสิ่งที่ตัวเองชอบไปเรื่อยๆ และบางครั้งการไล่ตามความชอบก็พาไปสู่อาชีพที่ใช่ได้เหมือนกัน

EF พัฒนาสมอง ปล่อยให้ลูกได้ท้าทายตัวเอง

  1. ปล่อยให้ลูกได้ท้าทายตัวเอง

เพราะเริ่มต้นที่ตัวเอง จึงสู้ไหว!!

พ่อแม่อาจจะเป็นผู้เกริ่นนำสะกิดให้ลูกคิด แนะนำให้ลูกทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ แต่ไม่เข้าไปกะเกณฑ์ แนวทางการเลี้ยงดูแบบนี้จะทำให้ลูกมีสำนึกทำสิ่งต่างๆอย่างมีเป้าหมายเองเสมอ ทำทุกเรื่องด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจได้อย่างต่อเนื่อง

ยิ่งได้ท้าทายตัวเองก็ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจ ทำเต็มที่ ไม่ยอมแพ้ แข่งกับตัวเอง ไม่ได้แข่งกับคนอื่น ถึงล้มเหลว ลูกก็จะไม่โทษคนอื่น แต่จะพิจารณาตนเอง แล้วพยายามก้าวต่อไปให้ได้

ในระหว่างที่ลูกท้าทายตัวเองกับสิ่งใหม่ๆ นอกจากคอยสนับสนุนเรื่องเงิน พ่อแม่ควรเป็นกองเชียร์ของลูกด้วยการพูดให้กำลังใจด้วย ลูกจะรับรู้ความรักของพ่อแม่ที่คอยหนุนนำอยู่ข้างหลัง จะเป็นเสมือนแรงใจอันหนักแน่นให้กับตัวลูก ลูกที่รู้ว่าพ่อแม่คอยสนับสนุนอยู่ เขาจะมีความตั้งใจอย่างมาก ไม่อยากที่จะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง

EF พัฒนาสมอง ฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการสื่อสาร

  1. ฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการสื่อสาร และความคิดเห็นที่แตกต่าง

ความสามารถด้านการสื่อสารมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งความสามารถในการพูด การเขียน การฟัง ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ความสามารถในการสื่อสารที่จำเป็นมากที่สุด คือ ความสามารถในการฟังแล้วเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง

การฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการสื่อสาร สามารถทำได้โดยการพาเข้าสังคม พบปะพูดคุยกับคนอื่น ไม่ได้หมายถึงการต้องไปงานปาร์ตี้เท่านั้น เพียงแค่พ่อแม่เชิญคนนั้นคนนี้มาบ้าน และมีปฎิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านอย่างสม่ำเสมอ ลูกก็จะซึมซับความสำคัญและเห็นข้อดีของการมีสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างไปโดยธรรมชาติ เมื่อโตขึ้นลูกก็จะรู้จักปรับตัวเข้ากับผู้คนและสภาพแวดล้อมได้

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในการสื่อสารคือ ให้ลูกทำความเข้าใจมุมมอง ค่านิยม และความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยการอภิปรายโต้แย้งกันด้วยเหตุผล พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้และเข้าใจว่า ทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญและรับฟังเรื่องที่เราไม่อยากฟัง อย่างความคิดเห็นและค่านิยมที่แตกต่าง โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่สังคมโซเชียลมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างเปิดเผย และเราก็มักจะเห็นความขัดแย้งเพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่เสมอ หากเราสอนให้ลูกเข้าใจความคิดเห็นที่แตกต่าง และสอนให้รู้จักการแสดงความคิดเห็นอย่างถูกกาละเทศะ ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคมออนไลน์

EF พัฒนาสมอง สอนให้ลูกเข้าถึงจิตใจผู้อื่น

  1. สอนให้เข้าถึงจิตใจของผู้อื่น

พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา อะไรที่ไม่อยากให้คนอื่นทำกับเรา เราก็อย่าไปทำกับคนอื่น อะไรที่ตัวเองยังทำไม่ได้ก็อย่าไปบังคับคนอื่น “จงเป็นคนที่เห็นปกเห็นใจผู้อื่น”

สิ่งสำคัญที่สุดในการสื่อสารประจำวันคือ การสื่อสารความรู้สึกขอบคุณต่อผู้อื่น หากเราใช้หัวใจฟัง จะพบว่ารอบๆตัวเราเต็มไปด้วยเรื่องราวเล็กๆน้อยๆที่น่าขอบคุณและชื่นชมยินดีเสมอ เช่น เมื่อมีคนให้ของ มีคนช่วยเหลือ เราควรเอ่ยคำขอบคุณกับคนเหล่านั้น การขอบคุณทำให้เกิดพลังด้านบวกได้ทั้งกับผู้พูดและผู้ฟัง

หากพ่อแม่รู้จักมองให้เห็นความรื่นรมย์ ความสุขใจเล็กๆน้อยๆ และใช้ชีวิตแต่ละวันด้วยความรู้สึกขอบคุณแล้ว ท่าทีเหล่านี้จะส่งผลไปถึงลูก จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของลูกในอนาคตได้อย่างมากทีเดียว เพราะลูกใกล้ชิดและพร้อมที่จะเลียนแบบพ่อแม่อยู่ทุกเมื่อ ดังนั้น พ่อแม่เป็นเช่นไร ลูกก็เป็นกระจกสะท้อนพ่อแม่เช่นนั้น

EF พัฒนาสมอง สร้างแรงจูงใจด้านการเรียน

  1. สร้างแรงจูงใจด้านการเรียน

เด็กไม่มีทางรู้ว่าการเรียนมีคุณค่าเพียงใด จนกว่าจะเติบโตและเข้าสู่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมทุกวันนี้ที่การทำงานมีความสอดคล้องกับการเรียน การเรียนอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่หนึ่ในการดำเนินชีวิต แต่เป็นเสมือนใบเบิกทางให้เข้าสู่การทำงานได้ง่ายขึ้น

เด็กๆยิ่งบังคับเคี่ยวเข็ญให้เรียนเท่าไหร่ ก็ยิ่งต่อต้านขัดขืนเท่านั้น แต่การสอนให้เด็กเข้าใจความหมายและความสำคัญของการเรียน มีส่วนช่วยให้เด็กเกิดนิสัยใฝ่รู้และอยากเรียนเองมากขึ้น

สำหรับผู้ใหญ่ บางเรื่องเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องพูดก็เข้าใจ แต่สำหรับเด็ก บางเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องบอกและอธิบาย พ่อแม่สามารถสร้างแรงจูงใจในการเรียนได้โดยบอกลูกว่าการเรียนในวันนี้จะช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีในอนาคต และได้เลือกอาชีพที่ชอบ

สิ่งสำคัญ คือ พ่อแม่อย่ากดดันลูกในการเรียน จนลูกรู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่หาเทคนิคมาช่วยให้เขาสนุกกับการเรียน เช่น หาเวลาทำการบ้าน ทบทวนบทเรียนเป็นเพื่อนลูก เป็นต้น ลูกจะรู้สึกดีเมื่อมีพ่อแม่อยู่ข้างๆ และมีความมั่นใจในการเรียนมากยิ่งขึ้น

EF พัฒนาสมอง ปลูกฝังความเป็นผู้นำ

  1. ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดี โดยพ่อแม่เป็นตัวชี้นำ

การอบรมสั่งสอนในวัยเด็ก เช่น การมีระเบียบวินัย การเกรงใจผู้อื่น การสนใจใฝ่รู้ การใช้สอยเงินทอง และการใช้ชีวิตให้ถูกต้องในด้านต่างๆ เป็นเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลต่อลูกไปตลอดชีวิต

โดยเฉพาะการมีกิริยามารยาท รู้วิธีเข้าหาผู้อื่น รวมถึงท่าทีต่อผู้ให้บริการต่างๆ เช่น พนักงานในร้านอาหาร คนขับรถ เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้มารยาทและข้อปฏิบัติเหล่านี้ได้โดยมีพฤติกรรมของพ่อแม่เป็นตัวชี้นำ

อย่าลืมว่าพ่อแม่เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด ลูกคอยสังเกตและมองพฤติกรรมของพ่อแม่ เพราะเด็กเป็นเหมือนผ้าขาวที่พร้อมจะซึมซับสิ่งต่างๆที่เขาได้เห็น ได้ยิน ดังนั้น พ่อแม่มีทัศนคติและพฤติกรรมอย่างไร ลูกก็จะมีลักษณะอย่างนั้น อย่าลืมเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆนะคะ

EF พัฒนาสมอง ทำให้ลูกรู้จักความรักที่แท้จริง

  1. ทำให้ลูกรู้จักความรักที่แท้จริง

คนที่เชื่อมั่นว่าตนเองเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของผู้อื่น ส่วนมากเติบโตจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่มีความสบายใจ อบอุ่นด้วยความรัก และพ่อแม่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอย่างแน่นเฟ้น เมื่อไม่ระแวงสงสัยความรักที่ยิ่งใหญ่และได้รับความเชื่อใจจากพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก เขาก็เชื่อใจผู้อื่นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางคนดีๆ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า โดยพื้นฐานแล้วทุกคนเป็นคนดี ส่วนใหญ่คนพวกนี้จะรักและไว้ใจผู้อื่น เชื่อมั่นว่าจะได้รับความรักและความไว้วางใจกลับมาเช่นกัน ซึ่งถือเป็นวงจรความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดี

8 ข้อด้านบนนี้เป็นเพียงแนวทางที่จะให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำไปปรับใช้เท่านั้น สุดท้ายอย่าลืมว่าคนที่อยู่กับลูกมากที่สุดก็คือ พ่อแม่ ดูแลเขาให้ดีที่สุด เมื่อลูกโตขึ้นเราจะได้เห็นลูกใช้ชีวิตบนโลกอันซับซ้อนใบนี้ได้อย่างมีความสุข

สอนลูกให้ได้ดีและมีความสุข
เขียน : คิม มูกี และคุณพัมป์กิ้น
แปล : เมธินี นุชนาคา
ราคา 235 บาท
สั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ Amarinbooks

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up