การกระทำพ่อแม่ ทำร้ายจิตใจลูก หากพ่อแม่อยากให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างคนที่ “เก่ง ดี มีสุข” คนสำคัญที่จะสามารถสร้างให้ลูกได้ ก็คือพ่อแม่ แต่บางครั้งพ่อแม่อาจมองข้ามการกระทำของตัวเองที่ส่งไปให้ลูก ทีมงาน Amarin Baby & Kids มี 10 การกระทำของพ่อแม่ที่อาจทำร้ายจิตใจลูก โดยไม่รู้ตัว มาให้ทราบกันค่ะ
10 การกระทำพ่อแม่ ทำร้ายจิตใจลูก แบบไม่รู้ตัว!!!
ด้วยความรักของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกได้ดีมีอนาคตสดใส บางครั้งอาจจะเพลี่ยงพล้ำใส่อารมณ์กับลูก จนหลุดคำพูด หรือการกระทำที่ไม่ดีจนไปกระทบกับจิตใจของลูก ซึ่งพ่อแม่รู้กันหรือไม่ว่าคำพูด หรือการกระทำที่ไม่ดี สามารถสร้างปมในใจลูกไปจนโตได้ และต่อให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ได้ดีแค่ไหน เขาก็จะมีคำพูดร้ายๆ จากพ่อแม่ที่คอยหลอกหลอนเขาอยู่ตลอดเวลา คำพูดที่ไม่ดี การกระทำที่แย่ๆ จากพ่อแม่ คือตัวขัดขวาง เป็นเสมือนอุปสรรคให้ลูกไปไม่ถึงฝั่งฝัน และไม่ประสบความสำเร็จกับทุกเรื่องในชีวิต
กำลังใจที่ดีและสำคัญที่สุดในชีวิตลูก ก็คือพ่อกับแม่ แล้วถ้าหากคุณกำลังทำหน้าที่พ่อแม่ให้กับหนึ่งชีวิตน้อยๆ ที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจ คุณจะไม่อยากเห็นลูกที่รักเติบโตขึ้นอย่างเด็กที่มีคุณภาพกันหรือคะ และนี่คือเรื่องที่พ่อแม่ส่วนใหญ่อาจทำร้ายจิตใจลูกไปโดยไม่รู้ตัว และหากคุณมีมากกว่า 5 ใน 10 ข้อ คุณควรต้องรีบแก้ไข ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ค่ะ
1. ไม่เคยรับฟังความคิดเห็นของลูก
เวลาทานข้าวนอกบ้านคุณเคยถามลูกไหมว่าเขาอยากทานอะไรเป็นพิเศษ เมนูโปรดของลูกคืออะไร?
ไปเที่ยวช่วงปิดเทอม คุณเคยถามลูกไหมว่าอยากไปทะเล น้ำตก หรือภูเขา?
อยากให้ลูกเรียนกิจกรรมเสริม คุณเคยถามลูกไหมว่าเขาอยากเรียนหรือเปล่า? ลูกสนใจศิลปะ เต้นบัลเล่ หรือดนตรี?
และอีกสารพัดเรื่องเกี่ยวกับลูก พ่อแม่ลองถามตัวเองกันก่อนว่า แท้จริงแล้วคุณรู้อะไรที่เป็นตัวตนของลูกจริงๆ แค่ไหน หรือไม่เคยรู้เลย เพราะไม่เคยถามลูก ทุกอย่างที่ลูกทำนั้นคือสิ่งที่พ่อแม่ยัดเยียดให้ โดยที่ไม่รู้ว่าลูกอยากทำ อยากเป็น อยากได้จริงๆ ไหม
หากพ่อแม่ไม่เคยเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นบ้างเลย เมื่อถูกสะสมมากๆ เข้า ลูกจะเติบโตขึ้นอย่างเด็กที่คิดไม่เป็น และไม่มีความสุข เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่พ่อแม่กำหนดให้เท่านั้น การปิดกั้นความคิดของลูก ก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นไม่ให้เด็กคนหนึ่งมีอนาคตตามแบบฉบับที่แท้จริงของเขาเอง
2. มีถ้อยคำรุนแรงให้ลูกตลอดเวลา
ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กแต่ละคนถึงแม้จะอยู่ในช่วงวัยเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีพฤติกรรม คำพูด การกระทำ หรือมีพัฒนาการทักษะทุกด้านเก่งเหมือนกัน เพราะเด็กแต่ละคนเขาก็จะมีความสามารถ ความถนัดเฉพาะเรื่อง เฉพาะทางของเขา หรือบางครั้งลูกอาจจะทำผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ โดยที่ลูกเองก็ไม่ได้ตั้งใจที่อยากจะทำให้ความผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น ทำแก้วแตก เล่นแล้วลืมเก็บของเล่น ทานข้าวไม่หมดจานเพราะแม่ตักให้ข้าวมากไป ฯลฯ
ทุกการกระทำของลูกไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่อใหญ่แค่ไหน สิ่งที่พ่อแม่ควรทำกับลูกคือการตั้งตั้งสติ แล้วค่อยๆ บอก ค่อยๆ สอนชี้แนะลูกว่าที่เขาทำนั้นอะไรดีไม่ดี แต่ไม่ใช่การด่าทอว่าลูกด้วยถ้อยคำพูดที่รุนแรงทุกครั้ง เช่น ไอเด็กบ้าทำอย่างนี้ได้ไง ฉันบอกแล้วใช่ไหมว่าอย่าทำ หรือไอลูกบ้า เด็กเปรต ไอลูกนอกคอก หรือด่าชนิดที่สัตว์เลื้อยคลานเต็มบ้าน ฯลฯ ขอร้องว่าพ่อแม่อย่าพูดกับลูกแบบนี้เด็ดขาด เพราะการใช้ถ้อยคำด่าว่ารุนแรง นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น คำพูดเหล่านี้ยังจะไปกระทบกับใจลูกให้ยิ่งแย่เข้าไปอีก แล้วเด็กจะมีปมนี้ติดตัวไปจนโต แถมดีไม่ดีลูกก็จะเลียนแบบเอาพฤติกรรมแบบอย่างที่เห็นจากพ่อแม่ ติดตัวไปใช้กับคนอื่นได้นะคะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
3. ไม่เคยชื่นชม แถมยังทำลายความมั่นใจลูก
“ระบายสีส่งประกวดไม่ได้รางวัลที่หนึ่ง แต่ก็ได้รางวัลที่สามนะลูกไม่เป็นไร หนูดีที่สุดแล้วคนเก่งของแม่”
หรือ…
“โง่ ทำอะไรก็ไม่เห็นเหมือนเพื่อน ดูซิเพื่อนเล่นกีฬาก็เก่ง เรียนหนึ่งสือก็เก่ง นี่อะไรเราไม่ได้เรื่องสักอย่าง ไม่เก่งเหมือนพ่อกับแม่เลยสักนิด น่าขายขี้หน้าคนอื่นจริงๆ เลย เด็กคนนี้”
ไม่ว่าลูกจะเรียนเก่ง หรือเล่นกีฬาเด่นหรือไม่ก็ตาม พ่อแม่มีหน้าให้กำลังใจ ชื่นชม และต้องเป็นครู เป็นโค้ชที่ดีคอยสอนชี้แนะแนวทางแก้ไขให้กับลูก แต่ไม่ใช่ไปซ้ำเติมตรงจุดอ่อนของลูก เพราะยิ่งจะทำให้เขาเสียขวัญ หมดกำลังใจ และขาดความมั่นใจกับทุกเรื่องที่ทำ ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ เล่นกีฬา เล่นดนตรี ร้องเพลง ฯลฯ เติบโตขึ้นไปก็ไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
4. ลงโทษลูกทุกครั้ง เวลาที่ทำผิด
พ่อแม่คนไหนยังลงโทษลูกด้วยการตีอยู่บ้างคะ เข้าใจว่ารักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำโทษลูกด้วยการตีทุกครั้งนะคะ เพราะสมัยนี้มีการลงโทษหลายวิธีที่ดีกว่าการตีให้ลูกเจ็บ อย่างการลงโทษลูกด้วยวิธี Time in หรือ Time out คือให้ลูกนั่งเข้ามุมสัก 5-10 นาที หรือให้อยู่ในห้องนอนห้ามเล่นเกม เล่นของเล่น สัก 20-30 นาที โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องเข้าไปยุ่งกับลูก จากนั้นเมื่อครบเวลาทำโทษแล้ว ก็มานั่งคุยกันกับลูกว่าที่พ่อแม่ทำโทษลูกเพราะอะไร เขาทำผิดแบบนี้แล้วมันจะไม่ดีกับตัวเขาและคนรอบข้างยังไง พูดชี้ให้เขาเห็นถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กเกิดการคิดตาม และสำนึกในความผิดของตัวเอง เพื่อที่ครั้งหน้าก่อนที่เขาจะทำแบบนี้อีก เขาจะได้เกิดการยับยั้งชั่งใจไม่ทำผิดซ้ำขึ้นอีก
การลงโทษด้วยการตี อาจทำให้เด็กเกิดความกลัว และไม่กล้าบอกพ่อแม่ทุกเรื่อง ไม่กล้ามาปรึกษา เพราะกลัวว่าถ้าพูด ถ้าถามพ่อแม่ จะต้องถูกลงโทษด้วยการตีแน่ๆ ที่สำคัญการลงโทษด้วยการตีให้เจ็บ ยังจะเป็นการส่งต่อความรุนแรงให้ติดตัวเด็กไปจนโตได้ค่ะ
5. ใช้ความรุนแรงกับลูก
หากจะถามว่าในยุคสมัยนี้ยังมีพ่อแม่ที่ชอบสาดความรุนแรงใส่ลูก ยังมีอยู่บ้างหรือเปล่า ? คำตอบคือยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น
- ดึงกระชากแขนลูก เวลาที่โมโห เพราะลูกไม่ได้ดั่งใจ
- ตีลูกด้วยไม้แขวนเสื้อ เพราะลูกทำการบ้านไม่ได้
- เอานิ้วจิ้มลงไปที่หน้าผากลูกจนลูกล้มหน้าหงาย เวลาที่ลูกพูดไม่รู้เรื่องว่าจะเอาอะไร
จริงๆ ยังมีความรุนแรงอีกหลายรูปแบบที่พ่อแม่อาจเผลอทำไปกับลูก ซึ่งบางครั้งมาจากตัวของพ่อแม่เอง ที่หงุดหงิดทะเลาะกันแล้วสุดท้ายก็มาลงกับลูก เด็กที่ต้องอยู่กับความรุนแรงตลอดเวลา จะกลายเป็นเด็กที่เก็บกด ไม่รู้สึกรักพ่อแม่ และบางครั้งก็ไม่รักตัวเองหันไปคบเพื่อที่ไม่ดี ติดเกม และหลงเดินทางผิด ติดยา ติดเหล้า ไม่ชอบเรียนหนังสือ เชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่
อ่านต่อ >> “10 การกระพ่อแม่ ทำร้ายจิตใจลูก” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่