2 เทคนิคเลี้ยงลูก ให้สุขภาพจิตแข็ง
1. ความสัมพันธ์ในบ้านที่ดี
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าความรักคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี แต่นั่นยังไม่ถูกต้อง เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกแบบใช้อำนาจ แล้วให้ความรักแก่ลูกด้วยการบังคับ หรือให้ความรักด้วยการเปรียบเทียบ บ่น ตำหนิ ต่อว่า เพื่อหวังว่าเขาจะดีขึ้น เช่น “ทำไมถึงทำตัวอย่างนี้ รับผิดชอบบ้างสิ เห็นไหมว่าข้างบ้านเราเขาเรียนกันยังไง เห็นไหมว่าเขาเพียรพยายามขนาดไหนถึงเรียนได้เกรดดีขนาดนี้ โตขึ้นอยากจะประสบความสำเร็จกับเขาบ้างรึเปล่า” หากแสดงความรักแบบนี้ ลูกย่อมไม่เกิดความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่อย่างแน่นอน จริงไหมคะ แล้วลูกจะรับรู้ได้ไหมว่านี่คือความรัก…เด็กบางคนอาจจะรับรู้ แต่รับรู้บนความโกรธและความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ซึ่งเด็กที่โตมาด้วยความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ย่อมไม่มีทางเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจและกล้าทำในสิ่งที่เหมาะสมด้วยตัวเองได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกได้ต้องปรับที่วิธีการสื่อสารของคุณพ่อคุณแม่ ดังนี้
พูดให้ถูกวิธี
หลักของการพูดที่ถูกวิธี คือการใช้ “I” Massage หรือขึ้นต้นด้วย “ฉัน” หรือ “เรา” ในขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่พูดกับลูกขึ้นต้นด้วย “You-He-She-They” เช่น “คนบ้านนี้มันไม่รู้จักรับผิดชอบ พูดกี่ทีแล้วก็ไม่รู้จักฟัง เบื่อ!” ด่าใครไม่รู้…แม้จะไม่ระบุชื่อแต่ถ้าลูกที่ฟังอยู่เป็นคนคิดมาก ลูกก็จะคิดว่า “หนูก็ทำการบ้านเสร็จแล้ว ดีขนาดนี้แม่ยังด่า…” แต่ถ้าลูกปรับตัวง่ายก็จะฟังหูซ้ายทะลุหูขวา หรือสื่อสารกับลูกด้วย “You” เช่น “นี่ เราคุยกันกี่รอบแล้ว รับผิดชอบบ้างสิ จำได้บ้างไหม จะเรียนไหมหนังสือเนี่ย หรืออยากจะไปเป็นขอทาน” นี่คือการใช้ You ล้วนๆ เมื่อใช้ You คำสอนก็จะกลายเป็นคำบ่นและคำด่าในทันที คำพูดของแม่จึงเป็นการสื่อสารที่ผิด เพราะไม่ได้ช่วยให้ลูกทำสิ่งที่ถูกต้องเลย แล้วต้องพูดแบบไหนถึงจะเรียกว่า “I” Message ล่ะ หมอมีเทคนิคมาให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกพูดกันค่ะ
“I” Message ใช้แล้วแฮปปี้กันทั้งบ้าน
ขั้นตอนของการพูดด้วย “I” Message มีทั้งหมด 3 ขั้น ตามลำดับ ดังนี้
- บอกว่าสถานการณ์นี้คืออะไร ไม่ได้บอกว่าเขาเป็นอย่างไร เช่น ลูกดูทีวีไม่ทำการบ้าน ให้พูดว่า
พ่อแม่ควรพูดกับลูก คือ “เอาแต่ดูทีวีอย่างนี้”
พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก คือ “ทำไมไม่รับผิดชอบ”
เราควรบอกพฤติกรรมที่ชัดเจน ไม่ใช่บอกคุณลักษณะ อย่าไปตัดสินว่า ลูกแย่อย่างไร
- แม่หรือฉันรู้สึกอย่างไร ที่ต้องพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะแม่ห่วงลูกอย่างไร รู้สึกอย่างไร ทำไมต้องบ่นให้มาทำการบ้าน โดยส่วนมากเรามักจะบ่นหรือดุด่า แต่ไม่เคยบอกความรู้สึกลงไปเลยว่า “ไม่ทำการบ้าน เอาแต่ดูทีวีอย่างนี้ แม่ห่วงนะลูก เดี๋ยวการบ้านไม่เสร็จ คืนนี้ต้องมาอดนอนทำ หนูก็ต้องถูกแม่บ่นอีก เดี๋ยวก็หงุดหงิดร้องไห้อีก” นี่คือความเป็นห่วงที่เราไม่เคยบอกเขา แต่เรามักบอกแต่ว่าลูกไม่ดี ลูกไม่รับผิดชอบ ลูกไม่ได้เรื่อง
- บอกว่าอยากให้เกิดอะไรขึ้นต่อไป ไม่ใช่บ่นพร่ำพรรณายาว แค่บอกสั้นๆ ว่า “ปิดทีวี” แค่นั้นเอง แต่บางคนขุดตั้งแต่อดีตมาด่าอีก 5 นาที ฉะนั้นบอกไปเลยสั้นๆ ว่า ”ปิดทีวีแล้วมาทำการบ้านค่ะลูก” จบ
ทั้งหมดนี้คือ 3 ขั้นตอนของการพูด “I” Message แต่…การจะทำให้ “I” Message มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จได้อย่างดีนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องฝึกฝน อยู่ใกล้ลูกขณะพูด และใช้น้ำเสียงจริงจังด้วยนะคะ
- คนที่ไม่เคยทำต้องฝึก! เวลาหมอสอนเวิร์คช็อปกับพ่อแม่ หมอจะให้เขียนประโยคที่ต้องพูดตามสถานการณ์นั้นๆ ก่อน เพราะถ้าเราไม่ฝึก ถึงเวลาจริงๆ พูดไม่ได้หรอก ดังนั้นต้องฝึกพูดกับตัวเองหน้ากระจก หรือฝึกพูดกับสามีให้เรียบร้อยก่อนว่าโอเคไหม เพราะพอให้ลองทำจริงๆ 80% จะขึ้นต้นด้วย “You” เหมือนเดิม เคล็ดลับง่ายๆ คือ ต้องลองยกสถานการณ์ มีตัวอย่างประโยค แล้วลองทำ เช่น ลูกไม่ทำการบ้าน คุณจะพูดกับลูกว่าอย่างไร ให้ลองเขียนเป็นประโยคเลย ไม่อย่างนั้นก็จะทำไม่เป็น
- คำพูดจะมีพลัง เราต้องอยู่ใกล้ลูก แม่อยู่หน้าบ้าน ตะโกนให้ตายลูกก็ไม่สนใจ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องวางของทุกอย่าง แล้วเดินไปใกล้ๆ เขา จะแตะไหล่ จ้องตา หรือเรียกชื่อก็ได้ เพื่อให้ลูกรู้ว่าเราคุยกับเขาอยู่นะ
- ใช้น้ำเสียงที่จริงจัง หรือแม้กระทั่งบอกว่าเราไม่พอใจอยู่ก็พูดได้ เราไม่ได้ด่าเขานะคะ หลายครั้งเรามักจะพูดกับลูกว่า “ทำไมเป็นเด็กไม่ดีอย่างนี้นะ” เด็กเขาจะเถียงกลับในใจว่า “ฉันไปโรงเรียนทุกวัน ฉันไม่เคยโกหก ฉันไม่ดียังไง เพื่อนๆ เขาก็เล่นเกมกันทุกคน แสดงว่าเด็กทั้งห้องก็นิสัยไม่ดีหมดสิ” แต่ถ้าเราบอกว่า “แม่โกรธลูกอยู่นะ” เด็กจะไม่มีสิทธิ์เถียง เพราะแม่โกรธ ซึ่งมันเป็นความจริง เช่น “เล่นเกมอย่างนี้แล้วไม่ทำการบ้าน แม่รู้สึกโกรธ แม่ไม่ชอบ” บอกได้ แต่ต้องบอกด้วยว่าที่เราไม่ชอบเพราะอะไร “เพราะแม่เป็นห่วง แม่หงุดหงิดเพราะเป็นห่วงว่าเดี๋ยวงานมันจะไม่เสร็จ ป่ะ…ปิดเกม” จะเห็นว่าไม่มีคำด่าออกมาจากปากเลย ไม่มีคำว่า “เขาเป็นเด็กไม่ดี” ตรงไหนเลย แต่บอกให้เขารู้ว่า ตอนนี้ฉันกำลังหงุดหงิดนะเธอ นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ใช้น้ำเสียงที่จริงจัง ทำได้เลย ไม่มีปัญหา แล้วไม่ต้องห่วงว่าคำพวกนี้จะทำร้ายจิตใจลูก เพราะเราไม่ได้ตหนิลูกสักคำ
ชมให้เป็น
หลังจากลูกทำตามที่เราพูดได้แล้วจากการใช้ “I” Message ก็เข้ามาสู่เรื่องการชม คุณแม่อาจชมลูกว่า “เก่งนี่ พอตั้งใจแป๊บเดียวก็ทำการบ้านเสร็จแล้ว พรุ่งนี้ทำแบบนี้อีกนะคะ” และแล้ววันนั้นก็จบลงด้วยการทำการบ้านเสร็จ ไม่ทะเลาะกัน มีความสุขกันทุกฝ่าย เรื่องการชม หมอเชื่อว่าทุกคนทำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำชมก็มีเทคนิคการใช้เช่นกัน
ชมอย่างไรให้ลูกรู้สึกดี
- ต้องรู้สึกดีกับลูกจริงๆ อันดับแรกเลยต้องย้อนกลับมาถามตัวเองก่อนว่า “คุณคิดว่าลูกของคุณมีอะไรดีบ้าง” มีพ่อแม่บางคนตอบว่า ไม่มี เพราะขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ เถียงเก่ง ดื้อ หมอต้องถามย้ำว่า ข้อดีสักข้อมีไหม ซึ่งพ่อแม่บางคนนึกไม่ออก หมอถึงกับต้องถามกลับว่า ลูกไปโรงเรียนทุกวันหรือเปล่า โกหกไหม ขโมยของไหม ตีน้องตีเพื่อนหรือเปล่า ติดยาไหม ถ้าเขาไม่ได้ทำสิ่งไม่ดีเหล่านี้ เขายังไม่ดีอีกหรือ มีบ้างเหมือนกันที่พ่อแม่ตอบว่า ยังไม่ดีพอ เพราะพ่อแม่บางคนคาดหวังกับลูกสูง คิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ลูกต้องทำได้อยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องชม
- ทำไมต้องรู้สึกดีกับลูกจริงๆ เพราะหากไม่รู้สึกว่าลูกมีอะไรดีจริงๆ จะกลายเป็นการชมแบบปากพูดชมแต่สีหน้าไม่ใช่ ซึ่งเด็กก็ดูออก หรือหากไม่พูดชมเลยก็จะเป็นการบั่นทอนกำลังใจเด็ก เช่นเคสเด็กคนหนึ่งซึ่งเรียนดี ได้เกรดสี่ ได้ทุน สอบติดที่หนึ่งของคณะ แต่ตอนนี้เรียนมหาวิทยาลัยจะไม่จบ เขาไม่มีกำลังแรงใจจะเรียนแล้ว เนื่องจากทั้งชีวิตโดนคุณพ่อพูดว่า “เก่ง แต่ จะเก่งกว่านี้ถ้าขยันกว่านี้ ตั้งใจกว่านี้” เด็กจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอสำหรับพ่อสักที
- ชมคือชม ไม่ใช่ชมแล้วบ่น คำชมก็ต้องเป็นคำชม ไม่ใช่ “ตั้งใจทำก็เป็นนี่ เป็นเด็กดีนะเนี่ย อย่าไปทำตัวให้เหมือนที่ผ่านๆ มาล่ะ” พ่อแม่หลายคนมักตกม้าตายแบบนี้ เพราะกลับมาใช้ “You” Message เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นก็จะจบลงไม่สวยเท่าไร คำชมที่ชมไปก่อนหน้านี้จะหมดค่าไปทันที
- ชมได้ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องรอจนลูกได้โล่รางวัล ไม่ต้องรอจนลูกได้เกรดสี่ หลายบ้านมักจะรอลูกประสบความสำเร็จแล้วค่อยชม แต่ระหว่างทางที่กว่าลูกจะไปถึงความสำเร็จนั้น ไม่มีใครชมเขาเลย ทำให้ไม่เกิดการส่งเสริมคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้กับลูก เช่น ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่นตั้งใจ เป็นต้น เพราะลูกไม่ได้ถูกชมเชยลักษณะนิสัยเหล่านั้น การรอให้ลูกประสบความสำเร็จแล้วค่อยบอกว่าลูกเก่งนั้น จะมีเด็กสักกี่คนที่ไปถึงจุดนั้นได้ หมอเห็นเด็กบางคนดีมากๆ เลย แต่เด็กคนนั้นกลับรู้สึกว่าชีวิตของเขาไม่มีคุณค่าอะไร เพราะไม่เคยมีใครชมเขา มีแต่ถูกตำหนิ นี่คือประเด็นสำคัญที่พ่อแม่ต้องตระหนักและรู้จักชมลูกโดยไม่ต้องรอ แม้ผลลัพธ์อาจไม่ถูกใจ แต่ระหว่างทางนั้นลูกทำได้ดีก็ชมเขาได้ “หนูขยันจัง มีความรับผิดชอบ มุ่งมั่นตั้งใจดีมาก” ชมไปเถอะ ลูกรอที่จะถูกชมอยู่แล้ว
อ่านต่อ >> “สอนเทคนิคเลี้ยงลูก ให้สุขภาพจิตแข็งแรง” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่