2. กฎระเบียบที่ดี
พ่อแม่กลุ่มที่ต้องเน้นเรื่องกฎระเบียบในบ้านเป็นพิเศษ คือกลุ่มพ่อแม่ที่ตามใจหรือปล่อยปละละเลยลูก พ่อแม่กลุ่มนี้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก เพราะไม่เคยดุด่าว่ากล่าวให้เจ็บช้ำใจ แต่!… ลูกไม่เก็บรองเท้า ไม่ทำการบ้าน ไม่มีระเบียบในชีวิต พอไปโรงเรียนก็มีปัญหา เพราะไม่มีความอดทนกับกฎระเบียบของโรงเรียน ไม่อดทนรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน เข้ากับเพื่อนไม่ได้และกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ
ปัญหาคือ พ่อแม่เลือกที่จะไม่ใช้กฎระเบียบกับลูก ทำไม่สม่ำเสมอ หรือเมื่อเจอลูกงอแงก็ทำไม่ได้ ตัวอย่างที่พบได้บ่อย เช่น ตั้งกฎระเบียบเอาไว้ว่า ให้ลูกทำการบ้านก่อนแล้วค่อยเล่นเกมได้ แต่วันนี้พ่อแม่กลับบ้านมาเหนื่อย เห็นลูกเล่นเกมแล้ว แต่ไม่มีแรงห้าม เลยปล่อยไปสักวัน เมื่อเราหย่อนกฎระเบียบ ลูกก็ได้ใจ วันนี้ทำได้เหรอ งั้นพรุ่งนี้ลองทำใหม่ เผื่อฟลุ๊คเหมือนวันนี้ แต่ถ้าพ่อแม่จริงจัง ทำตามกฎระเบียบที่ตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะไม่มีคำว่าฟลุ๊คในชีวิตลูก ลูกก็จะคิดว่าสู้กัดฟันทำการบ้านให้เสร็จๆ เสียก็จบ แล้วค่อยมาเล่นเกมทีหลังดีกว่า ซึ่งเทคนิคการใช้กฎระเบียบที่ดี นอกจากต้องมีความสม่ำเสมอแล้ว ยังต้องมีรางวัลและบทลงโทษช่วยเสริมให้ลูกมีวินัยมากขึ้นด้วยค่ะ
ให้รางวัล ไม่ใช่สินบน
พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การให้รางวัลกับการติดสินบนไม่เหมือนกัน เช่น “ทำการบ้านนะลูก เดี๋ยวให้กินไอศกรีม” นี่คือการให้สินบน เพราะทุกครั้งที่อยากให้ลูกทำดี ลูกจะรอก่อนว่า คุณจะให้อะไร หากทำแบบนี้จะไม่ช่วยสร้างลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมที่ดีได้เลย
หลักง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องจำไว้คือ “การให้คำชมต้องให้ทันทีเมื่อทำดี แต่การให้รางวัลจะไม่ให้ทันทีเมื่อทำดี แต่ลูกต้องสะสมความดีก่อน ลูกถึงจะได้” ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่ให้ได้แค่คำชมเท่านั้น เพราะจุดประสงค์หลักของการให้รางวัล ไม่ใช่การให้สิ่งของแก่เขา แต่ต้องการให้เกิดพฤติกรรมที่ดีอย่างต่อเนื่องต่างหาก
ให้รางวัลอย่างเหมาะสม ช่วยปรับพฤติกรรมได้
การให้รางวัลอย่างเหมาะสมต้องมีระยะเวลา เหมือนกับการสะสมแสตมป์ในร้านสะดวกซื้อ สะสมครบ 10 ดวงแลกของรางวัลชิ้นเล็ก หากอยากได้ของชิ้นใหญ่ต้องสะสมไปเรื่อยๆ หลักการให้รางวัลกับลูกก็เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น “ทำการบ้านเสร็จได้แต้มมาสะสมทุกวัน สามารถเอาแต้มมาแลกขนมได้ แต่ถ้าสะสมจนครบตามที่กำหนด สามารถแลกเวลาเล่นเกมในวันเสาร์อาทิตย์เพิ่มได้ 10 นาที” มีเคล็ดลับอีกนิดคือ
- ของรางวัลต้องเป็นรูปธรรม
- มองเห็นความก้าวหน้าของการสะสมความดีชัดเจน โดยอาจแปะดาวติดข้างผนังห้องเลยว่า วันนี้ทำดีอะไร ได้ดาวกี่ดวงแล้ว
- ความดีที่ให้ทำต้องไม่ยากเกินไป เลือกกิจกรรมที่ลูกจะทำได้สำเร็จแน่นอน อาจเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน เพราะหากเลือกสิ่งที่ยากเกินไป เด็กจะทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ก็จะเกิดความท้อใจและล้มเลิกไปในที่สุด
- ต้องมีรางวัลให้ทั้งระหว่างทางและปลายทาง อย่ารอให้รางวัลชิ้นใหญ่ทีเดียว เพราะเด็กจะขาดกำลังใจ
- สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างที่ลูกทำความดี ด้วยการลดการบ่น เพิ่มคำชม เมื่อเกิดความสัมพันธ์ที่ดีแล้วจะทำให้คุยกันง่ายขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น
ลงโทษอย่างถูกต้อง
“ตีลูกได้ไหม” คือคำถามที่พ่อแม่หลายคนสงสัยกันมาก หลักของการลงโทษเมื่อลูกทำผิดมีแค่ว่า “ลงโทษอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่ทำร้ายร่างกายและจิตใจ” พ่อแม่บางคนบอกหมอว่า ฉันไม่เคยตีลูกเลย แต่คำพูดที่ดุด่าลูกแต่ละคำนั้นช่างโหดร้าย ดังนั้นกลับมาที่คำถามว่าตีลูกได้ไหม จริงๆ ไม่ได้ห้ามตี แต่การตีนั้นต้องไม่ใช่การทำร้ายร่างกาย เช่น ตีจนเขียวช้ำ เลือดออก ตีจนแขนขาหัก เมื่อตีหรือทำโทษเสร็จแล้วต้องอบรมสั่งสอนต่อว่าตีเพราะอะไร ไม่ใช่ตีเสร็จแล้วจากไป โดยที่ลูกก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่พึงควรทำหรือไม่ควรทำนั้นคืออะไร สุดท้ายก็กลับมาใช้เรื่องของ “I” Message เช่นเดิม คือ ที่ตีเพราะพฤติกรรมแบบนี้ ทำให้แม่รู้สึกว่าต้องจัดการเพราะเราเคยตกลงกันไว้แล้ว แล้วต่อจากนี้เราควรทำอย่างไรต่อไปดี ซึ่งก็คือการถามว่าลูกจะทำอย่างไรต่อ ไม่ใช่ใส่อารมณ์ลงไปอย่างเดียว
การลงโทษที่เหมาะสมจริงๆ คือการตัดสิทธิ์ที่ลูกพึงจะได้หรือเป็นสิ่งที่ลูกอยากได้ เช่น การลดเวลาเล่นเกม ลดชั่วโมงอินเตอร์เน็ต เป็นต้น หัวใจสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ว่าลูกชอบและไม่ชอบอะไร แล้วตัดสิทธิ์นั้นทิ้งเมื่อลูกทำผิด หรือให้ทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบมากขึ้น เช่น นอกจากทำความสะอาดห้องของตัวเองแล้ว ต้องทำความสะอาดห้องนั่งเล่นเพิ่มด้วย
สรุปแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ส่วนมากเกิดจากพ่อแม่เป็นหลัก หมอบอกได้เลยว่า หมอต้องมารักษาพ่อแม่เยอะที่สุด เด็กรักษาเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคจริงๆ แต่ในกลุ่มที่มีปัญหาทั่วไปพ่อแม่หลายคนไม่ปรับทัศนคติ ไม่ทำความเข้าใจลูก คิดแต่ว่าลูกต้องเปลี่ยน ไม่ใช่ตัวฉัน คิดแบบนี้ทุกอย่างก็จบแล้ว หมอขอเข้าข้างเด็กในเรื่องนี้ เช่น แม่ยังไม่เลิกดุด่าเลย แล้วลูกจะกลายเป็นคนพูดจาไพเราะได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการรู้ตัวของพ่อแม่ว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่นั้นจึงสำคัญที่สุด หลักการเลี้ยงดูลูกที่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและให้ความสำคัญก็มีแค่เพียงเท่านี้ล่ะค่ะ
อ่านต่อ >> “เด็กไทยซึมเศร้า และเกเรเพิ่มมากขึ้น” คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่