รู้ว่าเมื่อไรควรเผชิญหน้าเมื่อไรควรหลีกเลี่ยง เมื่อไรต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็งหรือความสามารถในเรื่องใด
มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริงเป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุข
สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่นมักจะเป็นนักคิดนักปรัชญา นักวิจัย นักเขียนนวนิยาย ที่ปรึกษา นักปรัชญานักบวช นักการศาสนา นักจิตวิทยา และผู้นำด้านต่างๆ
คนดังระดับตำนานที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ เพลโตนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก หรืออาริสโตเติล นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นศิษย์เอกของเพลโต
สิ่งที่เป็นบุคลิกเฉพาะตัวอย่างเห็นได้ชัดของผู้มีทักษะนี้เช่น รู้จักตนเอง รู้คุณค่าของตน รับรู้ความรู้สึกของคนอื่นมีพัฒนาการตนเองได้ดี ชอบสันโดษ เป็นตัวของตัวเองสูงมีความกระตือรือร้น มีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตนเองชอบสรุปบทเรียน โปรดปรานการเขียนบันทึก และนิยมชมชอบที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง
คำถามที่ใช้วัดแววหรือประเมินลูกรักว่ามีความสามารถในด้านนี้หรือไม่ ได้แก่
1. ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำสมาธิ คิดคำถามเกี่ยวกับชีวิต
2. ชอบเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเอง เรียนรู้ตนเอง
3. สามารถตอบโต้โดยใช้ความสงบ
4. มักคิดถึงเป้าหมายในชีวิตที่สำคัญ
5. ชอบประเมินตนเองว่าประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย
6. มีความชัดเจนในการประเมินจุดดีจุดด้อยของตัวเอง
7. ชอบปลีกวิเวกเวลาต้องครุ่นคิดแก้ไขปัญหา
8. ชอบเขียนสมุดบันทึกเพื่อไว้ประเมินผลงานและเป้าหมายในชีวิต
9. มักเลือกสถานที่พักผ่อนซึ่งสงบเงียบ ไม่ชอบที่คนพลุกพล่าน
10. มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้ความคิดตัวเองว่าต้องการอะไรในชีวิต
11. ชอบทำงานด้วยตัวเอง มีกิจการเป็นของตัวเองมากกว่าเป็นลูกจ้างคนอื่น
12. ชอบทำบททดสอบว่าตัวเองถนัดด้านใดจุดอ่อนอยู่ที่ใด
13. ชอบฝึกทักษะใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเองเช่น เรียนภาษาต่างประเทศ ฝึกศิลปะ
14. มักชอบไปศาสนสถานที่ตนเองนับถือสม่ำเสมอ
15. มักมีความฝันของตัวเองโดยเฉพาะมักชอบบันทึกและมุ่งมั่นที่จะทำตามฝัน
หากมีแววตั้งแต่ 12 ข้อขึ้นไปก็น่าจะเป็นอัจฉริยะด้านนี้ครับ
การศึกษาเรื่องการเข้าถึงตนเองของมนุษย์มีมาตลอดประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ทั้งทางตะวันตกและตะวันออก เพื่อเข้าใจตนและผู้อื่นและเพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
โดยเฉพาะคนที่จะมาเป็นผู้นำด้วยแล้ว ยิ่งต้องรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง จะได้ใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์ ไม่ควรทำทุกอย่างด้วยตัวเอง สามารถมอบหมายงาน แบ่งงานให้ลูกน้องทำตามความถนัดและความเหมาะสม เพื่อเขาจะได้เติบโตและพัฒนาตนเองต่อไปได้ในอนาคต
สำหรับศาสนาพุทธที่ชาวไทยส่วนใหญ่นับถือนั้นนับเป็นวิทยาศาสตร์ด้านการเข้าใจตนที่ลึกซึ้งมาก หลักจิต และจิตวิทยา เพราะการฝึกสมาธิของศาสนาพุทธนั้นสามารถก่อให้เกิดความสงบและปัญญา แก้ปัญหาที่ราก เข้าถึงนิพพาน (วิปัสสนาสมาธิ) การฝึกสติสัมปชัญญะจะช่วยป้องกันการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
ดังนั้นวิธีการส่งเสริมด้านนี้นอกจากเปิดโอกาสให้เด็กทำงานตามลำพัง แยกตัวจากกลุ่มบ้าง สอนให้เห็นคุณค่าของตัวเองนับถือตัวเอง สนับสนุนให้ทำงานเขียน บันทึกประจำวัน หรือทำหนังสือ จุลสาร ทำโครงงาน การศึกษารายบุคคล หรือทำรายงานเดี่ยว ให้เรียนตามความถนัด ความสนใจ ตามจังหวะการเรียนเฉพาะตน
คุณพ่อคุณแม่ควรเสริมกิจกรรมเพื่อพัฒนาปัญญาทางด้านตนหรือการเข้าใจตนเองให้ลูก เช่น การอ่านวารสาร การนั่งสมาธิวิปัสสนา การประเมินตนเอง การบันทึก การคิดทบทวน การคัดลอกข้อความ คำคม คำกล่าวเกี่ยวกับตนเอง การเขียนคำประพันธ์การแปลความ การคิดฉับพลัน การสร้างกรอบความคิด การวางเป้าหมาย เป็นต้น
โดยเฉพาะการศึกษาหลักสำคัญในพุทธศาสนา การฝึกสมาธิวิปัสสนากรรมฐานด้วยหลักสติปัฏฐาน 4 อย่างเข้าใจและสม่ำเสมอจะช่วยให้เข้าใจตน พัฒนาศักยภาพภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มากยิ่งกว่าหลักสูตรการอบรมด้านพัฒนาบุคลิกภาพหรือหลักสูตรคิดเชิงบวกอย่าง Positive Thinking เสียอีก
อยากฝากเรื่องภาวะผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำแบบไหน (ประชาธิปไตย อัตตาธิปไตยหรือธรรมาธิปไตย) ก็ตาม ที่สำคัญที่สุดก็คือประชาชนจะรับรู้หรือรู้สึกกับผู้นำของเขาอย่างไร
ขอยกคำสอนบทที่ 17 ในคัมภีร์ว่าด้วยคุณธรรมอันโด่งดังของลัทธิเต๋า “เต้าเต๋อจิง”เขียนโดยเล่าจื๊อ ปราชญ์ชาวจีนที่มีชื่อเสียงที่สุด ที่ว่า
ผู้นำที่ดี ประชาชนเพียงรู้ว่า มีอยู่
รองลงมาคือ เคารพ ยกย่อง
ที่แย่ก็คือ ประชาชนพากันหวาดกลัว
แย่สุดก็คือ ประชาชนต่างเกลียดชัง
ผู้นำที่ดี เพียงแต่ขอความร่วมมือ ประชาชนก็จะร่วมกันทำงาน
เมื่องานสำเร็จ ประชาชนพากันเฉลิมฉลอง และบอกว่ามันเป็นผลงานของพวกเรา
สุดท้ายของปัญญาด้านการเข้าใจตนเองและการก้าวเป็นผู้นำที่ดีก็คือ ต้องมีหลักปรัชญาและศาสนา หมั่นฝึกฝนเพื่อบรรลุเป้าหมายและความฝัน โดยหมั่นวิเคราะห์หาจุดอ่อน จุดแข็ง และพัฒนาตนเองตามหลักการที่กล่าวมาอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา หรือก็คือการเจริญสตินั่นเอง
บทความโดย: นายแพทย์อนันต์ โลหะพัฒนบำรุง กุมารแพทย์