พ่อแม่ต้องรู้ทัน! 2 ภาวะ พัฒนาการไม่สมวัย ของลูก รีบแก้ไขก่อนรุนแรง - Amarin Baby & Kids
พัฒนาการไม่สมวัย

พ่อแม่ต้องรู้ทัน! 2 ภาวะ พัฒนาการไม่สมวัย ของลูก รีบแก้ไขก่อนรุนแรง

event
พัฒนาการไม่สมวัย
พัฒนาการไม่สมวัย

พัฒนาการไม่สมวัย ด้านร่างกายของเด็ก ไม่ว่าจะเป็น การเจริบเติบโตช้า เด็กมีภาวะเตี้ย หรือ ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ที่ทำให้เด็กเติบโตก่อนวัยสมควร สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย

โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของต่อมใต้สมองผิดปกติ ทำให้สร้างฮอรโมนออกมามากหรือน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลกระทบต่อเด็กได้ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ฉะนั้นควรได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว และได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ

พัฒนาการเด็กด้านร่างกายเหมาะสมตามวัยเป็นอย่างไร

พัฒนาการเด็กด้านร่างกายที่เหมาะสมตามวัย หมายถึง การเจริญเติบโตด้านร่างกายที่มีความเปลี่ยนแปลงด้านขนาด รูปร่าง ทรวดทรง ความสูง และด้านอื่น ๆ ของระบบร่างกายและโครงสร้างของร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงขนาด รูปร่าง การขยายของทรวงอก หรือการเพิ่มประสิทธิภาพของหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับร่างกาย ที่เป็นไปตามช่วงวัยของเด็ก หากเมื่อไหร่ที่ร่างกายของเด็กมีความผิดปกติเกิดขึ้น หรือคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าลูกไม่ได้เจริญเติบโตอย่างที่ควรเป็น หรือเติบโตเกินวัย พึงทราบว่าอาจมีสาเหตุอยู่เบื้องหลัง

ภาวะที่ทำให้ พัฒนาการไม่สมวัย ด้านร่างกายของเด็ก

พัฒนาการเด็กด้านร่างกายไม่สมวัย หมายถึง เด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัยเมื่อเทียบกับเด็กปกติ มีภาวะทางสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อความสูง การเปลี่ยนแปลงทางสรีระร่างกายที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากภาวะต่างๆ ดังนี้

1. ภาวะเด็กเตี้ย

พัฒนาการไม่สมวัย เด็กที่มีความสูงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กที่เพศและอายุเดียวกันมากกว่า 2 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation; SD) ซึ่งสามารถทราบได้โดยดูจากกราฟแสดงการเจริญเติบโต (growth chart)

ปัจจัยที่มีผลทำให้เด็กโตช้าหรือเตี้ยกว่าปกติ นอกจากเรื่องของกรรมพันธุ์ การขาดสารอาหาร การนอนหลับพักผ่อน และออกกำลังกายไม่เพียงพอแล้ว อาจเกิดจากภาวะฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (thyroid hormone) ความผิดปกติของฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) และ ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย เป็นต้น

 

2. ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

พัฒนาการไม่สมวัย ที่เกิดเร็วกว่าวัยอันควร คือ การที่เด็กผู้หญิงเริ่มมีการพัฒนาของเต้านมก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 9 ปี ส่วนเด็กผู้ชายมีขนาดอัณฑะโต มีอวัยวะเพศใหญ่ขึ้น มีขนหัวหน่าว หรือมีลักษณะอื่น ๆ เช่น เสียงแหบห้าว มีกลิ่นตัว ปรากฏให้เห็นก่อนอายุ 9 ปี

ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยนั้นอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม พ่อแม่ที่มีประวัติเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยลูกก็มีโอกาสเป็นภาวะนี้สูง การรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูง หรือเกิดจากสมองและต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนเพศเร็วกว่าวัยอันควร โดยกรณีนี้ฮอร์โมนเพศมีผลทำให้เด็กสูงเร็วในช่วงแรก หลังจากเมื่อเข้าภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็จะหยุดสูงในทันที

พัฒนาการไม่สมวัย

พัฒนาการเด็กด้านร่างกายไม่สมวัย รู้ได้อย่างไร

พัฒนาการเด็กด้านร่างกายไม่สมวัยจะรู้ได้ด้วยการตรวจวินิจฉัยโดยกุมารแพทย์ ได้แก่

  1. การซักประวัติของเด็กและครอบครัว ได้แก่ ประวัติการตั้งครรภ์ของมารดาการคลอดน้ำหนักและความยาวแรกเกิด การเจ็บป่วยของเด็ก อาหารที่ได้รับ พัฒนาการของเด็ก ความสูงและการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวของบิดามารดาและพี่น้อง
  2. การตรวจร่างกาย เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงหรือความยาวในเด็ก และบันทึกในกราฟเพื่อดูรูปแบบการเจริญเติบโตของเด็ก
  3. การตรวจอายุกระดูก โดยการเอกซเรย์ฝ่ามือและข้อมือ เพื่อประเมินดูการเจริญเติบโตของกระดูก
  4. การตรวจอื่นๆ ทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือดวัดระดับของฮอร์โมน หรือ การทดสอบทางด้านฮอร์โมน เป็นต้น ในเด็กที่สงสัยว่าจะมีความผิดปกติของฮอร์โมน
  5. ในผู้ป่วยบางรายที่มีข้อบ่งชี้ อาจตรวจ MRI สมองเพื่อหาสาเหตุของโรคเป็นหนุ่มสาวเร็ว
  6. อัลตราซาวด์ช่องท้อง เพื่อหาสาเหตุและประเมินขนาดมดลูกและรังไข่ในเด็กหญิง

 

การรักษาพัฒนาการเด็กด้านร่างกายไม่สมวัย

ภาวะเด็กเตี้ย การรักษาตามสาเหตุของแต่ละบุคคล ขึ้นกับว่าสาเหตุที่ทำให้เตี้ยนั้นเกิดจากอะไร ได้แก่

  • สาเหตุจากโรคเรื้อรัง ให้รักษาอาการและควบคุมโรคประจำตัวให้คงที่
  • กรณีฮอร์โมนร่างกายผิดปกติ จะรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทนหรือยับยั้ง เช่น การให้ยาฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) การให้ไทรอยด์ฮอร์โมน การให้ยาหยุดความเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย เป็นต้น
  • การรับประทานอาหารให้ครบหมู่ และมีความหลากหลาย ให้ได้สารอาหารครบถ้วน
  • รับประทานนม แคลเซียม วิตามินดี ฟอสฟอรัส เหล็ก สังกะสี ในปริมาณที่เหมาะสม โดยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ปรับพฤติกรรมการบริโภค
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบหัวใจและหลอดเลือด

ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย การรักษาขึ้นกับสาเหตุ ได้แก่

  • กรณีพบความผิดปกติในสมอง เนื้องอกที่รังไข่ ต้องรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาด้วยการผ่าตัด อาจจำเป็นต้องตามด้วยการฉายแสงหรือเคมีบำบัดแล้วแต่กรณี
  • กรณีไม่พบสาเหตุ การรักษานั้นจำทำด้วยการให้ยาฮอร์โมนสังเคราะห์ GnRH-analogue เป็นฮอร์โมนที่ยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนโกนาโดโทรปินส์จากต่อมใต้สมอง มีผลทำให้รังไข่ในเด็กหญิงและอัณฑะในเด็กชายสร้างฮอร์โมนเพศลดลง โดยจะให้ในรูปแบบการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

 

อย่างไรก็ตามการรักษา พัฒนาการไม่สมวัย ด้านร่างกายของเด็กนั้น จะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉพาะการรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโตจำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กด้านร่างกาย หรือการเจริญเติบโตให้ปรึกษากุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมที่สุด

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลนครธน

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up