– ประเมินบุคลิกของลูก เด็กที่พ่อแม่ต้องเข้มงวดเรื่องการระวังภัยมากเป็นพิเศษอาจต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับผลลัพธ์ของพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่าเด็กคนอื่นๆ เราจึงต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจและเห็นภาพชัดๆ ของผลที่จะตามมา
– ไม่พูดถึงรายละเอียดที่ชวนสยอง เด็กวัย 5 ขวบควรจะรู้ว่าการป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ เครื่องตัดหญ้าที่กำลังทำงานอยู่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นกับตัวเองได้ แต่ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้เขาเห็นภาพที่สยดสยองจนเกินไปก็ได้
– ทำให้เป็นเรื่องธรรมดาหรือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อธิบายและบังคับใช้กฎระเบียบเรื่องการระวังภัยให้กลายเป็นวิถีปกติของชีวิตประจำวัน
– ให้ลูกเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ ช่วยกันหาวิธีรับมือแบบต่างๆ ที่จะทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เช่น ถ้าคุณกำลังช่วยกันคิดกับลูกว่า ควรจะทำอย่างไรดีเมื่อมีคนที่ไม่รู้จักมาชวนคุยที่สนามเด็กเล่นของโรงเรียน คุณอาจแนะนำให้เขาวิ่งไปหาคุณครูซึ่งเป็นบุคคลที่ให้ความคุ้มครองแก่เด็กๆ ได้
– คุยกับลูกแบบจริงจัง ลูกจะหายกลัวเร็วขึ้น ถ้าคุณปล่อยให้เขาระบายความกลัวให้คุณฟัง แม้ว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการฝืนความรู้สึกของคุณเหลือเกิน การปัดความกลัวของเด็กๆ ด้วยคำพูดทำนองว่า เหลวไหลน่าลูก ไม่อาจช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้ คุณอาจอยากพูดกับลูกว่า เรื่องแบบนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับหนูอย่างแน่นอน (โดยเฉพาะเมื่อลูกกลัวสิ่งที่เกินความจริงไปมาก) แต่คุณก็ไม่ควรหลอกทั้งตัวเองและลูก ทางที่ดีลองพูดแบบนี้ดีไหม เรื่องนี้อาจไม่มีวันเกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่ถึงจะเกิดลูกก็รู้ว่าควรทำอย่างไร แล้วหนูก็จะต้องปลอดภัยอย่างแน่นอน
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง