แล้วคุณจะทำอย่างไรถ้าลูกมีพฤติกรรมแบบในนิทาน (นอกจากการโกหกแล้วยังหมายรวมถึง การไม่ยอมรับผิด และพูดเรื่องที่ฟังดูไร้สาระด้วย) หากเด็กๆ ไม่กลัวตอนจบของนิทาน และยังคงมีพฤติกรรมที่พ่อแม่อย่างเราไม่พึงประสงค์ อย่าเพิ่งถอดใจ ลองมาทำความเข้าใจ แกะ ของลูกกันก่อนดีไหม
ทำไมต้องเลี้ยงแกะ
– เด็กๆ ขี้ลืม สมองของเด็กวัยนี้จำอะไรได้สั้นๆ เท่านั้น ลองให้โอกาสเขาทวนความจำหน่อยก็ดีนะ
– เด็กยังแยกจินตนาการกับความจริงไม่ออก นึกว่าความฝันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ต่อมจินตนาการของเด็กวัยนี้กำลังพัฒนา จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าเขายืนยันอยู่นั่นแหละว่าเขาบินได้ (เหมือนที่ฝันเมื่อคืน)
– ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญขึ้น เพราะเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ได้
– เพื่อหลบเลี่ยงการถูกลงโทษในแบบไม่พึงประสงค์ ซึ่งส่วนใหญ่คือการตี ลูกจึงพยายามหาทางเลี่ยง
– เพื่อหลอกตัวเองให้เหตุการณ์เป็นไปตามที่คิด ถ้าเขาทำจานแตก แต่บอกคุณว่ามันหล่นลงมาเอง เป็นไปได้ว่าจริงๆ แล้วเขาสำนึกผิด และอยากให้จานหล่นมาเอง แทนที่จะเป็นความผิดของเขา เป็นกลไกการปกป้องตัวเองจากเรื่องที่ทำให้ต้องเสียใจ
วิธีล้อมคอกแกะ
– เอาน้ำเย็นเข้าลูบ เมื่อรู้ว่าลูกกำลังเลี้ยงแกะ
– แกล้งทำเป็นไม่รู้เสียบ้าง ในกรณีที่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆคิดเสียว่าสิ่งที่ลูกพูดเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นธรรมชาติของเด็ก
– อธิบายให้ลูกเข้าใจว่า การพูดโกหกเป็นสิ่งไม่ดี และการพูดความจริงมีความสำคัญอย่างไร
– สอนให้ลูกรู้จักยอมรับความจริง (และความผิด) แม้ว่าบางครั้งจะไม่น่ารื่นรมย์นักก็ตาม
– แสดงให้ลูกรู้ว่า แม้จะทำอะไรผิด แม่ก็ยังรัก เพื่อให้ลูกไม่สูญเสียความไว้ใจในตัวเรา
– ปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์และการไว้วางใจกันภายในครอบครัว (อันนี้พ่อแม่ต้องทำให้ดูเป็นแบบอย่าง)
– ถ้าลูกทำอะไรไม่ดี อย่าเพิ่งกล่าวโทษ เพราะจะทำให้ลูกหาทางโกหกในภายหลัง ควรพูดคุยไต่ถามรายละเอียดจากลูกจนเข้าใจเรื่องราวชัดเจน แล้วค่อยๆ อบรมด้วยท่าทีใจเย็นสงบนิ่ง
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง