“แล้วแม่ต้องขึ้นไปอยู่บนสวรรค์เหมือนคุณยายอีกหรือเปล่า” เพราะยังไม่เข้าใจอย่างแจ่มชัดว่าความตายคืออะไร
เด็กวัยนี้ยังมักมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการเสียชีวิตของญาติสนิทอย่างเย็นชาโดยทำเหมือนไม่สนใจใยดี หรือไม่ก็กลบเกลื่อนด้วยการทำตัวร่าเริงไปเสียเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้หมายความว่าลูกไม่เศร้าแต่อย่างใดถ้าเช่นนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกำลังตกอยู่ในความเศร้าและจะช่วยลูกรับมือกับความรู้สึกของตัวเองอย่างไรดี
– พูดกับลูกแบบตรงไปตรงมา เด็กวัยนี้มักอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องความตาย จึงอาจถามคุณทำนองว่า “ตอนนี้ตัวคุณยายอยู่ที่ไหนละฮะ แล้วสมองของคุณยายยังทำงานอยู่หรือเปล่า” ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าเมื่อคนเราตายไป ร่ายกายจะหยุดทำงานและไม่อาจฟื้นขึ้นมาได้อีก คำพูดเช่นนี้อาจดูโหดร้ายเกินไปสำหรับเด็ก แต่เมื่อถึงวัย 6 ขวบ เขาจะเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ และจะรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อรู้ว่าความตายเป็นสัจธรรมข้อหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่เรื่องลึกลับอย่างที่คิด
– มองข้ามพฤติกรรมของลูก เด็กบางคนที่สับสนในความรู้สึกของตัวเองมักกลบเกลื่อนด้วยการหัวเราะหรืออาการหงุดหงิดเหมือนอยู่ไม่สุข แทนที่จะตำหนิลูก คุณควรแสดงให้เห็นว่าเข้าใจในสาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าว เช่น อาจบอกว่า “ถึงการเสียชีวิตของคุณยายจะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่บางทีหนูก็ไม่รู้ว่าจะทำตัวยังไงดี ใช่มั้ยจ๊ะ”
– อย่าเอาแต่พูด ฟังลูกบ้าง แม้ลูกของคุณจะดูไม่ค่อยทุกข์โศกอะไรนัก แต่คุณก็ควรเป็นที่ปรึกษาสำหรับลูกได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเขาอยากจะถามอะไรหรืออยากระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นในภายหลังให้คุณฟัง และแม้ว่าตัวคุณเองจะกำลังโศกเศร้าอยู่ ก็ควรจับตามองภาษากายของลูกด้วย ถ้าลูกชอบนอนขดตัวหรือโอบแขนกอดตัวเองไว้ ก็แสดงว่าเขากำลังเรียกร้องการปลอบโยนจากคุณอยู่อย่างเงียบๆ แล้วละ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง