อย่างไรเสีย จะปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ ก็ไม่ได้
– ถ้าเจอสถานการณ์เช่นนั้นอีก ควรตอบรับลูกเบาๆและหากต้องขอโทษหรือทำให้คนที่ถูกพูดถึงรู้สึกดีขึ้นก็ควรทำ พาลูกออกจากหมู่คนเมื่อทำได้ และเมื่ออยู่กันสองต่อสอง ควรสอนทันทีที่เกิดเหตุ เพราะเด็กจะลืมง่ายปล่อยไว้นานจนกลับบ้าน อาจไม่ได้ผลเท่า ทั้งนี้ พึงเข้าใจว่าอาจต้องสอนอีกหลายครั้งกว่าจะซึมซาบและเข้าใจจริงๆ
– สอนให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่พูดไปนั้นไม่เหมาะสม โดยให้รู้ว่า “คำพูดสามารถทำให้คนเจ็บได้”คนที่ลูกพูดถึงอาจรู้สึกเสียใจหรืออับอายขายหน้าเพราะคำพูดของเขา อาจลองยกตัวอย่างเพื่อจะโยงคำพูดกับความรู้สึกให้ลูกเข้าใจ เช่น ถ้ามีคนพูดคำบางคำเกี่ยวกับเขาๆ จะรู้สึกอย่างไร “ถ้าลูกเกิดหกล้ม ปากเจ่อ ปากบวม แล้วไปเจอเพื่อน เพื่อนๆมาชี้ชวนและพูดว่า “ทำไมเธอปากบวมเจ่อดูตลกอย่างนั้นล่ะลูกจะรู้สึกอย่างไร”
– สอนให้ลูกชื่นชมความแตกต่างของปัจเจกบุคคล ความงดงามและคุณค่าของคนทุกคน ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไรก็ตาม ลองหาหนังสือหรือวีดีโอให้ลูกดูเพื่อเปิดโลกทัศน์ เช่น We’re different, We’re the Same (Sesame Street), นิทานเจ้าหญิงกับอสูรBeauty and the Beast เป็นต้น
– เวลาครอบครัวพูดถึงใคร ควรจะระมัดระวังคำพูดของเราด้วย ไม่ควรหลุดคำพูดเชิงการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เหมาะสมให้ลูกได้ยินอย่าลืม บอกลูกว่า“คราวหลังคิดอะไร ลูกบอกแม่ได้ แต่กระซิบเบาๆก่อน หรือถ้าให้ดีเก็บความสงสัยไว้ในใจและไว้คุยกับแม่เวลาอยู่ด้วยกันสองคนดีกว่า”
– หัดให้ลูกเฝ้ามองและสังเกตผู้คนรอบตัวโดยไม่ต้องออกความเห็นออกมาในทันที
เตือนกันสอนกันไปเรื่อยๆลูกของคุณจะเข้าใจโลกมากขึ้นรู้จักยับยั้งชั่งใจ คิดก่อนพูด เข้าใจและยอมรับความแตกต่างของผู้คนทั้งเรื่องรูปร่างหน้าตา ความคิดความอ่านได้ดีขึ้นซึ่งเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์มากสำหรับลูกต่อไปในอนาคตค่ะ
บทความโดย: กุณฑิรา จุลสมัย โอคอนแนล อดีตกรรมการกลุ่มนมแม่