เด็กๆ มีธรรมชาติอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกรอบตัวเป็นทุนอยู่แล้ว เด็กบางคนก็อาจเริ่มถามหรือวิจารณ์คนที่แตกต่างกับตัวเอง จะทำอย่างไรดีนะให้ลูกเข้าใจถึงความแตกต่าง
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยโคโลราโด บอกว่าแม้แต่เด็กอายุ 6 เดือนจะจ้องมองภาพอยู่นาน ถ้าคนในภาพนั้นดูเป็นคนที่เชื้อชาติแตกต่างไปจากพ่อแม่ของเขา ดร.ดักลาส ไรลีย์ นักจิตวิทยาเด็กและผู้เขียนหนังสือ Dr.Rileys’s Box of Tricks ขยายความว่า “เด็กๆ มีธรรมชาติอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกรอบตัวเป็นทุนอยู่แล้ว เด็กจึงมีลักษณะชอบค้นหาชอบสำรวจ บางคนก็ชอบคนที่แตกต่างไปจากตัวเอง แต่เด็กบางคนก็อาจจะมีแนวโน้มกังวลใจเมื่อเห็นคนที่แตกต่างไปจากตัวเอง และอาจเริ่มถามหรือวิจารณ์ความแตกต่างทั้งหลาย เช่น สีผิว ก็อาจไม่เหมาะ” จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะเตรียมคำตอบให้ลูกเข้าใจและไม่กลัวคนเชื้อชาติอื่น กรณีที่ลูกถามอะไรที่อาจไม่เหมาะสม
• หากลูกเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ความแตกต่างของคนอื่นไปในทิศทางที่ไม่น่าปลื้มใจ เช่น เขากลัวคนผิวสี เราต้องบอกให้ลูกว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาควรพูด และช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยด้วยการอธิบายอย่างง่ายๆ ให้ลูกเข้าใจ เช่น “คนเรามีหลายสีผิวได้ นึกดูดีๆ นะสีผิวพ่อกับแม่ยังไม่เหมือนกันเลยใช่มั้ย เป็นเรื่องธรรมดานะ”
• ไม่ควรพูดตัดบทง่ายๆ ประมาณว่า “คนเราเท่าเทียมกันหมดนะลูก” เพราะเด็กวัยอนุบาลไม่มีทางเห็นว่ามนุษย์เราจะ “เหมือน” กันทุกคนอย่างแน่นอน
• อธิบายว่าสีผิว สีผม หรือรูปร่างภายนอกไม่สามารถบ่งบอกถึงตัวตนหรือลักษณะนิสัยใจคอของคนเราได้ ยกตัวอย่าง พี่น้องของคุณหรือของสามี ที่หน้าตาไม่เหมือนกัน แต่นิสัยก็คล้ายกัน .. หรือ เพื่อความเข้าใจง่าย …ลองยกตัวอย่างฝาแฝดก็ได้ หน้าตาคล้ายกัน แต่นิสัยต่างกันก็มีมากมาย
• สอนตั้งแต่ยังเล็ก อย่าคิดว่าเด็กๆ คงไม่คิดมากอะไร เพราะยิ่งโตนี่แหละยิ่งสอนยาก ฉะนั้นอย่าปล่อยให้ลูกเพาะนิสัยไม่เข้าใจในความแตกต่าง (ทั้งเชื้อชาติ ทั้งลักษณะพิเศษอื่นๆ เช่น ตาบอด ใส่ขาเทียม เป็นต้น) จนกลายเป็นความขัดแย้งในใจไปจนโตในที่สุด
• ที่สำคัญคือการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ การปฏิบัติต่อผู้คนที่แตกต่างอย่างเป็นปกติจะช่วยให้ลูกเรียนรู้จากเราได้ง่ายที่สุด
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง