ก. เอ๋ย กอไก่ ทำไมยากจัง ลูกน้อยวัย 3-5 ขวบ เป็นวัยอนุบาลซึ่งต้องเรียนรู้ตัวหนังสือเป็นครั้งแรก ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีตัวอักษรมากมายจนลูกน้อยจำไม่หวาดไม่ไหว วันนี้เรามีเทคนิคช่วยเสริมความจำมาช่วยคุณแม่สอนลูกให้รู้จักตัวอักษรในภาษาต่างๆ กันค่ะ
1. เรียนรู้จากการฟัง
การฟังคุณแม่อ่านหนังสือนิทานที่มีตัวหนังสือน้อยๆ เขียนตัวใหญ่ชัดเจน และมีคำที่โดดเด่นไม่กี่คำ จะช่วยให้ลูกน้อยจดจำตัวอักษรได้มากขึ้น คุณแม่เพียงแค่อ่านช้าๆ และไล่นิ้วมือไปตามตัวอักษร หรือชี้ให้เขาสังเกตชื่อหนังสือนิทาน อาจเริ่มจากการให้ลูกน้อยสังเกตตัวหนังสือที่มีรูปร่างเหมือนกัน แล้วคุณแม่จึงอธิบายว่าอักษรตัวนั้นอ่านว่าอย่างไร วิธีนี้จะช่วยให้ลูกน้อยรู้จักสังเกตลักษณะเด่นของตัวอักษร และช่วยให้จดจำได้ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ
2. เรียนรู้จากการอ่าน
คุณแม่สอนลูกน้อยจดจำตัวอักษรไทยได้ง่ายๆ ด้วยการสะกดชื่อหนังสือที่เขาชอบให้ฟัง พลางไล่นิ้วไปทีละตัว แล้วให้ลูกชี้และออกเสียงตาม อาจอ่านทวนซ้ำสักสองครั้ง แต่ไม่จำเป็นต้องกดดันเขามากเกินไปนะคะ เพราะอาจทำให้ลูกน้อยเบื่อและไม่อยากเรียนรู้ต่อได้
3. เรียนรู้จากการเขียน
การคัดตัวอักษรในแบบเรียนเป็นสิ่งที่ลูกน้อยต้องทำที่โรงเรียนอยู่แล้ว หากคุณแม่บังคับให้ลูกต้องคัดตัวอักษรเพิ่มจากนั้นอีก อาจทำให้เด็กเครียดจนเกินไป ขอแนะนำให้คุณแม่ลองเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียนดูนะคะ อาจเปลี่ยนดินสอเป็นพู่กัน ไม้ยาว แปรงสีฟัน รองเท้า สำลี มือน้อยของลูกหรือสิ่งของต่างๆ ที่เอามาจุ่มสีได้ และเปลี่ยนกระดาษให้เป็นกระดาษสี ผืนผ้าใบ สนามหญ้า กำแพงบ้าน เสื้อสีเรียบ หรือกระทั่งมือของคุณแม่ แล้วชี้ชวนให้เขาคัดตัวหนังสือด้วยวัสดุอุปกรณ์เหล่านั้น โดยมีคุณแม่ช่วยเขียนบ้าง หรือเขียนเป็นตัวอย่างให้ดูข้างๆ กัน เพียงเท่านี้ลูกน้อยของคุณแม่ก็จะได้เรียนรู้และจดจำตัวอักษรได้อย่างสนุกสนาน อีกทั้งยังช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกน้อยได้ลองทำอะไรนอกกรอบมากขึ้นด้วยค่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง