เด็กหญิง A : แม่จ๋า เรียนเปียโนเสร็จแล้วไปกินไอติมได้หรือเปล่า
คุณแม่ B : ถ้ามีเวลาก็อาจจะได้จ้ะ ดูก่อนนะลูก
3 ชั่วโมงผ่านไป บนถนนที่การจราจรติดขัดในช่วงเย็นวันเสาร์
เด็กหญิง A : แม่! ไหนบอกว่าจะไปกินไอติมกันไง!
คุณแม่ B : ไม่ทันแล้ว รถติดมากเลย วันนี้ต้องไปบ้านคุณยายนะ
เด็กหญิง A : แต่แม่สัญญาแล้วนี่!
อ๊ะๆ คุณแม่สัญญาเอาไว้หรือเปล่าเอ่ย เปล่าเลย แม่หนูน้อยถือว่า คำว่า “อาจจะได้” ของเธอเป็นคำว่า “โอเค” ต่างหาก
“เด็กวัย 5 ขวบเพิ่งเริ่มเรียนรู้ความแตกต่างของคำต่างๆ ดังนั้นพวกเขาจึงมักจะตีความหมายตามตัวอักษรตรงๆ” ดร.เฮนรี่ เชงเกอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพฤติกรรมประยุกต์ มหาวิทยาลัยประจำรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าว
ถ้าเป็นอย่างนี้ พ่อแม่อย่างเราควรทำอย่างไรดี
1. เลิกใช้ภาษาคลุมเครือสร้างความหวัง
เช่น “อาจจะ” “บางที” “ดูก่อนนะ” ฯลฯ คราวหน้าถ้าลูกถามอะไร ตอบให้ชัดเจนที่สุด เช่น “ไม่ได้หรอก วันนี้เราต้องรีบกลับแล้วไปบ้านคุณยายกันไงจ๊ะ” ถึงลูกจะไม่ยอมรับคำปฏิเสธนี้ แต่เขาก็ไม่สามารถบ่นหรือเรียกร้องว่าคุณผิดสัญญาทีหลังได้
2. อย่าสัญญามั่วๆ
บางครั้งในเวลาเร่งรีบ เราอาจรับปากไปส่งๆ “ได้จ้ะ ทีนี้รีบแต่งตัวไปโรงเรียนได้แล้ว!” พอถึงตอนเย็นที่ลูกทวงคำสัญญาเรื่องไปว่ายน้ำ คุณก็ต้องปฏิเสธเพราะวันนี้ต้องพาเขาไปหาหมอฟัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น คิดก่อนตอบตกลงกับลูก ไม่ว่าคุณจะยุ่งแค่ไหนก็ตาม
3. ตอบว่า “ไม่” เมื่อต้องตอบ
หากว่าคำขอของลูกไม่สมเหตุผล หรือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อย่าลังเลที่จะบอกว่า “ไม่” ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณรู้ว่า ตัวเองทำตามสัญญาได้แบบเต็มร้อยก็ตอบโอเคไปได้เลย
4. ถ้าคุณผิดสัญญา…
รีบขอโทษลูกทันที ถ้าเป็นไปได้ก็ควรหาทางเลือกอื่นๆ ให้กับเขาด้วย เช่น “ขอโทษนะลูก วันนี้เราไปกินไอติมไม่ได้ แต่แม่จะพาหนูไปวันเสาร์นี้แทนนะ”
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง