ทักษะการแก้ปัญหา เป็นทักษะที่จำเป็นต่อชีวิต การแก้ปัญหา โดยใช้เหตุผลและสติแทนการใช้อารมณ์ เพื่อให้ปัญหาคลี่คลายไปในทางที่ถูกต้อง จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
วิธีการ พัฒนาทักษะ “การแก้ปัญหา” อย่างเป็นขั้นตอน
Adversity Quotient หมาย ถึง ความสามารถในการแก้ปัญหาและความสามารถในการเผชิญกับอุปสรรค ซึ่งเป็นความสามารถของบุคคลในการฝ่าฟันกับปัญหา และหรือความยากลำบากต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นในการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ ด้วยความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้า และกล้าที่จะทำตามสิ่งที่ตนได้ตั้งเป้าหมายไว้ และก้าวไปสู่จุดหมายนั้น เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศอย่างมุ่งมั่น ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า Adversity Quotient (AQ) หรือความสามารถในการแก้ปัญหา มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เรามีวิธีเช็คง่าย ๆ ว่าลูกของเราเป็นเด็กที่มี AQ หรือไม่ ดังนี้
มาลองเช็คกันดูว่าเราเป็นคนมี AQ หรือไม่?
- เมื่อต้องเผชิญปัญหา เราปฏิเสธและหนีมัน แสดงว่าคุณไม่มี AQ เลย
- เวลาต้องเผชิญปัญหา เราลองพยายามแก้ปัญหาบ้าง แต่ถ้ารู้สึกว่ารับมือไม่ไหวก็วางมือและกลับไปอยู่ในโซนปลอดภัยของตัวเอง แสดงว่าคุณมี AQ บ้าง แต่ยังมีไม่มากพอ
- เมื่อต้องเผชิญปัญหา เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งท้าทาย เกิดแรงจูงใจที่จะแก้ปัญหานั้นอย่างไม่หยุดยั้งจนกว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ แสดงว่าคุณมี AQ แล้ว
จะเห็นได้ว่าเด็กที่ไม่มี AQ หรือมี AQ ไม่มากพอ มักจะไม่มีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ เมื่อเจอปัญหาต่าง ๆ ก็มักเลือกที่จะเดินหนีออกมา หรือเลือกที่จะไม่ลงเล่นเกมนั้น ๆ ไปเลย สำหรับเด็กที่ไม่มี AQ หรือมี AQ ไม่มากพอ จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา แต่น่าเสียดายว่าการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา ไม่สามารถหาอ่านได้จากในตำรา ทักษะนี้ จะถูกพัฒนาได้ง่ายผ่านการเผชิญกับปัญหาด้วยตัวเอง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องพาลูกออกไปเจอกับปัญหาเหล่านั้น เช่น การพาลูกไปเที่ยว ให้ลูกทำงานบ้าน เล่นเกมพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา และการพาลูกไปเล่นนอกบ้าน เป็นต้น และเมื่อลูกได้เจอปัญหาต่าง ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกคิด วิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเองทั้งหมด คุณพ่อคุณแม่สามารถแนะนำหรือบอกขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกนำไปใช้เป็นหลักการใน การแก้ปัญหา ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาที่ควรนำไปแนะนำลูก ๆ มีดังนี้
4 วิธีคิด เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา อย่างเป็นขั้นตอน
-
มองให้ออก
ก่อนที่จะแก้ปัญหา เราต้องทำความเข้าใจกับปัญหาเสียก่อน โดยขั้นตอนในการทำความเข้าใจปัญหา มีดังนี้
-
- กำหนดปัญหาให้ชัดเจน ถ้าเราไม่เข้าใจปัญหาเป็นอย่างดี วิธีแก้ปัญหาของเราอาจไม่ได้ผล หรือแก้ปัญหาไม่ได้เลย เราจึงควรตั้งคำถาม และมองหลาย ๆ มุมเพื่อจะกำหนดปัญหาได้ชัดเจน โดยจะต้องรู้ให้ได้ว่าปัญหาคืออะไร มองปัญหาให้ออก
- กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าเป้าหมายใน การแก้ปัญหา ครั้งนี้คืออะไร การกำหนดเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหา จะช่วยให้เราเกิดความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหามากขี้น
- รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อจะได้เห็นภาพของปัญหาชัดเจน โดยอาจถามผู้คนหรือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำวิธีแก้ปัญหานั้น หรือหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
-
วางแผนและแนวทางการแก้ปัญหา
เมื่อเรารู้แล้วว่าปัญหาเราคืออะไร มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาอย่างไร และได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาแล้ว ให้เริ่มวางแผนในการแก้ปัญหา โดยการนำข้อมูลที่หาได้มาวิเคราะห์ เรียบเรียง ทำความเข้าใจให้ครบถ้วน และเมื่อได้แนวทางในการแก้ปัญหาแล้ว ให้เลือกวิธีแก้ปัญหาที่น่าจะเป็นไปได้ คือวิธีที่ทำแล้วจะสามารถทำให้ปัญหาหมดไป
3. ทำตามแผนและแนวทางการแก้ปัญหาที่ได้เลือกไว้
พอได้เลือกวิธีการปัญหาที่ดีที่สุดแล้ว ก็ลองลงมือทำตามวิธีการแก้ปัญหานั้น ต่อไปมาเฝ้าดูและตรวจสอบผลว่าวิธีการแก้ปัญหาที่ได้ทำลงไปนั้น ประสบผลสำเร็จหรือไม่? วิธีการแก้ปัญหานี้ได้ผลหรือไม่? ใช้วิธีการแก้ปัญหานี้แล้วบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการหรือไม่? มีปัญหาซึ่งมองไม่เห็นเกิดขึ้นหรือเปล่า? ซึ่งหากวิธีแก้ปัญหาที่เลือกนั้นไม่ได้ผล หรือไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ให้ลองกลับมาคิดทบทวนว่าวิธีการแก้ปัญหาที่เลือกนั้นมีจุดบกพร่องหรือเปล่า ถ้ามีก็ควรปรับวิธีแก้ปัญหานั้น ๆ แต่หากปรับแล้วก็ยังไม่ได้ผล ให้เปลี่ยนมาลองใช้วิธีการแก้ปัญหาอื่น ๆ
4. ฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้เชี่ยวชาญ
หากต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแก้ปัญหาให้ดีขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือต้องเผชิญกับปัญหาบ่อย ๆ เพราะเมื่อเราได้เผชิญกับปัญหาบ่อย ๆ เราก็จะได้ใช้สมองในการคิดวิธีแก้ปัญหา ซึ่งก็เหมือนกับมีด หากไม่ลับบ่อย ๆ มีดก็ไม่คม ทีมแม่ ABK มีวิธีฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้ลูกน้อย ดังนี้
-
- เกมฝึกทักษะการแก้ปัญหา คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้ลูกได้ผ่านเกม เกมกระดาน และกิจกรรมการแข่งขันระหว่างครอบครัวได้ วิธีนี้เป็นวิธีที่จะไม่ทำให้เด็กเบื่อ เพราะลูกจะได้สนุกและลุ้นไปกับเกมต่าง ๆ ด้วย(อ่านต่อ เกมฝึกทักษะ การแก้ปัญหา ฝึกลูกก่อนเผชิญของจริง)
- ให้ลูกเล่นเกมมือถือ ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ลูกเล่นมือถือได้อย่างอิสระนะคะ แม้ว่าเกมมือถือจะถูกมองไปในทางลบ คือเด็กที่เล่นเกมบ่อย ๆ หรือติดเกม มักจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่ค่อยมีความอดทนในการรอคอย แต่สิ่งของทุกอย่าง เมื่อมีข้อเสีย ก็ต้องมีข้อดี มีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการเล่นเกม สามารถพัฒนาส่วนต่าง ๆ ของการคิดได้ เช่น การรับรู้มิติ การใช้เหตุผล และความจำ แต่ก็ไม่ใช่ทุกเกมที่จะได้ทุกอย่างเท่ากันหมด บางเกมก็ไม่ทำให้พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกเกมที่เน้นการคิดอย่างมีกลยุทธ และเกมที่เน้นให้ผู้เล่นคิด วิเคราะห์ และอย่าลืมกำหนดเวลาในการเล่นเกมให้เหมาะกับแต่ละวัยของลูกด้วยนะคะ เพราะการเล่นเกมที่ไม่ได้เน้นการคิดวิเคราะห์ หรือการเล่นเกมมากเกินไป จากผลดี อาจจะกลายเป็นผลร้ายได้
- พาลูกไปเล่นนอกบ้าน การทำกิจกรรมนอกบ้าน เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้พัฒนาความสามารถในการแก้ไขปัญหา เพราะการที่เราได้ออกไปพบกับผู้คนต่างเพศ วัย และต่างนิสัย ทำให้เราไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ให้ลูกได้ จนอาจทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกคิดแก้ปัญหาได้ (อ่านต่อ ชวนลูกทำ กิจกรรมนอกบ้าน เสริมทักษะการแก้ปัญหา!!)
การสอนให้ลูกรู้วิธีคิดใน การแก้ปัญหา อย่างเป็นขั้นตอนนั้น สำหรับเด็กเล็กการสอนให้ทำตามเป็นข้อ ๆ อาจจะดูยากไป คุณพ่อคุณแม่จึงควรแสดงวิธีคิดในการแก้ปัญหาให้ลูกเห็น เพื่อลูกจะได้นำไปทำเป็นแบบอย่างเมื่อลูกโตขึ้น และสำหรับเด็กโต คุณพ่อคุณแม่อาจบอกขั้นตอนที่ได้กล่าวมานี้ให้ลูกฟังได้ แต่ควรแก้เป็นภาษาเหมาะสมกับวัยนั้น ๆ ที่จะเข้าใจ และยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้ลูกได้เห็นภาพ และเมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะนำแนวทางนี้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในอนาคตได้ค่ะ เพียงเท่านี้ คุณพ่อคุณแม่ก็จะมั่นใจว่าลูกจะสามารถแก้ปัญหาและเอาตัวรอดในสังคมภายนอกได้
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.inc.com, กรมสุขภาพจิต, th.wikihow.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่