โรงเรียนทางเลือก เรียนรู้ตามทางของลูก #2 โดย พ่อเอก - Amarin Baby & Kids
โรงเรียนทางเลือก ฝึกลูกวางแผน

โรงเรียนทางเลือก เรียนรู้ตามทางของลูก #2 โดย พ่อเอก

Alternative Textaccount_circle
event
โรงเรียนทางเลือก ฝึกลูกวางแผน
โรงเรียนทางเลือก ฝึกลูกวางแผน

ขอเล่าเรื่อง โรงเรียนทางเลือก ต่อจากตอนที่แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ที่จะเลือก โรงเรียนทางเลือก ให้ลูก ควรจะต้องทราบและจะต้องเตรียมให้พร้อม ทั้งกาย ใจ และเวลา ก็คือ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกับโรงเรียน ซึ่งจะมีทั้งที่เป็นกิจกรรมแบบทางเลือก แบบจิตอาสา และแบบภาคบังคับ เพราะ โรงเรียนทางเลือก เชื่อในแนวทางการศึกษาว่า ครอบครัวและชุมชนจะต้องร่วมกันสรรค์สร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ อยากเรียกให้เท่ๆ ก็จะต้องเป็น Educational Ecosystem กันเลย ฟังดูอาจจะทำให้เกร็งหรือกังวล แต่จริงๆ กิจกรรมเหล่านั้นให้อะไรดีๆ มากมาย ซึ่งกิจกรรมก็อาจจะมีตั้งแต่ การอบรมสัมมนาเพื่อส่งเสริมความเข้าใจการเลี้ยงดูเด็กๆ เพื่อให้เป็นแนวเดียวกับโรงเรียน กิจกรรมครอบครัวที่ทำร่วมกันกับครอบครัวอื่น กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชนรอบโรงเรียน รวมจนถึงกิจกรรมด้านธรรมะ เป็นต้น

ครอบครัวเรามีคำถามในใจ เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของลูกหลายข้อ ซึ่งอาจจะบังเอิญที่แนวการศึกษาแบบทางเลือกได้ให้คำตอบมา เราก็เลยยกมาสัก 3 คำถาม เพราะเชื่อว่าหลายๆ ครอบครัวก็มีคำถามเหล่านี้ในใจ

  • เราจะให้ลูกใช้คอมพิวเตอร์ได้เมื่อไหร่ (อันนี้ลูกไม่ได้ถามนะ พ่อถามแม่ 555)

สัปดาห์นี้ทางโรงเรียนพี่ปูนปั้นมีกิจกรรมสัมมนาและได้เชิญ คุณหมอมิน เจ้าของเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา มาเป็นวิทยากร ผลคือการจองทะลัก และเราก็ได้คำตอบของคำถามแรกมาโดยบังเอิญ

คุณหมอมินมาพูดในหัวข้อ Unspoken Words ที่โรงเรียนของพี่ปูนปั้น โดยมีตอนหนึ่งที่พูดถึงเด็กติดเกมส์ ซึ่งในตอนท้าย คุณหมอพูดถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ว่า ในวัย 6 ขวบเราสามารถให้ลูกเล่นได้ แต่ต้องมีกฎกติการใช้งาน และไม่แนะนำให้มีเป็นของส่วนตัว เนื่องจากเด็กอาจจะยังแบ่งเวลา หรือใช้ social Media ไม่ถูกต้อง จนอาจเกิดเหตุอื่นๆ ตามมา เช่น cyber bully

บทความแนะนำ 7 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับดวงตาของเด็กวัยเรียน ที่เกิดจากหน้าจอ

หากมีเหตุต้องใช้ อาจจะทำ cell phone contract หรือ electronic contract โดยร่างร่วมกันพ่อแม่ลูก แปะไว้กับฝาบ้าน หากวันใดลูกทำผิดกฎก็ไปชี้ว่าตอนนี้หนูไม่ได้ทำตามที่สัญญากันไว้นะและหากต้องซื้อเป็นของส่วนตัวกันจริงๆ ก็ให้เป็นการยืม เช่น แม่ซื้อให้หนูยืมใช้นะคะ เพราะยามมีปัญหากันลูกจะได้ไม่บอกว่า “นี่ของส่วนตัวหนู”

สำหรับ account ใน social media ก็เช่นกัน ให้ share account กัน โดยบอกลูกด้วยว่า เพราะเป็นห่วงในการใช้สื่อประเภทนี้ อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงโทษและภัยที่อาจจะมาถึงเราได้ เพราะหากลูกไปเล่นเอง โดยมีใครก็ไม่รู้ add มา วันนั้นอาจจะเกิดภัยที่เราไม่คาดคิดเช่นกัน

  • ลูกขึ้น ป.1 แล้ว ควรให้ลูกพกเงินไปโรงเรียนเท่าไหร่

ตอนพี่ปูนปั้นยังอยู่อนุบาล ผมได้มีโอกาสขึ้นเวทีกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กอยู่หลายครั้งและหนึ่งในหัวข้อที่มีการคุยในระหว่างทานอาหารก็คือ คุณพ่อคุณแม่จะต้องตัดสินใจยากอีกครั้งตอนเข้า ป.1 ว่าเราควรให้เงินลูกไปโรงเรียนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม เพราะหากให้มากไปลูกอาจจะใช้เงินซื้อของไม่มีประโยชน์และเป็นการสอนให้ลูกไม่รู้ค่าของเงิน แต่หากให้น้อยไปลูกอาจจะมีเงินไม่พอในการซื้อของกินเมื่อหิว หรือหนักไปกว่านั้นในโรงเรียนที่ครอบครัวมีฐานะอาจจะไปสร้างปมบางอย่างให้ลูก นั่นสิ แล้วเราควรให้เงินลูกไปเท่าไหร่ดี

บทความแนะนำ 7 เคล็ดลับง่าย ๆ สอนลูกออมเงิน และรู้จักคุณค่าของเงิน

โรงเรียนทางเลือก ส่วนใหญ่ไม่มีขนมห่อ ไม่มีของเล่น ไม่มีอาหารที่ไม่มีประโยชน์เข้าไปขาย อย่าได้หวังจะได้เห็นช็อกโกแลต มันฝรั่งทอด ลูกกวาดต่างๆ เลย ดังนั้น การนำเงินไปโรงเรียนมากๆ ไม่มีความหมาย ที่โรงเรียนของปูนปั้นตอนเลิกเรียนจะมีขนมหรืออาหารจากคุณแม่อาสามาขายเปลี่ยนไปในแต่ละวัน เช่น เค้กกล้วยหอม ซูชิ ขนมปังกรอบ ข้าวเหนียวหมู โยเกิร์ต น้ำสมุนไพร เป็นต้น เด็กๆ ต้องมายืนดูป้ายหน้าร้านว่าวันนี้มีอะไรมาขายบ้าง และต้องเอากล่องมาใส่อาหารที่ซื้อ เพราะที่นี่ไม่มีถุงใส่ให้ (เป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ที่พี่ปูนปั้นไม่เคยลืมกล่องอาหารแม้แต่วันเดียว)

อ้อ ที่โรงเรียนกำหนดว่าไม่ให้นำเงินมาเกิน 50 บาทในแต่ละวัน ตัดปัญหาได้เลยทีเดียวกับคำถามนี้ เพราะเด็กทุกคนใช้กติกาเหมือนๆ กัน และต่อให้แอบเอามามากกว่านี้ก็ไม่มีอะไรให้ซื้อโชว์ซื้ออวด ตัวเลขดังกล่าวก็ถือว่ากำลังดี วันไหนพี่เขาเล่นกีฬาแล้วหิว ก็จะหมด เพราะน้ำเก๊กฮวย 10 บาท กับขนมปัง 2 ห่อก็เกลี้ยงพอดี วันไหนพี่เขาหิวน้อยหน่อยก็มีเงินมาหยอดกระปุกสะสมซื้อเลโก้ของชอบของตัวเอง และที่สำคัญกติกาที่โรงเรียนคือ ห้ามยืมเงินกันด้วย

  • ทำอย่างไรให้ลูกได้หัดวางแผน ทำงานแบบโปรเจ็กต์

เนื่องจากเราเห็นเด็กในประเทศที่มีระบบการศึกษาดี มักจะสามารถทำงานเป็นกลุ่ม มีการกำหนดเป้าหมาย วางแผนงาน ลงมือทำ และส่งมอบงานกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่เราคิดว่าดีกับเด็กและมีประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กมากกว่า เพราะในการทำงานเราได้เห็นเด็กเรียนเก่งมากมาย ที่ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือ ไม่รู้จักการวางวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แต่สามารถแก้ปัญหาเป็นข้อๆ ได้เท่านั้น

ซึ่ง โรงเรียนทางเลือก หลายที่มักจะมีการสอนแนวนี้ หรือ ไม่ก็จะมีกิจกรรมแนวนี้ให้เด็กได้คิดได้ทำ เช่น โรงเรียนที่ปั้นแป้งเรียนเด็กประถมต้องผลัดเวรกันวางแผนว่าวันนี้จะทำมื้อกลางวันเมนูอะไรให้ทั้งห้องทาน โดยจะต้องเริ่มจากวางเมนู วางแผนจ่ายกับข้าว ให้พอกับจำนวนเพื่อนร่วมชั้นและคุณครู วางค่าใช้จ่ายให้ได้ตามงบ ไปจนถึงทำอาหาร เสิร์ฟอาหาร หรืออย่างโรงเรียนพี่ปูนปั้นนักเรียนชั้นประถม 4 ก็มีโครงการชื่อ ของหายได้คืน ซึ่งเด็กจะมีการทำงานเป็นระบบมาก ซึ่งพี่ปูนปั้นได้ลองใช้บริการแล้ว คือ หลังเลิกเรียนวันก่อนพอทำการบ้านเสร็จพี่ปูนปั้นวางซองใส่การบ้านทิ้งไว้แล้วก็ไปวิ่งเล่น จากนั้นก็ไปเรียนไวโอลิน พอเลิกก็หิ้วกระเป๋ากลับบ้านกับปะป๊า ทิ้งซองการบ้านไว้แถวนั้นวันรุ่งขึ้นเรารีบไปแต่เช้าก็ไม่เจอของบนโต๊ะ แต่คุณครูก็มาแจ้งในวันต่อมาว่า พี่ป.4 ได้จัดการเก็บของไว้ให้แล้วและของได้ถูกส่งไปที่ห้องคุณครูที่คอยบันทึกและส่งมอบของ สรุปว่าพี่ปูนปั้นก็ได้ของคืนครบถ้วน งานโครงการดีๆ แบบนี้ ฟังดูเหมือนง่าย แต่สำหรับเด็กประถม ไม่ใช่งานธรรมดาเลย คุณพ่อคุณแม่คิดเหมือนกันมั้ย


>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค

หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<

ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก
ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก เพจหมุนรอบลูก

บทความน่าสนใจอื่นๆ

การบ้านอนุบาล เรื่องปวดหัวทั้งตัวพ่อและตัวแม่

“ลูกช่างถาม” รับมืออย่างไร ไม่ขัดพัฒนาการลูก

แชร์ประสบการณ์ ฝึกวินัยการกินให้ลูก กินข้าวตรงเวลา

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up