พ่อแม่สังเกตให้ดี ลูกเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ระวังขาดธาตุเหล็ก เกิด ภาวะซีด ส่งผลต่อการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก
ลูกเบื่ออาหาร ลูกไม่ยอมกินผัก ลูกกินน้อย สารอาหารจะพอไหมนะ ความกังวลใจใหญ่หลวงของแม่ที่ลูกไม่ยอมกินข้าว ไม่ใช่แค่เรื่องขาดสารอาหาร แต่อาหารที่ดีช่วยให้ลูกไม่มีภาวะซีดได้เช่นกัน ภาวะซีด (Anemia) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กไทย บางการศึกษาอาจพบเด็กไทยในวัยเรียนมีภาวะซีดสูงถึงร้อยละ 30-50 แม้ว่าเด็กที่มีอาการซีดส่วนใหญ่จะไม่มีอาการทางคลินิก แต่หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมก็จะส่งผลกระทบต่อความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก ทั้งยังส่งผลทำให้ระดับสติปัญหา หรือ I.Q. (Intelligence Quotient) ลดลงอีกด้วย
อาการและอาการแสดงทางคลินิกของภาวะซีด ได้แก่
• อ่อนเพลีย
• เหนื่อยง่าย
• หัวใจเต้นเร็ว
• ลูกเบื่ออาหาร
• และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ไม่เท่ากับเด็กปกติ
สาเหตุหลักของภาวะซีดสำหรับเด็กไทย คือ
1. ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก
เนื่องจากธาตุเหล็กมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างฮีโมโกลบิน ที่เป็นสารที่มีสีแดงที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้หน้าที่ในการขนส่งออกซิเจน เมื่อมีการขาดธาตุเหล็ก ร่างกายก็จะผลิตเม็ดเลือดแดงได้ลดลงจนเกิดภาวะซีด
การขาดธาตุเหล็ก มักเกิดขึ้นหลังอายุ 6 เดือน ที่รับประทานอาหารตามวัยที่มีธาตุเหล็กสูงไม่ได้ดี ก็จะเริ่มมีการพร่องของธาตุเหล็กได้ โดยเฉพาะเด็กที่รับประทานนมแม่เพียงอย่างเดียว แม้ว่านมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกในขวบปีแรก แต่นมแม่มีปริมาณธาตุเหล็กไม่สูง หากกินอาหารตามวัยไม่เหมาะสมก็เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กได้ง่าย สำหรับเด็กโตมักเกิดจากปัญหา ลูกเบื่ออาหาร การเลือกรับประทานอาหาร เช่น ไม่รับประทานผักใบเขียว ตับ เลือด เนื้อหมู หรือเนื้อวัว เป็นต้น วัยรุ่นหญิงที่เริ่มมีประจำเดือนก็เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กได้ง่ายขึ้นเพราะมีการเสียเลือดออกไปจากร่างกายทุกเดือน
2. โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
เป็นโรคที่ถ่ายทอดจากพันธุกรรมที่พบมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีประชากรกว่า 18-20 ล้านคนเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย (ร้อยละ 30-40 ของประชากร) และมีผู้เป็นโรคธาลัสซีเมียราว 600,000 คน (ร้อยละ 1)
โรคธาลัสซีเมีย เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมในการสร้างฮีโมโกลบิน ทำให้เกิดการสร้างฮีโมโกลบินบางชนิดลดลงหรือผิดปกติ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นลง เปราะแตกง่าย จนเกิดภาวะซีด ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียมีอาการได้ตั้งแต่ซีดแบบไม่แสดงอาการทางคลินิก จนถึงมีอาการรุนแรง ต้องได้รับส่วนประกอบของเลือดอย่างสม่ำเสมอในการรักษา ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของโรคธาลัสซีเมียที่เป็น
หากตรวจร่างกายพบว่า ‘ซีด’ ควรได้รับการตรวจนับเม็ดเลือด (Complete Blood Count; CBC) เพื่อประเมินระดับฮีโมโกลบิน ขนาดของเม็ดเลือดแดง และดูลักษณะของเม็ดเลือดแดงโดยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของภาวะซีด (หากมี) และตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคต่อไป เช่น การตรวจโรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น
สำหรับเด็กเล็กอายุ 6-12 เดือน ควรได้รับการตรวจคัดกรองภาวะซีดและปริมาณเหล็กสะสมในเลือดตามมาตรฐานสากล เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการจนกระทั่งมีภาวะซีดที่รุนแรง
การรักษาภาวะซีดในเด็ก
การรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะซีด หากภาวะซีดเกิดจากการธาตุเหล็ก ควรได้รับธาตุเหล็กในขนาดที่เหมาะสมอย่างน้อย 1-3 เดือนขึ้นไป และตรวจนับเม็ดเลือดซ้ำอีกครั้งหลังรับประทานธาตุเหล็กครบ ร่วมกับการปรับสัดส่วนอาหารและพฤติกรรมการกินที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาด้วยยา เพื่อให้แน่ใจว่าหลังจากที่หยุดการรักษาด้วยยาแล้วจะไม่กลับมาขาดธาตุเหล็กอีก สำหรับวัยรุ่นเพศหญิงที่มีประจำเดือนปริมาณมากผิดปกติจนเกิดภาวะซีด ต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสมร่วมกับการรักษาด้วยยาธาตุเหล็กด้วย
สำหรับโรคธาลัสซีเมีย ควรได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องที่เหมาะสมโดยแพทย์ เพื่อพิจารณาการรับส่วนประกอบของเลือด (เม็ดเลือดแดงเข้มข้น) อย่างสม่ำเสมอเมื่อมีข้อบ่งชี้ ร่วมกับการรับประทานยาบำรุงเลือด (กรดโฟลิก) วันละ 1 ครั้ง
หากบ้านไหนเชคลิสต์แล้วครบตามอาการ ลองปรับอาหารให้ลูกได้สารอาหารครบก่อน แต่ถ้าอาการเพิ่มขึ้น สามารถพามาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ก่อนที่ภาวะซีดจะเริ่มมีอาการและอาจกระทบต่อพัฒนาการอื่นๆของเด็กได้
ขอบคุณบทความจาก : ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก | รพ.นครธน | NAKORNTHON HOSPITAL
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก