พอถามว่า “ใครเป็นคนเริ่ม?” ปรากฏว่าเด็กทั้งสองต่างชี้นิ้วไปที่อีกคน
บางครั้งเด็กๆ ในช่วงวัย 3-4 ขวบ ก็ชอบหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงว่า แกได้ทำสิ่งที่ผิด และพยายามหาทางเอาตัวรอดด้วยการโยนความผิดนั้นให้คนอื่น ดร. คีธ คีรนิค ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา อธิบายว่า “นั่นมาจากการที่พวกเด็กๆ เริ่มเรียนรู้ว่า พวกเขาสามารถหลอกลวงคนอื่นๆ ได้”
อย่าเพิ่งเครียดไป นิสัยเสียข้อนี้ก็มีวิธีแก้อยู่เหมือนกันนะ
1. ทำให้ ‘การยอมรับผิด’ เป็นเรื่องไม่น่ากลัว
แม้จะโกรธปี๊ดจนตาลาย แต่คุณแม่ต้องไม่คาดคั้นเจ้าจอมซนเด็ดขาด ลองพยายามหาทางออกที่ละมุนละม่อม กว่าด้วยประโยคแบบ “แม่รู้ว่าหนูเป็นคนทำ แต่ไม่เป็นไรหรอก ไหนลองเล่าให้แม่ฟังหน่อยว่า มันเป็นไงมาไงกันแน่ แล้วเราจะได้มาช่วยกันคิดไง ว่าจะทำยังไงต่อดี” เปลี่ยนประเด็นจากการตั้งหน้าตั้งตาโยนความผิดให้อีกฝ่าย มาเป็นการช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งอย่างหลังนี่หาทางออกได้ง่ายกว่ากันเยอะเลย
2. เสนอแผนแก้ไข
หลังจากที่เจ้าตัวเล็กยอมรับผิดแล้ว ลองแนะนำเขาว่า “คราวหน้าถ้าหนูเผลอทำอะไรที่แม่ไม่ชอบ หนูมาบอกแม่เลยนะ แล้วเราจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาไง” บอกลูกว่า ถึงคุณจะไม่ชอบใจที่แกทำผิด แต่คุณก็ปลื้มมากๆ ที่แกมีความกล้าพอจะยอมรับและมาบอกคุณ
สุดท้าย ถ้ามีเวลาว่าง ก็หยิบอุปกรณ์ทำความสะอาดมาเผื่อแม่สองจิตรกรน้อยด้วยแล้วกัน แม้คุณอาจต้องใช้เวลามากขึ้นในการลบผลงานชิ้นเอกบนผนังห้อง แต่มันก็ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ว่า ‘การล้างความผิด’ น่ะ มันก็ไม่ยากอย่างที่คิดหรอกนะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง