แพทย์หญิงโสรยา ชัชวาลานนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตอบโต้เมื่อโดนกลั่นแกล้งว่า “ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งเล็กน้อยหรือรุนแรงล้วนส่งผลต่อจิตใจของเด็ก เนื่องจากสภาพจิตใจพื้นฐานของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนสามารถรับมือและจัดการกับการกลั่นแกล้งได้ดี ก็จะเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าเด็กมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ บวกกับปัจจัยอื่นๆ เช่น พฤติกรรมรุนแรงที่ลอกเลียนแบบจากเกมส์ สิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เด็กตัดสินใจหุนหันพลันแล่น หรือขาดทักษะการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ทำให้พวกเขาเลือกใช้วิธีที่ผิด
เด็กผู้ชายมีแนวโน้มตอบโต้ด้วยความรุนแรง เช่น ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ขณะที่เด็กผู้หญิงจะใช้วิธีหลบเอาตัวออกจากปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย จริงๆ แล้วเวลาเด็กตัดสินใจ “ฆ่าตัวตาย” เป็นการส่งสัญญาณของความช่วยเหลือ (Call for cure) ให้พ่อแม่ หรือคนรอบตัวรู้ว่า “หนูทนไม่ไหวแล้ว” แต่ผู้ใหญ่กลับไม่รับรู้หรือตอบสนอง”
สิ่งสำคัญคือ “พ่อแม่ต้องไม่ยอมรับการกลั่นแกล้งใดๆ ทั้งสิ้น” ไม่ควรปล่อยให้ลูกโดนแกล้งและต้องรีบจัดการทันที อย่าตัดสินใจด้วยประสบการณ์ของตัวเองเพียงฝ่ายเดียวว่า “ถูกแกล้งแค่นี้เองไม่เห็นเป็นไร” เพราะถ้าทำแบบนี้เด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจถึงความยากลำบากที่ต้องเจอ ไม่สบายใจ และเลือกจะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง หากพ่อแม่สังเกตเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อ ลูกโดนแกล้ง ได้เร็ว ก็จะเข้าไปช่วยเด็กได้ทันท่วงที
จับสัญญาณนี้ไว ช่วยลูกโดนแกล้งทันเวลา
- พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ซึมลง เก็บตัว บางคนอาจเรียนแย่ลง เพราะโดนแกล้งจนไม่มีสมาธิ วิตกกังวล หรือซึมเศร้า พบแล้วควรรีบแก้ไขทันที
- ไม่อยากไปโรงเรียน เด็กส่วนใหญ่มักไม่บอกสาเหตุจริงๆ แต่จะอ้างว่า ปวดหัว ปวดท้อง พ่อแม่จะต้องหาต้นเหตุจริงๆ ให้เจอ แต่ไม่ควรใช้วิธีต่อว่า คาดคั้น หรือจี้ถาม แต่ให้บอกกับลูกอย่างเข้าใจว่า “ถ้ามีปัญหาอะไร พ่อแม่อยู่ตรงนี้เสมอ มาเล่าได้ตลอด” เพื่อให้เด็กเห็นว่าพ่อแม่อยู่ข้างเดียวกับตัวเอง
- ร่างกายมีบาดแผล หรือรอยฟกช้ำ อย่าเพิ่งตกใจ โวยวายเมื่อเห็นรอยแผลบนตัวลูก แต่ช่วยรักษาแผลและปลอบโยนให้ลูกสบายใจก่อน จึงนั่งคุยกันถึงที่มาของแผลนั้น
- ลูกไม่มีเพื่อน ปกติเด็กมักเล่าเรื่องเพื่อน หรือเหตุการณ์ในโรงเรียนให้ฟัง ถ้าไม่มีลองถามดูว่ามีเพื่อนสนิทกี่คน ชื่ออะไรบ้าง หากเขาปฏิเสธ ส่ายหน้า และเงียบขรึม ให้รู้เลยว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแน่นอน
อย่างไรก็ตาม เด็กหลายคนโดยเฉพาะวัยประถมปลาย หรือมัธยมต้นไม่อยากบอกพ่อแม่ว่า “โดนแกล้ง” เพราะกลัวว่าจะไปบอกครูที่โรงเรียนเพื่อให้ทำโทษเด็กจอมเกเร แล้วสุดท้ายเด็กเหล่านั้นก็ย้อนกลับมาแกล้งอยู่ดีเพื่อแก้แค้น จึงเชื่อว่าการบอกพ่อแม่ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ และอาจทำให้หนักกว่าเดิม
ที่เด็กๆ คิดแบบนั้นก็ไม่ผิด การเข้าไปกล่าวโทษด้วยท่าทีเกรี้ยวกราดของพ่อแม่อาจไม่ใช่วิธีแรกที่ควรทำในการแก้ปัญหา ลูกโดนแกล้ง สำหรับเด็กประถมที่ดูแลตัวเองได้ ควรถามลูกก่อนว่าเขามีวิธีรับมืออย่างไร เช่น ไม่เผชิญหน้ากับเด็กชอบแกล้ง แต่จะต้องไม่ทำให้กระทบกับการใช้ชีวิตในโรงเรียน ถ้าหลบไม่ได้ก็ควรเงียบ หรือไม่ตอบโต้ เพื่อไม่ทำให้อีกฝ่าย “ถูกเร้าให้โมโหมากขึ้น” หรืออาจมีเพื่อนสนิทไปด้วยกัน แต่ถ้าดูแล้วว่าวิธีนั้นไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้ผล แล้วค่อยบอกวิธีรับมือที่ดีให้ลูกทำตาม พร้อมกับบอกไปว่า ถ้ายังโดนแกล้งอีกและอยากให้ช่วย กลับมาบอกพ่อแม่ได้ทันที วิธีนี้พ่อแม่จะไม่ใช่คนลงไปแก้ปัญหา แต่สอนวิธีให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
คุณหมอเสริมว่า “พ่อแม่ปกป้องลูกตลอดเวลาไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดคือ ต้องฝึกให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถฝึกได้ตั้งแต่วัยก่อนอนุบาล เริ่มต้นจากตัวพ่อแม่เอง ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้นำไปใช้นอกบ้าน เพราะเด็กที่บ้านใช้ความรุนแรงมักโตขึ้นมาแล้วกลายเป็น “เด็กชอบแกล้งเพื่อน” สร้างสายสัมพันธ์พ่อแม่ลูกให้เหนียวแน่น สร้างเกราะไม่ให้ลูกทำเรื่องแย่ๆ สอนให้รู้จักการขอบคุณ ขอโทษผู้อื่น สำคัญที่สุดคือ เปิดโอกาสให้ลูกฝึกทักษะสังคมแบบง่ายๆ อย่างพาลูกไปสนามเด็กเล่น ให้เขาฝึกแก้ปัญหา เช่นโดนแซงคิว หรือโดนผลักอก ต้องทำอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม ปัญหากลั่นแกล้งจะแก้ไขได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งโรงเรียนและครอบครัว ด้วยการปฏิเสธการกลั่นแกล้งทุกรูปแบบ กำหนดกฎเกณฑ์และบทลงโทษที่เหมาะสมกับวัย พร้อมกับสร้างทักษะการแก้ปัญหาที่เหมาะสมให้กับเด็กๆไปพร้อมกัน
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
จิตแพทย์เด็กเผย! วิธีรับมือเมื่อ ลูกโดนเพื่อนแกล้ง (Bullying)
5 วิธีสังเกต ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน หรือไม่
แพทย์เผย! เด็กไทย ชอบแกล้งเพื่อน ติดอันดับ 2 ของโลก!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่