Q: ลูกชายวัย 4 ขวบชอบกินน้ำแข็งมาก ต้องกินทุกวันเคี้ยวกรุบๆ สนุกสนานมาก (มันเขาล่ะ) แต่ดิฉันได้ยินมาว่า เด็กที่เคี้ยวน้ำแข็งบ่อยๆ มีแนวโน้มจะขาดธาตุเหล็กใช่หรือไม่คะ
การเคี้ยวน้ำแข็งนอกจากทำให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่น เป็นมารยาทบนโต๊ะอาหารที่ไม่สุภาพ บางครั้งเคี้ยวพลาดไปกัดลิ้นตัวเองอาจสำลักก้อนน้ำแข็งเหมือนสำลักอาหาร เป็นอันตรายกับเคลือบฟัน ทำให้ฟันบิ่น เมื่อเนื้อฟันกร่อนจนถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้รากฟันเสียหาย ยิ่งถ้าเป็นน้ำแข็งยูนิตหรือน้ำแข็งในตู้เย็นปกติจะมีความแข็งมากกว่าน้ำแข็งขนาดเล็กแบบก้อนกรวดที่ขายในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด
เด็กที่ขาดธาตุเหล็กอาจจะชอบกินอะไรแปลกๆ เช่น ชอบกินดิน ไม่เกี่ยวกับกินน้ำแข็ง และเด็กที่ชอบกินน้ำแข็งก็ไม่ได้เป็นสาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเกิดเพราะได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ สูญเสียเลือดเรื้อรัง เป็นต้น
คนที่ชอบกินน้ำใส่น้ำแข็งหรือน้ำเย็นไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย ยกเว้นเวลาไอหรือน้ำมูกไหล อาจทำให้อาการเป็นมากขึ้นเล็กน้อยเพียงแต่คอยดูแลเรื่องความสะอาดของน้ำแข็ง แต่ถ้าฝึกให้ลูกกินน้ำธรรมดาได้น่าจะดีกว่า เวลาไปไหนมาไหนจะได้ไม่ลำบาก ไม่ต้องวิ่งหาน้ำเย็นมาให้ลูกกิน
ส่วนใหญ่ที่ลูกชอบกินน้ำเย็นหรือน้ำใส่น้ำแข็งเพราะผู้ใหญ่เคยไปให้เขาลองกินแล้วติดใจ ทีนี้ก็เลยเรียกร้อง แล้วยิ่งถ้าได้เคี้ยวน้ำแข็งอาจรู้สึกสนุกปาก หรือเป็นเพราะเคยทำแล้วผู้ใหญ่หัวเราะหรือขำที่เห็นเด็กทำ ก็เลยติดใจกลายเป็นนิสัย
วิธีแก้ไขคือ อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการเคี้ยวน้ำแข็งจะส่งผลเสียอะไร เพราะอายุสี่ขวบกว่าแล้วน่าจะพอเข้าใจ อาจให้คุณหมอฟันหรือคุณครูช่วยพูด พยายามหากิจกรรมที่น่าสนใจให้ลูกทำ จะได้ลืมเรื่องการเคี้ยวน้ำแข็ง อย่าพูดตำหนิ พูดแซว หรือต่อว่า ทุกคนในบ้านควรหลีกเลี่ยงการกินน้ำแข็งให้ลูกเห็น ไม่เช่นนั้นอาจตื๊อขอกินด้วย แต่หากไม่อยากฝืนใจลูกควรเลือกน้ำแข็งชนิดที่ไม่แข็งมากและเป็นก้อนขนาดเล็กๆ
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
ภาพ: Shutterstock