เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีมาตั้งแต่เล็กจะมีสมองส่วนฮิปโปแคมปัสใหญ่กว่าเด็กที่พ่อแม่ดูแลไม่ดี เป็นข้อมูลจากงานวิจัยที่กล่าวเอาไว้
การดูแลลูกให้ดีนี้ตามศัพท์ในต้นฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า “nurture” ซึ่งพบบ่อยมากในบทความที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูก แต่แปลกดีที่หาคำไทยที่ตรงใจไม่ได้สักที แม้ อ.สอ เสถบุตร จะแปลในพจนานุกรมของท่านว่า “nurture = ทะนุถนอม, บำรุง, รักษา, เลี้ยง, อบรม” แต่ก็ถือว่ายังไม่ตรงเป๊ะในบริบทของการเลี้ยงดูลูกสักเท่าไร
เพราะ nurture มันไม่ใช่แค่ “เลี้ยง” เท่านั้น แต่ต้องมีองค์ประกอบของการให้ความรักความเอาใจใส่ การหาอาหารให้กินหาเสื้อผ้าให้ใส่เฉยๆ ก็ไม่ใช่ nurture ต้องดูแลใส่ใจมากกว่านั้น
การทดลองของจิตแพทย์เด็กและนักวิทยาศาสตร์สมองจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในครั้งนี้น่าจะเรียกว่ากิจกรรม “รอนิดนึง”
เริ่มต้นด้วยการให้เด็กอายุระหว่าง 3-6 ขวบกับคุณแม่ไปอยู่ในห้องๆ หนึ่งที่มีกล่องของขวัญที่ห่ออย่างสวยงามน่าแกะมากสำหรับเด็กอยู่กล่องหนึ่งและมีแบบสอบถามให้คุณแม่กรอกอยู่อีกหนึ่งฉบับ แล้วผู้วิจัยก็บอกเด็กว่า “ห้ามแกะกล่องนี้จนกว่าเวลา 5 นาทีจะผ่านไป” ซึ่งก็คือเมื่อคุณแม่ตอบแบบสอบถามเสร็จแล้วนั่นเองแน่นอนว่าถ้าของมันน่าแกะขนาดนั้น เจ้าหนูของเราก็คงจะกระวนกระวาย รอกันแทบจะไม่ได้แน่นอน
เมื่อผู้วิจัยสังเกตปฏิสัมพันธ์แม่ลูกแล้วก็พบว่า แม่กลุ่มหนึ่งจะเป็นแม่ที่พยายามอย่างสูงในการสงบความอยากแกะห่อของขวัญของคุณลูกด้วยการปลอบโยน อธิบายลูกว่าหนูรออีกแป๊บเดียวเองนะจ๊ะ อธิบายไปก็ให้กำลังใจหรือกอดและสัมผัสลูกไปด้วยให้ลูกสงบลง ส่วนแม่อีกกลุ่มไม่ค่อยได้พยายามเท่าไร อาจจะเพิกเฉยหรือไม่สนใจไยดีกับอารมณ์ของลูกนัก
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการทดลองนั้นแม้จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่อาจสะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์แม่-ลูกที่เกิดขึ้นในบ้านอย่างต่อเนื่องด้วย คือแม่ที่วันนั้นปลอบโยนลูก อยู่บ้านก็คงเลี้ยงลูกแบบนั้นเหมือนกัน เช่นเดียวกับแม่ที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อลูก
หลังจากนั้นผ่านไป 4 ปี ผู้วิจัยก็เอาเด็ก 92 คนที่เข้าร่วมการวิจัยในครั้งนั้นมาทำการสแกนสมอง และพบว่าเด็กที่มีคุณแม่แสดงความใส่ใจมากกว่า มีสมองส่วนฮิปโปแคมปัสขนาดใหญ่กว่าเด็กอีกกลุ่มถึง 10 เปอร์เซ็นต์
แล้วไอ้เจ้าฮิปโปแคมปัสนี่สำคัญอย่างไร? คำตอบคือมันเป็นสมองส่วนการเรียนรู้และความจำ สมองที่ชื่อคล้ายฮิปโปโปเตมัสแต่จริงๆ แล้วรูปร่างคล้ายม้าน้ำนี่มีหน้าที่แปลงความจำระยะสั้นเป็นความจำระยะยาว เวลาเราได้รับข้อมูลอะไรใหม่ๆ มันจะผ่านหูและหัวของเราไปโดยไม่ได้อะไรเลยหรือเราจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นก็อยู่ที่เจ้าฮิปโปแคมปัสนี่แหละ
พูดง่ายๆ ก็คือถ้าแม่แสดงความรักความสนใจลูก ลูกก็อาจจะมีสมองที่ดีกว่า และฉลาดกว่าลูกที่แม่ไม่สนใจ
การทดลองนี้เป็นหลักฐานว่าการ nurture ลูก (แปลว่าอะไรอีกที?) ไม่ได้มีผลต่อเฉพาะพัฒนาการของลูกน้อยเหมือนที่เราเคยรู้กันมานานแล้วเท่านั้น แต่ยังอาจสำคัญขนาดเปลี่ยนโครงสร้างของสมองกันเลยทีเดียว
บทความโดย : ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณพ่อน้องข้าวหอมและน้องน้ำมนต์
ภาพ : Shutterstock