เมื่อพ้นวัยเตาะแตะ เด็กๆ จะนอนหลับพักผ่อนน้อยลง จาก 12-14 ชั่วโมง เป็น 11-13 ชั่วโมงต่อวัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะลดปัญหาต่างๆ จากการนอนอย่างเช่น อาการอิดออดก่อนเข้านอน หรืองัวเงียและงอแงตอนเช้าเมื่อถูกปลุก แต่เราสามารถแก้ปัญหา ลูกอนุบาลงอแงตอนเช้า ได้ไม่ยาก
4 เทคนิค แก้ปัญหา ลูกอนุบาลงอแงตอนเช้า
ตอนนี้ลูกเริ่มโตพอจะพูดจาเข้าใจแล้ว เทคนิคต่อไปนี้จะช่วยลดอาการเหล่านั้นได้ค่ะ
1. เข้านอนให้เร็วที่สุดและสงบที่สุด
หลายครอบครัวจัดเวลาสำหรับ “กิจกรรมก่อนเข้านอน” เอาไว้มากมาย ตั้งแต่อาบน้ำแปรงฟัน เล่นเบาๆ อ่านนิทาน (สองเรื่องควบ) ร้องเพลงกล่อม (อีกไม่รู้กี่จบ) คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่ากิจกรรมแสนเพลินเหล่านี้จะช่วยส่งลูกให้นอนหลับฝันดีอย่างรวดเร็ว แต่ความจริงแล้วยิ่งคุณยืดตารางเวลาช่วงก่อนนอนให้ยาวเท่าไร ลูกก็ยิ่งคิดว่า นี่คือ “เวลาเล่น” มากขึ้นเท่านั้น แทนที่หนูๆ จะนอนหลับโดยดี พวกเขาอาจตาสว่างและยิ่งงอแง
ถ้าหากลูกของคุณมีปัญหาเรื่องการเข้านอน ควรจัดตารางเวลาก่อนนอนเอาไว้ให้นานเกิน 15 นาที นับตั้งแต่อาบน้ำ เล่านิทาน แล้วจูบราตรีสวัสดิ์
2. ตรงต่อเวลา
“สองทุ่ม ลูกต้องนอนแล้ว แต่แม่ขอดูละครอีกตอนก่อนแล้วกันน่า” เด็กๆ วัยก่อนเรียนยังดูนาฬิกาไม่เป็น พวกเขาจะรู้ว่า ถึงเวลาเข้านอนก็เมื่อมีใครสักคนมาเรียก งานนี้คนที่ต้องตรงต่อเวลาจึงเป็นพวกผู้ใหญ่อย่างเราๆ นี่แหละ จัดตารางของตัวเองให้ดี พอถึงเวลาต้องเรียกลูกเข้านอน จะได้ไม่มานั่งผัดผ่อน
3. อุณหภูมิช่วยได้
ร่างกายมนุษย์จะหลับสนิทที่อุณหภูมิประมาณ 25 องศา การอาบน้ำก่อนนอนช่วยให้ร่างกายปรับอุณหภูมิได้ดี และหลับเร็วขึ้น ถ้าคุณกลัวว่าลูกจะหนาวเกินไป อาจตั้งเวลาเครื่องปรับอากาศเอาไว้ ให้ปรับอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อใกล้จะถึงเวลาตื่นนอน
อ่านต่อบทความแนะนำ ลูกเหงื่อออกเยอะมาก ผิดปกติหรือไม่?
4. ตื่นนอนให้ตรงเวลา (ด้วย)
ใช้กฎเดียวกับเวลาเข้านอนนั่นแหละ เด็กๆ ควรตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เร็วหรือช้ากว่าเวลาเดิมไม่เกิน 30 นาที ถ้าจะให้ดีควรใช้กฎนี้ในช่วงวันสุดสัปดาห์ด้วย ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า การอนุญาตลูกเข้านอนและตื่นนอนต่างเวลาระหว่างวันจันทร์ – ศุกร์ กับวันเสาร์ – อาทิตย์ ก็เหมือนบังคับให้ลูกอยู่ใน 2 เขตเวลานั่นแหละ ไม่ต้องแปลกใจเลย ถ้าเช้าวันจันทร์พวกเขาจะหงุดหงิดงอแง เหมือนเพิ่งนั่งเครื่องบินกลับมาจากอเมริกาอย่างไรอย่างนั้น
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง