นิทานอีสป นิทานสำหรับเด็ก ที่อ่านง่าย เข้าใจได้ พร้อมแง่คิดสอดแทรกสอนลูก ได้ประโยชน์ทั้งทางด้านภาษา ตรรกะ แนวคิดที่ดีต่ออนาคต พร้อมอ่านที่นี่
นิทานอีสป สอนลูก!! เด็กเข้าใจง่าย ได้ประโยชน์
ตัวละครใน นิทานอีสป นั้นมักจะเป็นตัวละครที่เป็นบรรดาสิงห์สาราสัตว์ทั่วไป เช่น นิทานเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ สุนัขกับเงา ราชสีห์กับหนู หรือสุนัขจิ้งจอกกับกา เป็นต้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น??
แต่เดิม อีสป เป็นชื่อของชายคนหนึ่งซึ่งเกิดในเมืองฟรีเยีย ราว 620 – 560 ปีก่อนคริสตกาล หรือก่อนสมัยพุทธกาลเพียงเล็กน้อย ในปัจจุบันดินแดนแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า เอเซียไมเนอร์ เป็นดินแดนที่ทวีปเอเชียและทวีปยุโรปมาชนกันจนกลายเป็นดินแดงที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากในยุคสมัยของอีสป แต่เนื่องจากดินแดนแห่งนี้เป็นแหล่งรวมของพ่อค้าวาณิช ทูต และนักท่องเที่ยว เป็นดินแดนที่มีการค้าทาสกันอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น อาจกล่าวได้ว่า อีสป ก็เป็นทาสคนหนึ่ง มีสมญานามว่า Ethiop (เอธิออป) หมายถึง คนผิวดำ เชื่อกันว่าที่มาของชื่อมาจากชื่อประเทศเอธิโอเปีย กลายมาเป็น อะบิสซีเนีย ต่อมาชาวยุโรปได้ออกเสียงผิดเพี้ยนไปจนกลายเป็น Aesop (อีสป) ในบางตำนานได้มีการถกเถียงกันว่า ตำนานอีสป นั้นอาจจะมาจากเมืองเทรซ ไพรเกียเอธิโอเปีย ซามอส เอเธนส์ หรือเมืองซาร์ดิส ซึ่งยังไม่มีใครรู้ข้อมูลตรงนี้อย่างแน่ชัด

อีสป นั้นเป็นทาสอยู่ที่เมืองซามอส (Samos) ประเทศกรีซ นายอิดมอน หรือเอียดม็อน เจ้านายของอีสป ได้ให้เขาทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือให้กับลูกๆ ของอิดมอน และเนื่องจากว่าบ้านของอิดมอนเป็นที่พบปะสังสรรค์ในหมู่บุคคลสำคัญของกรีก อีสปจึงได้มีโอกาสพบเห็นและทำความรู้จักกับบุคคลเหล่านั้น ว่ากันว่า อีสป มีความสามารถพิเศษในการมองคนด้วยการสังเกตรู้ได้โดยวิจารณญาณว่าใครเป็นอย่างไร และอิดมอนก็รู้ในความสามารถพิเศษนั้นของอีสป จึงได้ให้อีสปติดตามไปด้วยเสมอเมื่อต้องไปพบปะกับคนใหญ่คนโตของกรีก เขาได้มีโอกาสเล่านิทานให้คนเหล่านั้นฟังจนทำให้กลายเป็นที่ชื่นชอบนับแต่นั้นมา
ใน นิทานอีสป มักจะมีตัวละครเป็นสัตว์
- สิงโต หรือราชสีห์ หมายถึง หรือเป็นตัวแทนของผู้ที่มีอำนาจ คนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ผู้ปกครอง
- หนู หมายถึง หรือเป็นตัวแทนของผู้ต่ำต้อย
- ลา หมายถึง หรือเป็นตัวแทนของผู้ที่ด้อยสติปัญญา
- หมาจิ้งจอก หมายถึง หรือเป็นตัวแทนของคนเจ้าเล่ห์
นั่นเป็นเพียงตัวละครบางส่วนที่อีสปมักนำมาใช้ดำเนินเรื่องราว และได้มีการเปรียบเทียบในเชิงอุปมา อุปไมยเพื่อใช้สอน นักปราชญ์บางท่านได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า นิทานของอีสปส่วนใหญ่มักมีเค้าโครงมาจากเรื่องเล่าเก่าๆ ของอินเดียบ้าง อาระเบียบ้าง หรืออาจจะมาจากเปอร์เซีย ไม่ก็เป็นแถบดินแดนอื่นๆ ผสมผสานกัน โดยที่อีสปได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาดัดแปลงเพื่อเล่าใหม่ รวมถึงเรื่องเล่าเก่าๆ ของกรีก
นิทานอีสป เป็นนิทานที่ใช้วิธีการแบบเล่าปากต่อปาก ไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน จนในศตวรรษต่อๆ มา จึงได้มีผู้บันทึกเอาไว้ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานบนแผ่นปาปิรัสอียิปต์โบราณ รวมถึง ฟีดรัส ทาสชาวมาซีโดเนียนในยุคจักรพรรดิออกุสตุส จักรวรรดิแห่งแรกของโรมัน ก็ได้เป็นอีกคนหนึ่งที่รวบรวมเรื่องราว นิทานอีสป เอาไว้เป็นภาษาลาติน บางตำนานก็บอกว่า เดมิตริอุส ซึ่งเป็นชาวกรีก ได้รวบรวม นิทานอีสป โดยเขียนเป็นหนังสือไว้เมื่อราว 30 ปีก่อนคริสต์ศักราช ต่อมาจึงมีผู้เขียนขึ้นใหม่อีกหลายคนจนถึงพระรูปหนึ่งที่มีชื่อว่า มาซิมุล พลานูด ได้แปล นิทานอีสป จากภาษาลาตินมาเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1400 โดยนับแต่นั้นมา ชาวยุโรปก็ได้แปล นิทานอีสป ให้เข้ากับสภาพสังคมบ้านเมืองของตนอย่างแพร่หลาย แต่คติสอนใจและข้อคิดหลักที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องยังคงได้รับการรักษาเอาไว้เป็นอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา : https://guru.sanook.com
10 นิทานอีสป น่าอ่าน!!
1.กบกับหนู
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว กลางป่าที่มีสัตว์น้อยใหญ่อาศัยอยู่กันอย่างสงบสุข มีหนูพเนจรตัวหนึ่งกำลังเดินหาอาหารด้วยความโหยหิว มันเดินไปเรื่อย ๆ จนเจอลำธารขนาดใหญ่
“โอ๊ย !! ทั้งเหนื่อยทั้งหิว ทำไมแถวนี้ไม่มีอะไรให้ข้ากินบ้างเลย เห็นทีจะต้องข้ามไปป่าฝั่งนู้นเสียแล้ว ว่าแต่ข้าจะข้ามลำธารนี้ไปได้อย่างไร ในเมื่อข้าว่ายน้ำไม่เป็น” เจ้าหนูนั่งพักและกล่าวตัดพ้อกับตัวเอง
ในขณะที่หนูกำลังคิดแผนเพื่อจะข้ามไปหาอาหารที่ป่าฝั่งตรงข้ามอยู่นั้น สายตาของมันเหลือบไปเห็นกบตัวหนึ่งกำลังว่ายน้ำเล่นอยู่ข้าง ๆ ลำธาร มันจึงวางแผนคิดกลอุบายหลอกเจ้ากบให้พาไปส่งที่ป่าฝั่งตรงข้าม
“สวัสดี เจ้าอยู่ในลำธารแห่งนี้มานานแล้วหรือ ?” เจ้าหนูกล่าวทักทายกบด้วยความเป็นมิตร
“ใช่ ข้าอยู่ในลำธารแห่งนี้มาตั้งแต่เกิดเลยล่ะ แล้วท่านมาจากที่ไหนทำไมข้าไม่คุ้นหน้าท่านเลย” กบถามด้วยความสงสัย
“อ๋อ ข้าเป็นนักเดินทาง ตอนนี้กำลังจะข้ามฝั่งไปหาสมบัติอันล้ำค่าที่ป่าฝั่งตรงข้าม” เจ้าหนูเริ่มใช้กลอุบายเพื่อหลอกให้กบไปส่งอีกฝั่งของลำธาร
“จริงเหรอท่าน ที่ป่าฝั่งตรงข้ามมีสมบัติจริง ๆ เหรอ” เจ้ากบถามด้วยความตื่นเต้น
“จริงสิ ข้าออกเดินทางตามล่าหาสมบัติมาแล้วนับไม่ถ้วน ข้าจะโกหกเจ้าทำไม” เจ้าหนูกล่าว
“ถ้าอย่างนั้น ข้าขอเดินทางไปกับท่านได้ไหม ? ข้าอยากเห็นเพชรพลอยเป็นบุญตาสักครั้งในชีวิต” กบขอร้องหนูจอมเจ้าเล่ห์
“ได้สิ แต่มีข้อแม้ เจ้าต้องพาข้าว่ายน้ำข้ามลำธารนี้ไปให้ได้ ข้าถึงจะนำทางเจ้าไปยังขุมสมบัติ” เจ้าหนูกล่าวต่อรอง
“ข้าก็ตัวพอ ๆ กับท่าน แล้วข้าจะพาท่านว่ายน้ำข้ามฝั่งไปได้อย่างไร ลำพังตัวข้าเองก็ยังจะเอาตัวไม่รอด” เจ้ากบกล่าวตัดพ้อ
“งั้นเจ้าก็เอาเชือกมาผูกเท้าเจ้าให้ติดกับเท้าข้าสิ เจ้าจะได้ไม่เหนื่อย” เจ้าหนูออกความคิดเห็น
“โอเคลองดู แต่ถ้าท่านเป็นอะไรขึ้นมาข้าไม่รับผิดชอบนะ” เจ้ากบพูดดัก
หลังจากที่ตกลงกันเสร็จเรียบร้อย ทั้งคู่ก็ใช้เชือกผูกติดที่เท้าของตัวเอง แล้วเจ้ากบจึงเริ่มว่ายน้ำไปเรื่อย ๆ จนมาถึงบริเวณกลางลำธาร มันรู้สึกเหนื่อยล้า ว่ายน้ำต่อไปไม่ไหว จึงขอหยุดพักสักครู่หนึ่ง
“แฮก ๆ ข้าขอหยุดพักหายใจสักครู่นะท่าน ข้าจะไม่ไหวแล้ว เหนื่อยเหลือเกิน” เจ้ากบกล่าวด้วยน้ำเสียงที่เหนื่อยล้า
แต่ทว่าไม่มีเสียงตอบรับจากเจ้าหนู มันจึงหันหลังกลับไปดูก็พบว่าเจ้าหนูจมน้ำตายเสียแล้ว เจ้ากบจึงรีบว่ายน้ำต่อเพื่อให้ถึงฝั่งโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้แบบนี้ไม่นานร่างของหนูจะยิ่งถ่วงให้มันจมลงไปด้วย แต่แล้วร่างของหนูกลับค่อย ๆ ลอยขึ้น ในขณะเดียวกันมีเหยี่ยวตัวใหญ่กำลังหาอาหาร มันเห็นร่างของหนูลอยขึ้นมาเหนือน้ำ จึงบินโฉบร่างของหนูลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อเป็นอาหารเย็น ในขณะเดียวกันร่างของเจ้ากบก็พลอยติดร่างแหไปด้วย เพราะทั้งคู่ใช้เชือกผูกติดกันไว้ ทำให้มันถูกเหยี่ยวจับกินเป็นอาหารไปด้วย

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : การที่เจ้าหนูใช้กลอุบายหลอกกบให้พาว่ายน้ำไปยังป่าฝั่งตรงข้ามด้วยการใช้เชือกผูกเท้าติดกัน จากนั้นเจ้าหนูก็จมน้ำตาย เพราะความดื้อรั้นและความเจ้าเล่ห์ของตัวเอง เรื่องนี้เหมือนดั่งสุภาษิตที่ว่า “ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว” สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ผลสุดท้ายก็ย้อนมาทำให้ตัวเองเดือดร้อนไปด้วยนั่นเอง
ที่มา : https://baby.kapook.com
2. กวางป่ากับพวงองุ่น
มีกวางป่าตัวหนึ่งวิ่งไปในเพิงองุนเพื่อซ่อนตัวจากการตามล่าของนายพราน “ขอให้ข้าซ่อนตัวด้วยเถิดนะองุ่น” กวางป่ากล่าวอย่างนอบน้อม องุ่นก็อนุญาติ เมื่อพรานตามมาถึงบริเวณนั้น แต่ไม่พบกวางป่า จึงวิ่งไปอีกทางหนึ่ง พอกวางป่าเห็นว่าปลอดภัยแล้ว จึงกัดพวงองุ่นอย่างเอร็ดอร่อย “เจ้ากินข้าทำไมเพื่อนเอ๋ย ” ตัวองุ่นถามอย่างน้อยใจ กวางป่าจึงกล่าวว่า “ถ้าข้าไม่กินเจ้า ก็มีคนอื่นมากินอยู่ดีนั้นแหละ” ขณะที่กวางป่ากัดกินพวงองุ่นอยู่นั้น พรานอีกคนหนึ่งผ่านมาเห็นว่ามีบางสิ่งเคลื่อนไหวอยู่ใต้เพิงองุ่น จึงเล็งธนูใส่กวางป่าทันที
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : คนไม่รู้บุญคุณคน มักประสบความหายนะ
ที่มา : https://www.doyouknow.in.th
3.กากับนกนางแอ่น
วันหนึ่งในฤดูร้อน นกนางแอ่นตัวหนึ่งยืนอวดโฉมอยู่บนกิ่งไม้ ภาคภูมิใจกับขนของตัวเอง มันได้ถามกาที่อยู่ใกล้เคียงว่า “เจ้าว่าขนของข้ากับขนของเจ้า ขนของใครจะงามกว่ากัน” กามองขนของตนแล้วตอบว่า “ข้าว่าขนของข้าก็สวยดีนะ”นกนางเเอ่นขยับปีกพลางว่า ” เเต่เจ้าดูสิ ขนของข้าดูสวยเป็นพิเศษในฤดูร้อน อย่างนี้ ” กาจึงกล่าวว่า ” ก็จริงนะ เเต่ขนของข้างามทุกฤดู ไม่ว่าฤดูใดมันก็ จะดำเช่นนี้”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ความงามที่คงทนยั่งยืน ย่อมเป็นความงามที่เเท้จริง
ที่มา : http://www.nitan108.com
4.ค้างคาวเลือกพวก
ในป่าใหญ่ที่เต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์มากมาย แต่มีสัตว์อยู่หนึ่งชนิดที่ไม่เหมือนสัตว์อื่นทั่ว ๆ ไป นั่นก็คือค้างคาว ค้างคาวมีปีกเหมือนนก และก็มีหูเหมือนกับสัตว์สี่เท้า สัตว์ทั้งหลายอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
วันหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ทะเลาะกันขึ้นระหว่างนกกับสัตว์ป่า จึงได้มีการยกพวกต่อสู้กัน ทั้งสองฝ่ายบอกให้ค้างคาวเลือกข้างว่าจะอยู่ฝ่ายไหน แต่ค้างคาวขอตัวไม่เข้าข้างฝ่ายใดโดยทำตัวเป็นกลาง แต่เมื่อพวกนกมีท่าทีว่าจะชนะ ค้างคาวก็ประกาศตัวไปเข้าพวกกับฝ่ายนก โดยไปบอกจ่าฝูงว่า“ข้าขอเข้าพวกกับพวกท่านด้วย เราเป็นพวกเดียวกันมีปีกเหมือนกัน”
ต่อมาเหตุการณ์กลับพลิกผันพวกนกเกิดพลาดท่าเสียทีให้กับสัตว์ป่า ค้างคาวก็ผละจากนกจะไปเข้าพวกกับสัตว์ป่า เมื่อเห็นดังนั้นพวกสัตว์ป่าจึงเอ่ยว่า “พวกเจ้าเป็นพวกเดียวกับนกไม่ใช่หรือ” ค้างคาวจึงตอบกลับไปทันทีว่า “ข้าไม่ใช่พวกเดียวกับนก ข้ามีหูเหมือนกับพวกท่าน ไม่เหมือนนกพวกนั้น”
ต่อมาเมื่อนกต่อสู้ใกล้จะชนะ ค้างคาวก็กลับไปเข้าพวกกับนกอีก แต่เมื่อการต่อสู้นั้นยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ต่างฝ่ายต่างอ่อนล้า สัตว์ต่าง ๆ ก็ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งสองฝ่ายจึงได้ทำสัญญาสงบศึก และเป็นมิตรต่อกัน หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ต่างเห็นว่าควรจะขับไล่ค้างคาว ไม่มีใครยอมให้เข้าพวกด้วย ค้างคาวอับอายจึงต้องหลบหนีไปอยู่ในป่าลึกซ่อนตัวอยู่ในถ้ำมืด ๆ กลางวันก็จะหลบนอนอยู่ในถ้ำ พอกลางคืนเมื่อสัตว์อื่นหลับนอน ค้างคาวจึงค่อยออกมาหาอาหาร
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า: คนที่ขาดความจริงใจ ไม่มีใครอยากคบหาด้วย
ที่มา : เกร็ดความรู้.net

5.คนตัดไม้กับสุนัขจิ้งจอก
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งหนีการตามล่าของนายพรานมาเจอกับคนตัดไม้ มันจึงขอหลบตัวซ่อน“ข้าขอซ่อนตัวที่นี่หน่อยได้ไหม”
คนตัดไม้ตอบว่า “ได้สิ เจ้าเข้าไปหลบในกระท่อมก่อนแล้วกัน”
สุนัขจิ้งจอกรีบวิ่งเข้าไปในกระท่อม สักครู่นายพรานตามมาทันเจอคนตัดไม้จึงถามว่า “เจ้าเห็นสุนัขจิ้งจอกผ่านมาทางนี้บ้างไหม” คนตัดไม้ปฏิเสธ แต่มือของคนตัดไม้พยายามชี้บอกว่าสุนัขอยู่ในกระท่อม นายพรานไม่เข้าใจในสิ่งที่คนตัดไม้พยายามบอกจึงเดินจากไป
ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกเมื่อเห็นว่านายพรานไปแล้วจึงออกมาจากกระท่อม และกำลังจะเดินหนีไป คนตัดไม้จึงพูดขึ้นว่า “เดี๋ยวก่อน ข้าช่วยชีวิตเจ้าไว้ เจ้าไม่คิดจะขอบคุณข้าบ้างเลยเหรอ” สุนัขจิ้งจอกจึงตอบว่า “ข้าก็อยากจะขอบใจท่านนะ ถ้าท่านมีเจตนาช่วยชีวิตข้าจากใจจริง” พูดจบมันก็เดินจากไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : คำพูดที่ดีบางครั้งอาจแฝงด้วยเจตนาร้าย
ที่มา : https://www.kalyanamitra.org
อ่านต่อ>> รวม นิทานอีสป สอนใจ น่าอ่าน ได้ประโยชน์ คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่